สร้างสุขภาวะที่ดี พร้อมช่วยเหลือทุกชาติพันธุ์ สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่อพยพ และเดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเข้ามาของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่นั้นก็จะมีลักษณะ วัฒนธรรม และประเพณีที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีปัญหาที่กำลังประสบอยู่แตกต่างกันไปด้วย

ตัวอย่างกลุ่มมานิ หรือ ‘เงาะป่า, ซาไก’ ดำรงชีวิตอยู่ในผืนป่าเทือกเขาบรรทัดของภาคใต้ บริเวณจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล และตรัง มานานกว่าหลายร้อยปี ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมานิกำลังประสบปัญหา เพราะป่าที่เคยอยู่ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของมานิเปลี่ยนไป ทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และการที่ต้องปรับตัวเข้ากับชุมชนมากขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

– กลุ่มที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม : มีปัญหาระบบสุขภาวะของชุมชน เนื่องจากแหล่งอาหารในป่าน้อยลงและการเคลื่อนย้ายบ่อย

– กลุ่มที่เริ่มปรับตัวตั้งถิ่นฐาน : มีปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนภายนอก รวมไปถึงการผลิต และบริโภคอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ

– กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร : มีปัญหาขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ดังนั้น ‘นายอานนท์ สีเพ็ญ’ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด จึงมีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาประเด็นปัญหาที่สำคัญของแต่ละกลุ่ม เพื่อทำการช่วยเหลือและพัฒนาสิ่งที่เขาต้องการ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือการพัฒนาเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เพื่อเป็นการสร้างฐานการทำงานในพื้นที่ร่วมกันต่อไป

กลุ่มอิ๋วเมี่ยนหรือ ’ชาวเขาเผ่าเย้า’ เป็นชาติพันธุ์พื้นที่สูงที่มีถิ่นเดิมทางตอนใต้ของจีนและอพยพมาอยู่ในไทย และมีการย้ายถิ่นมาที่บ้านในกรัง ต.จ.ป.ร. อ.กระบุรี จ.ระนอง เป็นเขตต้นน้ำ ติดกับชายแดนสหภาพเมียนมา เอกลักษณ์ที่ชัดเจนคือ การแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง ชุดประจำชนเผ่าที่มีความงดงาม และภาษาชนเผ่าที่ใช้ โดยปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ อัตลักษณ์ของชนเผ่านั้นได้ถูกหลงลืมไปเนื่องจากเทคโนโลยีและสื่อเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น คนรุ่นหลังในชนเผ่าไม่ค่อยสนใจที่จะสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของตน ดังนั้น ว่าที่ ร.ต. ชัชพงศ์  ด้วงงาม หรือ ครูรุจ อาจารย์โรงเรียนกระบุรีวิทยา จึงได้มีการช่วยกันคิดหาทางออกและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกับเด็กๆ ในโรงเรียน จึงได้มีการจัดทำหนังสั้นสารคดี  เพื่อถ่ายทอดประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าให้กับคนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป รวมไปถึงให้คนทั่วไปได้รู้จักกับชนเผ่ามากยิ่งขึ้น และถ้าหนังสารคดีได้ถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งเป็นผลดีต่อชุมชนเพิ่มขึ้นเพราะชุมชนอาจกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวของ จ.ระนอง ต่อไปอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ