“กลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ”
“กลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ”
‘ร้อง-เล่น-เต้น-รำ’ สร้างสังคมผู้สูงวัยห่างไกลโรค
เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น ประเทศไทยก็จะก้าวสู่การเป็น“สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์”ในปี พ.ศ.2564 โดยจะมีจำนวนของผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์กันว่าภายในปี พ.ศ.2578 หรืออีก 20 ต่อมา เราก็จะกลายเป็น “สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด” โดยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 จากจำนวนประชากรทั้งหมด
แม้คนไทยจะมีอายุยืนยาวมาขึ้น แต่กลับต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ บ้างก็อยู่ในภาวะทุพพลภาพ โดยพบว่ามีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 95 ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งโรคความดัน เบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม โรคซึมเศร้าฯลฯ รุมเร้าจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวผู้สูงอายุเองและสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ
เมื่อเรื่องของ “สุขภาพ” คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นักพัฒนาชุมชนจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจ้าอยู่หัว “นางฟาติเมาะ เจ๊ะมะ” จึงไม่ได้หยุดแค่เรื่องงานดูแลด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ โดยหันมาชักชวนให้กลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ๆ รับผิดชอบของตนเอง ให้หันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้น
ผู้สูงอายุในชุมชน บ้านบ่อล้อ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงรวมตัวและจัดตั้งเป็น “ชมรมผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อหมู่ที่ 7” และร่วมกันแสวงหาแนวทางดูแลรักษาสุขภาพของสมาชิกในชมรมอย่างยั่งยืน ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาต่อยอดไปสู่แนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะ จนเกิดเป็น “โครงการกลองยาวสร้างสุขของผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ” โดยได้รับการสนับสนุน จาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“จากการเข้ามาทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาชุมชนในพื้นที่แห่งนี้ประมาณ 5 ปี ซึ่งดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการของผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พบว่าผู้สูงอายุนั้นถ้าหากสุขภาพไม่ดีก็มักจะมีปัญหาในเรื่องต่างๆ ทำให้ไม่มีความสุขในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ดังนั้นเรื่องของการดูแลสุขภาพจึงเป็นส่วนสำคัญมากกว่าการดูแลช่วยเหลือในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่ทาง อบต.จัดไว้ให้ จึงได้มาชักชวนผู้สูงอายุในหมู่ที่ 7 ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดมาออกกำลังกาย โดยให้สมาชิกเลือกกิจกรรมตามความถนัดและสนใจ ซึ่งเมื่อก่อนก็มีกลุ่มที่ออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิค แต่ด้วยสภาพร่างกายและศักยภาพของผู้สูงอายุที่ไม่เหมาะสมทำให้ไม่ค่อยมีคนสนใจ แล้วก็มาได้ข้อสรุปของสมาชิกทุกคนว่า ให้นำทุนและวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในชุมชนแห่งนี้ก็คือวงกลองยาวแม่เจ้าอยู่หัว มาประยุกต์เข้ากับการออกกำลังกายจนเป็นที่มาของโครงการกลองยาวสร้างสุขฯ” นางฟาติเมาะ เจ๊ะมะ นักพัฒนาชุมชน อบต.แม่เจ้าอยู่หัว และผู้รับผิดชอบโครงการเล่าถึงความเป็นมา
ซึ่งการออกกำลังกายด้วยกิจกรรม “รำกลองยาว สร้างสุขภาพ” จากเดิมที่สมาชิกได้กำหนดไว้ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ วันละ 30 นาที โดยใช้สถานที่ โรงเรียนวัดบ่อล้อ ในช่วงเย็นเป็นที่รวมตัวกัน โดยในแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 20-40 คนสลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนกำหนดการนัดหมายใหม่โดยให้มีการออกกำลังกายด้วยการรำกลองยาวทุกวันที่บริเวณถนนหน้าบ้านของประธานชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากผู้สูงอายุที่รู้สึกว่าสนุกจนหยุดไม่ได้ แถมยังได้สุขภาพดีอีกด้วย
นายยงยุทธ สุขพิทักษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.เขาพระบาท เล่าถึงความโดดเด่นของโครงการกลองยาวสร้างสุขฯ ว่ากิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากที่ชุมชนคิดเอง ทำเอง และกอดคอกันทำงานร่วมกับ อบต.แม่เจ้าอยู่หัว ที่เข้ามาบูรณาการงานพัฒนาชุมชนเข้ากับการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างลงตัว
“แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือผู้สูงอายุในชุมชนทำงานนี้ด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่าจะสร้างคุณค่า สร้างสุขภาพ และสร้างคุณภาพชีวิตให้กับตัวของเขาเองได้อย่างไร ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านไม่ได้แค่ทำในเรื่องของสุขภาพ แต่นำเอาเรื่องทุนและวัฒนธรรมของชุมชน มาหมุนและขับเคลื่อนสร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่ โดยทุกคนมีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันคือทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุหรือตัวของเขาเองสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือจากเดิมที่เราวางแผนให้มีการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ก็ถูกขยายผลเป็นทำกิจกรรมทุกวัน แล้วก็มีการประชุมเพื่อชักชวนผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ แทบจะทุกสัปดาห์”
นายประพันธ์ บุญพา ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านบ่อล้อ หมู่ที่ 7 วัย 64 ปี ที่ยกกลองยาวลงจากบ่าเดินออกมาจากวงรำที่เต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน และรอยยิ้มของผู้สูงวัย มาเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมต่างๆ ด้วยความกระฉับกระเฉงว่า ก่อนหน้านี้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านไม่เคยได้ออกกำลังกายร่วมกันอย่างนี้มาก่อน การออกกำลังกายด้วยการรำวงนั้นเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมคนสูงอายุมากที่สุด เพราะสามารถยกแขนก้าวขาออกท่าทางได้ตามความถนัด ไม่เหมือนกับการเต้นแอโรบิคที่มีรูปแบบท่าทางต่างๆ ที่จำและทำตามได้ยาก
“การรำวงทำให้คนแก่ได้สนุกสนานเกิดความสามัคคีกลมเกลียว สภาพจิตใจก็ดีขึ้น สุขภาพร่างกายก็ดีขึ้น หลายคนมีหน้าตาสดชื่นขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทีกำหนดว่าจะออกกำลังกายกันสัปดาห์ละ 3 วัน แต่ทำไปทำมาตอนนี้สมาชิกอยากให้มีการออกกำลังกายแบบนี้ทุกวัน ก็เลยทำให้ตอนนี้ในช่วงเวลาตั้งแต่ 17.30-18.30 น. สมาชิกจะไปรวมตัวกันที่บ้าน เปิดเครื่องเสียงและออกกำลังกายด้วยการรำวงกันบนถนนหน้าหมู่บ้านทุกวัน”
นางพา ซุ่นอินทร์ สมาชิกชมรมฯ วัย 75 ปีที่ดูแข็งแรงและกระฉับกระเฉง เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วยการรำวงว่าทำให้คนแก่ไม่เครียด หลายคนที่อยู่บ้านลำพังเพียงคนเดียวก็จะได้ไม่เกิดความเหงา เพราะออกมาพบปะพูดคุยกันกับเพื่อนๆ ในชุมชน
“แรกๆ ที่มาออกกำลังกายรำไม่นานก็เหนื่อย แต่พอทำบ่อยๆ นานๆ ไปก็ดีขึ้น เมื่อก่อนรำวงได้ 2-3 เพลงก็ต้องมานั่งพักเหนื่อย แต่ตอนนี้หลายคนรำได้เป็น 10 เพลงก็ยังสนุกไม่เลิก สุขภาพก็รู้สึกว่าดีขึ้น เพื่อนๆหลายคนที่มีปัญหาเจ็บเข่า เดินเหินไม่สะดวกมาออกกำลังแล้วก็เดินได้ดีขึ้นไปไหนมาไหนได้ไกลขึ้น”
ซึ่งการรวมตัวออกกำลังกายของผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากจะทำให้เกิดความสามัคคีควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังมีทีมงานจาก รพ.สต.เขาพระบาท มาช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอยู่เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัย มีการต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำเครื่องขันหมากของผูสูงอายุไปสู่สมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างงานสร้างรายได้เสริม
นอกจากนี้ยังขยายผลออกไปสู่การดูแลสุขภาพใจ ด้วยการรวมตัวกันไปเข้าวัดฟังธรรมทุกวันพระ ไปเล่านิทาน ร้องเพลงบอก เพลงกล่อมเรือ ให้เด็กเล็กฟังที่ศูนย์เด็กเล็กของ อบต. มีการระดมพลังของผู้สูงวัยทำอาหารแพ็คถุงยังชีพ ทำอาหารช่วยเหลือชุมชนเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในตัวผู้สูงอายุมากขึ้น และที่สำคัญคือมีกิจกรรมเยี่ยมเพื่อนผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง เดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น
“โครงการนี้ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราต้องทำให้ผู้สูงอายุเกิดความตระหนักว่า การที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขทุกคนต้องเริ่มดูแลตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข” นักพัฒนาชุมชน อบต.แม่เจ้าอยู่หัวกล่าวสรุป
วัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง “กลองยาว” ที่ชุมชนบ้านบ่อล้อในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องของความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่สามารถบูรณาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ และร่วมสร้างสังคมของผู้สูงวัยให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน.