มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านตาสา หมู่ที่ 3 ตำบลพร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

สรุปสาระสำคัญ

โครงการฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยผ่านสื่อ กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ตามแนวคิด 3D เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีครบทุกมิติ ส่งผลให้เด็ก ร้อยละ 90 มีพัฒนาการที่ดีและมีความสุขในการทำกิจกรรม และร้อยละ 85 มีความเข้าใจและมีแนวโน้มปรับพฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้และอาหารสุขภาวะและมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น

ผลดังกล่าวเกิดจากการที่ครูสามารถผลิตสื่อและสร้างสรรค์กิจกรรมที่หลากหลายมาใช้ในการสอนเด็กได้และเด็กๆ ได้มีมุมเล่นและมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางกายมากขึ้น เช่น มุมทรายที่ใช้โต๊ะเก่ามุงหลังคาให้เด็กๆ ได้เล่นทรายพัฒนากล้ามเนื้อและนั่งเล่นอ่านนิทานซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องไม่มีพื้นที่ร่มเงาให้เด็กได้ทำกิจกรรม เป็นต้น ส่วนครูผู้สอนก็สามารถร่วมกันจัดกระบวนการสร้างสรรค์สื่อขึ้นมาได้ 6 รูปแบบ กิจกรรมสร้างสรรค์ 6 กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ 6 ประเภท ที่เอื้อต่อการเรียนรู้สุขภาวะที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน โดยครูแกนนำที่ได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพสามารถถ่ายทอดทักษะและความรู้ที่ได้รับไปสู่เพื่อนร่วมงานได้ดี เช่น ทำให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาเพื่อส่งเสริมการกินผักผลไม้ด้วยกิจกรรมสื่อจากผ้าพาเล่าเรื่อง กล่องลูกเต๋าเรียนรู้เรื่องผักผลไม้ เป็นต้น ในส่วนของผู้ปกครองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการผลิตสื่อ การทำมุมเล่นและจัดพื้นที่กิจกรรมทางกาย เกิดครอบครัวตัวอย่างที่ใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน 20 ครอบครัว เพราะเห็นผลดีที่เกิดกับตัวเด็ก เช่น มีความสุขกับการละเล่นที่หลากหลาย ไม่งอแงกลับบ้าน เป็นต้น

หลังจบโครงการฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตาสาได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องให้ขยายผลโครงการฯ ไปสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งอื่นๆ อีกจำนวน 10 แห่งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

นวัตกรรมที่พบในโครงการฯ นี้ คือ วิธีคิดในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยผ่านสื่อ กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านสิ่งต่างๆ เหล่านี้จนเกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น

ปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้โครงการฯ นี้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ (1) การสนับสนุนจากพี่เลี้ยง ที่จัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทำงานเกิดความมั่นใจ ในการทำงาน สามารถนำความรู้และคู่มือที่ได้ ถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงานและปรับใช้ในการทำงานได้จริง เกิดผลงานที่เป็นการเปลี่ยนแปลงของ ศพด. ครู และเด็กนักเรียน ตลอดจนความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน ให้มั่นใจยิ่งขึ้น (2) ใช้ความรู้และเครื่องมือที่ได้รับนำไปปฏิบัติจริง อย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งกายภาพพื้นที่ ศพด. และสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ และพัฒนาการของเด็กนักเรียน ทำให้ ศพด. มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กมากขึ้น

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1. การออกแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพที่ได้ผล ต้องสามารถทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการ ได้ทั้งความรู้ในทางวิชาการ และทักษะในการใช้ความรู้นั้นในการปฏิบัติ รวมถึงเห็นรูปธรรมจริงของการใช้ความรู้และวิธีการใช้ความรู้นั้น ผ่านกระบวนการอบรม การเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ การได้กลับไปทดลองทำ และนำกลับมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่น ๆ ที่สามารถสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมมีศักยภาพ

2. ความต่อเนื่องของการเสริมศักยภาพ เป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นพัฒนาการของตนเอง ทั้งความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่มี ผ่านการได้กลับไปใช้ความรู้ไปปฏิบัติการจริงในพื้นที่ และกลับมาแสดงรูปธรรมการใช้ความรู้และทักษะที่ได้รับ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่น ๆ ได้รับความรู้ และพี่เลี้ยงได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม การพัฒนาศักยภาพที่ จะเห็นการเพิ่มขึ้นของศักยภาพได้จริง จึงต้องมีความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ทั้งในด้านความถี่ และเนื้อหา ไม่ใช่การทำครั้งเดียว หรือทำหลายครั้ง แต่เนื้อหาไม่ต่อเนื่องจากครั้งก่อนๆ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ