นวัตกรรม “กดจุด” เพื่อให้หยุดสูบบุหรี่

นวัตกรรม “กดจุด” เพื่อให้หยุดสูบบุหรี่

ชาวพังสิงห์ร่วมใจลดภัยบุหรี่เพื่อสุขภาวะ

องค์การอนามัยโลกเห็นพิษภัยอันตรายของยาสูบทุกประเภท และบุหรี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งของบุหรี่ กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” เพื่อให้ผู้ที่สูบบุหรี่และคนรอบข้างที่อาจได้รับควันบุรี่มือสอง ตระหนักถึงพิษภัยอันตรายจากบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของคนสูบและคนรอบข้าง แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เข้าสู่วงจรของการติดบุหรี่อยู่เสมอ ในขณะที่อีกทางหนึ่งนั้นการรณรงค์เพื่อให้ลดการบริโภคยาสูบยังคงเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น

โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับชุมชนในระดับตำบลหลายแห่งของประเทศ ดำเนินค้นหาผู้ติดบุหรี่เพื่อช่วยให้สามารถเลิกสูบได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ตำบลพังสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ขับเคลื่อนของโครงการที่สามารถทำให้คนในชุมชนเลิกบุหรี่ได้อย่างเห็นผล ภายใต้ โครงการ “ชุมชนบ้านพังสิงห์ร่วมใจลดภัยบุหรี่ ทุกภาคีมีส่วนร่วมด้วยหลัก 5 ร”  มีพื้นที่เป้าหมาย 7 หมู่บ้าน โดยใช้กิจกรรมหลากหลายนำมาบูรณาการร่วมกัน ทั้งการลงพื้นที่ชักชวนอย่างเข้าถึงตัวของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การชักชวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้หยุดสูบทันที โดยให้เข้าโครงการคลินิกเลิกบุหรี่ การใช้สมุนไพรเข้ามาช่วย รวมทั้งการจดจุดสะท้อนเท้า ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ปลอดภัย ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ไม่อยากสูบอีกต่อไป

อนันท์ พรมนิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพังสิงห์ ให้ข้อมูลว่าตำบลพังสิงห์มีประชากรประมาณ 10,000 คน มีผู้สูบยาสูบและบุหรี่ 27 % ซึ่งถือว่าสูงกว่าภาพรวมทั้งประเทศ และยังพบว่า 80 % ของผู้สูบบุหรี่รวมทั้งผสมยามวนเองสูบมาแล้วเกินกว่า 20 ปี แต่ละวันสูบ 10-20 มวน จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ในเวลารวดเร็ว แต่โครงการก็สร้างกิจกรรมและรุกเข้าสู่ชุมชนทุกรูปแบบ ทั้งการใช้ อสม. ชักชวนให้สมาชิกชุมชนเลิกบุหรี่ โดยตั้งเป้าหมาย อสม. 1 คนจะต้องไปหาเครือข่ายเลิกบุหรี่ให้ได้ 4 คน และ อสม.จะต้องเป็นต้นแบบเลิกบุหรี่ด้วย หากเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เข้ามารักษาใน รพ.สต.ก็จะแนะนำให้เลิกบุหรี่ทันที ขณะเดียวกัน อสม.ที่จะลงพื้นที่ก็จะให้บริการกดจุดเพื่อให้เลิกบุหรี่ การแจกลูกอมสมุนไพรเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ด้วย

“ใครเป็นโรคเรื้อรังเราจะรุกให้ข้อมูลเลิกบุหรี่ไปด้วย และให้เข้าเป็นสมาชิกคลินิกเลิกบุหรี่ ถ้าเลิกไม่ได้เราก็จะส่งต่อคลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลมหาราช ทางโรงพยาบาลให้การสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างดี เราจะมี อสม.ลงพื้นที่ตรวจปอด และบริการนวดกดจุดด้วย กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการตอนนี้เลิกได้เด็ดขาด 100 กว่าคนได้”  อนันท์ กล่าว

ผู้อำนวยการ รพ.สต.พังสิงห์  กล่าวว่าทางโครงการยังได้จัดกิจกรรมด้านการรณรงค์ โดยร่วมกับ โรงเรียนท่าเรือมิตรภาพ ให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ เชิญบุคคลต้นแบบการเลิกบุหรี่มาพูดคุย โดยชักชวนปกครองเข้าร่วมด้วย และยังได้ทำกิจกรรม “บ้านนี้ปลอดบุหรี่” ให้นักเรียนนำป้ายไปติดที่บ้านเพื่อสะกิดเตือนไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่ในบ้าน นอกจากนี้ยังรณรงค์ในงานศพไม่ให้มีการสูบบุหรี่อีกด้วย

          “เราทำหลายๆอย่างควบคู่กันไป ทั้งงานรณรงค์ กิจกรรมในโรงเรียน ซึ่งพื้นที่นี้มี 5 โรงเรียน ในการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเราก็จะให้ข้อมูล การให้ อสม. ลงพื้นที่ก็ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะใกล้ชิดชาวบ้านจะรู้ข้อมูลดี รวมทั้งผู้นำชุมชนด้วย ร้านค้าในชุมชนเราก็ขอความร่วมมือไม่ให้ขายบุหรี่ให้เด็กต่ำกว่าอายุ 20 ปี และไม่ให้แบ่งขายเพราะผิดกฎหมาย เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้มีผู้เลิกบุหรี่ได้ 400 คน ภาพรวมทั้งตำบลน่าจะลดลงอยู่ราว 20% ของประชากรทั้งหมด” ผอ.รพ.สต.พังสิงห์   กล่าว

ทางด้าน พรหมพร สุขเกษม ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย รพ.สต.พังสิงห์ เจ้าของรางวัล อสม.ดีเด่นด้านการณรงค์เลิกบุหรี่ปีล่าสุด เปิดเผยว่า ได้ชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายเลิกสูบบุหรี่ไว้ 60 คน ขณะนี้เลิกบุหรี่ได้ 10 กว่าคน เมื่อลงพื้นที่นอกจากจะให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยแล้ว ก็จะชักชวนให้ผู้ที่ติดบุหรี่มาเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนใกล้ตัวที่เลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดแล้ว ขณะเดียวกันก็ใช้องค์ความรู้ในด้านการนวดจดจุดสะท้อนเท้าให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ หากจะกลับมาสูบบุหรี่อีกจะทำให้รู้สึกเหม็นและขมคอ ทำให้ไม่อยากสูบ

“อย่างสามีเมื่อก่อนสูบบุหรี่มาก แล้วเราเป็น อสม.ไปให้ความรู้แก่คนอื่น แต่คนใกล้ตัวยังเลิกไม่ได้มันก็ไม่ใช่แล้วล่ะ ก็เลยแนะนำให้เขาเลิก ปกติจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านไปวัดความดันบ้างก็จะให้ข้อมูล ชักชวนให้เลิกบุหรี่ บอกเหตุผลถึงข้อเสีย  เลิกแล้วจะเป็นผลดีต่อสุขภาพยังไง และเราจะบริการนวดกดจุดให้ด้วย” พรหมพร กล่าว

ขณะที่ โชค วารีนาค ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.พังสิงห์ ยอมรับว่าสูบบุหรี่มานากว่า 30 ปี ติดบุหรี่ตั้งแต่วัยรุ่น และสามารถเลิกบุหรี่ได้ 2 ปี จนปัจจุบันเป็นคนต้นแบบการเลิกบุหรี่ เป็นวิทยากรรับเชิญในกิจกรรมที่โครงการจัดขึ้น

“ผมเองก็เป็น อสม.ด้วย ตอนนี้ชักชวนให้คนรู้จักเลิกบุหรี่ได้ 4-5 คนแล้ว เวลาไปเจอเด็กๆในโรงเรียนก็จะบอกให้ไปโน้มน้าวคุณปู่ คุณตา ผู้ปกครอง ให้เลิกบุหรี่ ตอนนี้ทำได้สัก 60 % แล้ว ถือว่าน่าพอใจ ในหมู่ผู้ใหญ่บ้านด้วยกัน 19 คน ผมก็โน้มน้าวให้เลิกได้แล้ว 5 คน ในใจตั้งเป้าหมายว่าต้องเลิกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 คน” ผู้ใหญ่โชค กล่าวอย่างมุ่งมั่น

การดำเนินงานเชิงรุกแต่นุ่มนวลให้ข้อมูลผลเสียของการสูบบุรี่ พร้อมๆ กับการบอกข้อดีของการไม่สูบบุรี่ทั้งด้านสุขภาพและในเชิงเศรษฐกิจ โดยบูรณาการกิจกรรมหลายประเภทเข้าด้วยกัน จึงส่งผลในวันนี้ให้จำนวนผู้เลิกบุหรี่ในชุมชนตำบลพังสิงห์กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ