รวมพลังคนคลองท่อม “จัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน”
รวมพลังคนคลองท่อม “จัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน”
‘บ้านนาใน-บ้านนิคมหน้าเขา’ พื้นที่ต้นแบบเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนของไทยว่าอยู่ในลำดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศลิเบีย โดยมีอัตราการตาย 36.2 คนต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ข้อมูลจากแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ในปี พ.ศ.2559 ยังระบุว่าในทุกๆ 24 นาที จะมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนอย่างน้อย 1 คน และจำนวนของผู้ประสบอุบัติเหตุ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 76 หรือ ราว 857,572 คน เป็นผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์
ด้วย ทางหลวงชนบทหมายเลข 4021 เป็นเส้นทางเชื่อมสู่สถานที่ท่องเที่ยว UNSEEN THAILAND “สระมรกต” และ “น้ำตกร้อน” อันมีชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่ ทำให้ในแต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวใช้เส้นทางผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมาก แต่จากสภาพเส้นทางที่มีลักษณะเป็นเนินเขา ลัดเลาะไปตามสวนยางและสวนปาล์ม มีทางโค้งลาดชันอันอาจเกิดอันตรายกับผู้ที่ไม่คุ้นเส้นทางได้โดยง่าย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับขี่เข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวจนเกิดอุบัติเหตุขึ้น และหลายๆ ครั้งก็เกิดอุบัติเหตุร่วมกับสมาชิกในชุมชนที่ใช้ถนนในชีวิตประจำวันและเพื่อใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตร
แกนนำของชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นจิตอาสาทำหน้าที่ “กู้ชีพกู้ภัย” ให้กับ มูลนิธิประชาสันติสุขคลองท่อม อยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงได้รวมตัวกันจากเดิมที่คอยตั้งรับอยู่ “ปลายเหตุ” ทบทวนปัญหาเพื่อย้อนกลับไปป้องกันแก้ไขตั้งแต่ “ต้นเหตุ” จนเกิดเป็นโครงการ “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนบ้านนาใน” ตำบลคลองท่อมใต้ และ “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนบ้านนิคมหน้าเขา” ตำบลคลองท่อมเหนือ ที่เป็นเส้นทางผ่านไปสู่แห่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้ง 2 แห่งของอำเภอคลองท่อม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายสมยศ แย้มโอษฐ์ ผู้รับผิดชอบโครงการในพื้นที่บ้านนาใน เล่าถึงสภาพปัญหาของเส้นทางในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาในชุมชนว่า ส่วนหนึ่งมาจากการไม่คุ้นเส้นทางของนักท่องเที่ยว บ้างก็เพลินไปกับวิวสองข้างทาง ประกอบกับป้ายบอกทางก็ไม่ชัดเจน พอขับมาเจอทางแยกทางโค้งก็ตัดสินใจไม่ทัน เกิดลังเลเสียหลักทำให้แหกโค้งหรือไปชนกับรถคันอื่นๆ ที่แล่นสวนมา
“ในชุมชนของเรามีจุดเสี่ยงอยู่ 3 จุด ซึ่งเป็นทางโค้งขึ้นลงเนินและสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุของบ้านนาในปี 2558 พบว่ามีอุบัติเหตุจากการเดินทางบนเส้นทางนี้จำนวน 26 ราย เสียชีวิต 1 ราย พิการ 1 ราย และส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นนักท่องเที่ยว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวได้มีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน และการใช้ GPS ในการนำทาง ซึ่งมักจะพาไปยังเส้นทางที่ลัดแต่ลำบากเป็นหลุมบ่อและอันตราย”
คณะทำงานของทั้ง 2 พื้นที่จึงได้เริ่มจัดทำแบบสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชุมชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากงานอุบัติเหตุโรงพยาบาลคลองท่อม นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และประมวลผล ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางต่างๆ ชุมชน เพื่อจัดทำแผนที่ชุมชน โดยปรับปรุงแผนที่ทางอากาศ Google Earth ของหมู่บ้านที่มีอยู่เดิมมาใช้ในการเก็บข้อมูลถนน และสถานที่สำคัญชุมชน มีการจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชนรับทราบปัญหาเพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไข จัดกิจกรรมพัฒนาปรับปรุงจุดเสี่ยงในหมู่บ้าน จัดเวรยามเฝ้าระวังอุบัติเหตุตามจุดเสี่ยงต่างๆ ในช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ และในเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ที่ผ่านมาจนแทบจะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนและจุดเสี่ยงของทั้ง 2 ชุมชนเลย
นายประเสริฐ เอี่ยมดี ผู้รับผิดชอบโครงการในพื้นที่บ้านนิคมหน้าเขา กล่าวว่าในพื้นที่ของตนเองนั้นมีจุดเสี่ยงอยู่ประมาณ 4 จุด ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง รุนแรงถึงขนาดต้องนำส่งโรงพยาบาลประมาณ 7-10 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่คล้ายกันกับปัญหาของชุมชนบ้านนาในคือความไม่ชำนาญเส้นทาง
“แม้จะดูเหมือนว่าปีหนึ่งมีอุบัติเหตุที่รุนแรงน้อย แต่การที่เราคิดทำโครงการนี้ก็เพราะเราคิดถึงความปลอดภัยของคน 2 กลุ่มคือชาวบ้านหรือคนในชุมชนของเราเอง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีความคึกคะนองในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ และความปลอดภัยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ จึงจัดทำโครงการขึ้นมาเพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนควบคู่กันไปด้วย”
ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ได้นำข้อมูลอุบัติเหตุและความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในชุมชน ทั้งเรื่องของการรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ พร้อมกันนี้ยังได้ชักชวนสมาชิกจากทั้ง 2 ชุมชนออกไปตัดต้นไม้ปรับปรุงแก้ไขสภาพภูมิทัศน์สองข้างทางที่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ รวมไปถึงมีการจัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงต่างๆ ในช่วงเทศการต่างๆ มีการทำป้ายบอกทางหรือแจ้งพื้นที่เสี่ยงสำหรับคนในชุมชน และกำลังจะขยายผลการจัดทำป้ายเตือนในจุดต่างๆ เป็นภาษาทั้งอังกฤษและจีนในระยะต่อไป
“จากเดิมที่ทางอำเภอมีงบประมาณในการพัฒนาขยายถนนสายนี้จากปากทางกิโลเมตรที่ 1 ถึง 3 เมื่อได้มีการนำข้อมูลปัญหาและจุดเสี่ยงต่างๆ ไปพูดคุยกันในเวทีระดับอำเภอ ก็ได้มีการย้ายโครงการถนนมาเป็นการปรับปรุงเส้นทางในพื้นที่เสี่ยงของชุมชนแทน รวมระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร และเพิ่มความกว้างของถนนขึ้นจาก 6 เป็น 10 เมตร ทำให้มีความปลอดภัยต่อผู้สัญจรไปมาทั้งนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการโครงการนี้ที่เรามีการเก็บข้อมูลวิเคราะห์สภาพปัญหา และจำนวนอุบัติเหตุในชุมชนบ้านนาในและบ้านนิคมหน้าเขาไปนำเสนอ” นายประเสริฐ เอี่ยมดี ระบุถึงผลลัพธ์จากการทำงานของทั้ง 2 ชุมชน
นายชูศักดิ์ ราตรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านนิคมหน้าเขา กล่าวว่าหลังจากเริ่มทำโครงการนี้ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวกันมากขึ้น โดยตนเองจะใช้เวลาก่อนละหมาดใหญ่วันศุกร์ออกประกาศเสียงตามสาย แจ้งข่าวและเชิญชวนให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการร่วมกันดูแลเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุให้กับสมาชิกในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
“พอชาวบ้านเขามีความรู้ความเข้าใจก็เกิดความตระหนัก ว่าทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะลูกหลานต้องคอยเตือนคอยบอก เพราะเด็กรุ่นใหม่เองก็ชอบขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วๆ ตามนิสัยของวัยรุ่น เมื่อก่อนทั้ง 2 หมู่บ้านต่างคนก็ต่างๆ ทำ แต่ตอนนี้หันมาจับมือทำงานร่วมกันทำให้ปัญหาอุบัติเหตุรุนแรงแบบที่ต้องส่งโรงพยาบาลในช่วงเทศกาลต่างๆ แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยทั้งกับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน”
นางสาวจารุวรรณ วงษ์เวช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ พี่เลี้ยงทีมสนับสนุนวิชาการ โรงพยาบาลคลองท่อม เล่าถึงจุดเด่นของโครงการนี้ว่า แกนนำทั้ง 2 ชุมชนมีทุนเดิมในการเป็นจิตอาสาเรื่องของการกู้ภัยมาก่อน แต่วันหนึ่งได้หันกลับมาคิดร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาที่ขยับจากปลายน้ำมาเป็นกลางน้ำและไปสู่ต้นน้ำได้อย่างไร เกิดจากความกล้าที่จะเปลี่ยนจากการตั้งรับ หันมาทำงานเชิงรุกและมองการแก้ปัญหาในเชิงระบบในระยะยาวมากยิ่งขึ้น
“ทั้งสองชุมชนเป็นต้นแบบของการนำข้อมูลมาใช้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ตำรวจ รวมไปถึงปัญหาของจุดเสี่ยงต่างๆ ในชุมชนที่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีการจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชุมชนรับทราบและร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา ได้นำไปสู่การปรับปรุงถนนในพื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐให้มีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้โครงการจากเดิมที่ทำอยู่เพียงแค่ 2 หมู่บ้าน ยังถูกขยายผลออกไปทั้งตำบลโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อีกด้วย”
การทำงานเชิงรุกด้วยพลังของชาวคลองท่อมทั้ง 2 ชุมชน นอกจากจะสามารถป้องกันและลดจำนวนอุบัติเหตุในพื้นที่ลงได้อย่างเห็นผลได้ชัด ยังส่งผลดีอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อนักท่องเที่ยวปลอดภัยไม่ต้องกลับบ้านก่อนกำหนด ก็จะสามารถใช้จ่ายเงินเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ในเรื่องของความปลอดภัยและเศรษฐกิจภาพรวมจังหวัดกระบี่อีกทางหนึ่งด้วย.