“ชาวปากน้ำ” ร่วมกำหนดกติกาชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ชาวปากน้ำ” ร่วมกำหนดกติกาชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อม
ระดมพลังสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อรองรับ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ที่อาจทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
บริเวณ ปากอ่าวบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นชุมชนชาวประมง อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทะเลปากอ่าวเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และมีชายหาดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับระบบขนส่งสินค้าผ่านใจกลางชุมชน ทำให้เกิดความหวั่นเกรงผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ทะเลสตูลทั้งหมด และส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิตการประกอบอาชีพ ตั้งแต่การทำประมง มัคคุเทศก์นำเที่ยว กิจการท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหารริมทะเลต่างๆ ทำให้มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนหมู่ที่ 1 ถึง 7 ตำบลปากน้ำ ซึ่งประกอบอาชีพและได้ประโยชน์จากท้องทะเล ตั้งแต่การเป็นแหล่งอาหาร เป็นสถานที่ทำอาชีพประมง และธุรกิจท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญทำให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจให้กับสมาชิกในชุมชน
ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในการจัดการพื้นที่ของตนเอง ชาวชุมชนจึงได้ดำเนิน “โครงการเสริมศักยภาพสิทธิในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน” ขึ้นโดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้มีความตระหนักรู้สิทธิของการพัฒนาบนพื้นฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง
ในเรื่องนี้ เชาวลิต ชูสกุล แกนนำชุมชน มองว่าชุมชนปากน้ำมีวิถีชีวิตดั้งเดิมคือการทำอาชีพประมง โดยเฉพาะในหมู่ 1 บ้านบ่อเจ็ดลูก เป็นชาวประมงทั้งหมดทุกครอบครัว หลายคนเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับก็จะเข้าสู่อาชีพประมงทันที เนื่องจากเห็นว่าการจับสัตว์น้ำบางชนิดขายมีรายได้ดีไม่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาสูงๆ
แต่ในขณะที่พื้นที่ทำประมง และสัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตได้ขนาดทันความต้องการของตลาด ทรัพยากรถูกใช้ไปโดยไม่มีการสร้างขึ้นทดแทน ชุมชนขาดความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปอาจทำให้เกิดความสูญเสีย ชุมชนจึงต้องมาคิดร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ สิทธิในการจัดการสิ่งแวดล้อม และกำหนดกติกาในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
“เดิมชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเลย มีแต่ใช้ไปไม่มีการสร้างทดแทน อย่างป่าโกงกางก็มีการเข้าไปตัดมาเผาถ่าน เอามาใช้ เอามาขาย ป่าก็หายไปเรื่อยเพราะไม่มีคนปลูก หมู่บ้านจึงต้องกำหนดระเบียบในการตัดไม้ ไม่ให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ กำหนดพื้นที่กำหนดขนาดของต้นไม้ และเมื่อตัดไปใช้ต้องมีการปลูกทดแทน อย่างที่บ้านบ่อเจ็ดลูกเยาวชนจะไม่ได้เรียนต่อเลย ออกมาจับปลาจับหอยหอยท้ายเภา กิโลกรัมละ 550 บาท มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อส่งขายต่างประเทศกิโลกรัมละ 3,000 บาท พอจับไปนานๆ เข้าหอยโตไม่ทันไม่ได้ขนาด จำนวนที่จับได้ก็ลดลง เราจึงต้องมาทบทวนว่าชุมชนของเราจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนในทะเลเกาะเขาใหญ่เราก็ไปผูกทุ่นเพื่อไม่ให้มีการทิ้งสมอเรือ เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่ของปะการัง” เชาวลิตระบุ
แกนนำชุมชนปากน้ำ เล่าว่าด้วยต้นทุนเดิมของชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ คณะทำงานจึงสร้างความตื่นตัวให้ชุมชนทั้งการจัดเวทีสมัชชาของตำบลปากน้ำ กำหนดกติกาชุมชนสร้างข้อเสนอให้องค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เห็นความต้องการของชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่ ชุมชนเองก็ปรับตัวหันไปดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว จัดการเรื่องขยะในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งการจัดกิจกรรมชักชวนเยาชนกลุ่มต่างๆ ช่วยกันเก็บขยะทำความสะอาดริมชายหาดทุกสัปดาห์
“เรามีการจัดประชุมทุกภาคส่วนก่อนจะกำหนดกติกาชุมชน หลังจากประชุมย่อยก็จะเชิญผู้ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่มาร่วมรับฟังด้วย เดิมชาวบ้านเข้าใจว่าใครจะมาทำอะไรในชุมชนก็ได้ แต่หลังจากที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวรับรู้ ทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามากอบโกยได้ ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนชุมชนให้หันไปทำอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน มีการอบรมมัคคุเทศก์ให้เยาวชนตอนนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 3 คน” เชาวลิตกล่าว
ด้าน ธนพล หัสคุณ เยาวชนสมาชิกชมรมสองล้อรักบ้านเกิด กล่าวว่าตนเองได้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาดอยู่เสมอ และยังตัวแทนของชุมชนเข้าไปสำรวจธรรมชาติบนเกาะเขาใหญ่ เพื่อนำข้อมูลมาบอกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพื้นที่
“ชาวบ้านมองว่ากลุ่มพวกผมเป็นเด็กแว้น แต่ความจริงแล้วมีจิตใจรักสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้สนใจภาพพจน์ที่ถูกมองแง่ลบ แต่จะมาร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตลอด ที่นี่เป็นบ้านของเรา เราตั้งใจว่าต้องรักษาความสะอาดไม่อายเขา” ธนพลกล่าว
ขณะที่ จักรี ช่วยปาน เยาวชนวัย 19 ปี กำลังศึกษาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโดยส่วนตัวมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะทุกสัปดาห์ และมีหน้าที่ชักชวนเพื่อนๆเ ข้าร่วมกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับรู้ให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน
“กิจกรรมพวกนี้ทำให้เกิดมิตรภาพ ลดความขัดแย้งในหมู่วัยรุ่น ได้มิตรภาพเพราะได้รู้จักกัน มาทำประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยกัน ผมเองที่สนใจเรียนด้านสิ่งแวดล้อมเพราะสนใจ และรักด้านนี้แต่ยังขาดองค์ความรู้จึงอยากไปเรียนรู้แล้วกลับมาช่วยท้องถิ่น” จักรีกล่าว
ปัจจุบันชาวปากน้ำเกิดความตื่นตัวในสิทธิที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากขึ้น กำหนดกติกาชุมชนเพื่อไม่ให้สภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และร่วมกันรักษาสิทธิเพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาที่นำพาชุมชนไปสู่การล่มสลาย