การจัดการขยะในชุมชนบ้านหนองแดง ตำบลหนองแดง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
สรุปสาระสำคัญ
โครงการนี้มีพี่เลี้ยงคือเจ้าหน้าที่เทศบาล โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่เป็นคณะทำงานโครงการ เป้าหมายคือต้องการปิดบ่อขยะซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชน โดยชุมชนต้องคัดแยกและจัดการขยะภายในครัวเรือนของตัวเอง ซึ่งการที่จะขอความร่วมมือจากชุมชนนั้น ทางโครงการได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจข้อมูลและการคืนข้อมูล โดยมีการสำรวจข้อมูล 4 วันติดต่อกันในทุกครัวเรือน เพื่อคำนวณค่าเฉลี่ยปริมาณของขยะแต่ละประเภท (ขยะสด,ขยะรีไซเคิล,ขยะทั่วไป,ขยะมีพิษ) และการคืนข้อมูล ซึ่งไม่ได้คืนเฉพาะปริมาณขยะแต่ละประเภทเท่านั้น แต่ยังได้ถ่ายภาพกองขยะในเขตป่าชุมชนที่บ่อขยะของหมู่บ้าน มาให้ชาวบ้านได้เห็นสภาพที่แท้จริงอีกด้วย ทำให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการจัดการกับขยะตามแนวทางที่ทางโครงการได้วางแผนเอาไว้
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือ “ตั้งหลัก” ชุมชน เพื่อเริ่มต้นทำงานร่วมกัน โดยนำเสนอในรูปแบบที่เข้าในง่าย เช่น กราฟเปรียบเทียบแสดงสัดส่วนขยะ มีภาพประกอบสถานการณ์ และชี้ให้เห็นผลกระทบจากปัญหาในปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลง จะช่วยกระตุ้นให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้โครงการสามารถเสนอแนวคิด แนวทางและปรึกษาหารือถึงแผนการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ง่ายขึ้น และมีความร่วมมือจากชุมชนในการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ในการตั้งหลักในการทำงาน คือ ข้อมูลสถานการณ์ขยะชุมชน ทั้งปริมาณ ความสามารถรองรับขยะของบ่อขยะที่มีอยู่ สถานการณ์ภายนอกที่จะเข้ามาทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นถ้าไม่ช่วยกันเปลี่ยนแปลง
2. กติกาชุมชน จะใช้ได้ผล เมื่อชาวบ้านให้ความเชื่อถือ และทำพฤติกรรมตามกติกามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณลักษณะสำคัญของกติกาที่ดี คือ ต้องมีรายละเอียดแสดงพฤติกรรมที่ต้องการให้ทำ แนวทางการทำพฤติกรรม/เครื่องมือช่วยให้ทำพฤติกรรมได้ เช่น ลดใช้ขยะโดยกระติบข้าวขยะย่อยสลายไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ขยะขายได้รวมไปขายในวันที่นัดหมาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำได้จริง และมีทั้งแนวปฏิบัติระดับบุคคล/ครัวเรือน และชุมชน ที่ไม่ใช่เพียงแค่แสดงถึงข้อห้าม ความต้องการให้ทำ หรือบทลงโทษ เท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความมั่นใจในการทำตาม ด้วยมีและการให้ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำพฤติกรรมตามข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นไว้ด้วย เช่น ที่มีความกังวลเรื่องจัดการขยะไม่ถูก ก็แจ้งถึงวิธีการที่เตรียมไว้เพื่อช่วยให้แยกขยะได้ถูกต้อง หรือจัดการฝึกอบรมทักษะทำน้ำหมักปุ๋ยหมักจากขยะย่อยสลายได้ให้ เป็นต้น