สารอาหารของชีวี บริโภคถูกวิธี สุขภาพดีถ้วนหน้า

สารอาหารของชีวี บริโภคถูกวิธี สุขภาพดีถ้วนหน้า   

เด็กหากมีโภชนาการที่ดีย่อมส่งผลดีต่อสุขภาวะ  เอื้อต่อการเล่นสนุกและเรียนอย่างมีความสุข เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ กลับกันหากเด็กขาดโภชนาการที่ดีแล้ว นอกจากปัญหาสุขภาพแล้วยังส่งผลต่อการเรียนด้วยเช่นกัน

ปัญหาด้านโภชนาการพบมากในกลุ่มเด็กที่ยากจนและอาศัยในถิ่นทุรกันดาร เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่ ร.ร.บ้านน้ำหอม ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งนักเรียนทั้งหมดเป็นกระเหรี่ยงมีฐานะยากจน เด็กเกือบร้อยละ 50 กำลังประสบปัญหาทุพโภชนาการ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ให้ให้ความสำคัญ คือ กินอยู่ตามที่มี

บริบทของโรงเรียนและชุมชนบ้านน้ำหอมอยู่พื้นที่ห่างไกลในเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งแม้จะอยู่จากปากทางระหว่างถนนสายบ้านตาก-แม่มะมาด เพียง 20 ก.ม. แต่การเดินทางต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะเป็นถนนลูกรัง และหากเป็นช่วงฤดูฝนการสัญจรยิ่งยากลำบาก ทำให้อาหารจากภายนอกที่จะเข้าไปในชุมชนยิ่งยากขึ้นไป เด็กๆ จึงไม่ได้รับประทานอาหารที่หลากหลายและสารอาหารครบถ้วน

“กินแต่น้ำพริกผักต้มหรือแกงผักเปล่าๆ ทุกวันและแทบจะทุกมื้อ  ดีสุดหน่อยก็จะมีปลาที่หามาได้ และนานๆ ทีจะได้กินแกงไก่ก็ตอนที่มีพิธีกรรมเท่านั้น” ด.ญ.สุกัญญา บำรุงบรรพต นักเรียนชั้น ม.3  พูดถึงเมนูอาหารที่รับทานเป็นประจำเวลาอยู่ที่บ้าน และบอกสาเหตุอีกว่า เพราะบ้านยากจนไม่มีเงินไปซื้อของดีๆ กิน อาศัยหาของในป่ามากิน เลี้ยงไก่ ปลูกผัก มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้กินบ่อยๆ ผักที่มีก็มีไม่กี่อย่าง ส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัว

น.ส.นิณรวรรณ เมืองอินทร์ ครูผู้ช่วย ร.ร.บ้านน้ำหอม ซึ่งคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ กล่าวว่า เด็กนักเรียน  111 คนจาก 268 คน กำลังประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย โดยเฉพาะโปรตีนและผักผลไม้ รวมถึงมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง

เด็กทั้งหมดมีฐานะยากจน บางรายบ้านอยู่ไกลจากชุมชน พ่อแม่ก็มีอาชีพหาของป่า ทำไร่เล็กๆ น้อย อาศัยหาของป่ามาทำอาหาร ทุกวันก็จะกินแต่น้ำพริก ผักต้ม วันไหนหาปลาได้จึงจะได้กินที่ไม่ซ้ำกับเมนูในทุกๆวัน เรื่องสารอาหารไม่ต้องพูดถึง เอาแค่ว่าอิ่มไหม เพราะมีลูกหลายคน ฉะนั้นเด็กๆ จะได้รับประทานอาหารที่ดี คือ จากที่โรงเรียนเท่านั้น

 

วัยเด็กต้องการอาหารโปรตีนและพลังงานสารอาหารมากกว่าวัยอื่น เพราะต้องใช้โปรตีนและพลังานสารอาหารในการเจริญเติบโตและส่งเสริมพัฒนาการ

ดังนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเด็กได้ตระหนักเรื่องของการบริโภคอาหาร จึงได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการ “ร่วมสร้างพลังงานสารอาหารของชีวี บริโภคอย่างถูกวิธี สุขภาพดีกันถ้วนหน้า” เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอาหารอาหารที่ปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ ตลอดจนจำนวนนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนการต่ำลง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีต่อไป

ชุมชนอยู่ในป่าลึก อาหารจึงไม่ค่อยมีความหลากหลาย เพราะแม้แต่โรงเรียนเอง ก็ต้องไปซื้อจากในเมือง ลงไปแต่ละครั้งก็ต้องซื้อมาตุนเยอะๆ เพื่อให้ทำอาหารได้ครบ 1 สัปดาห์

“ในเมื่อบริบทของเราเป็นแบบนี้จึงคิดว่าจะทำอย่างไร ที่สอนให้เข้าได้รู้ เข้าใจจริง ก็เอาเรื่องเกษตรปลอดสารและน่าจะเป็นพื้นฐานเอาความรู้นี้ไปต่อยอดปลูกกินปลูกขายที่บ้านก็ได้ โดยใช้พื้นที่ว่างรอบโรงเรียนให้เด็กปลูกผักปลอดสาร  สร้างโรงเพาะเห็ด ทำบ่อเลี้ยงกบ ปลา เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงครัว เป็นอาหารกลางวันให้กับทุกคนได้รับประทาน”น.ส.นิณรวรรณ หรือ ครูเต็มของเด็กๆ ร.ร.บ้านน้ำหอม บอกถึงวิธีการจัดการสร้างแห่งอาหารให้กับทุกคนในโรงเรียน

ขณะเดียวกันการจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้วยการเชิญวิทยาการจาก รพ.สต.มาให้ความรู้เรื่องโภชนาการกับเด็กๆ และจัดนิทรรศการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์สร้างการเรียนรู้เรื่องอาหารและโภชนาการต่างช่องทางต่างๆ เช่น กิจกรรมหน้าเสาธง จัดป้ายนิเทศ เป็นต้น   ซึ่งแม้โครงการจบจะจบไปแล้ว แต่ทางโรงเรียนยังมีการดำเนินโครงการต่อไปในระยะยาว โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนจากการจำหน่ายผลผลิตจากโครงการ และเพื่อให้เด็กมีโภชนการที่ดีต่อไป

ด้าน นายอนุศักดิ์ เครืออยู่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำหอม กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กที่เข้าใหม่แล้วมีภาวะทุพโภชนาการ 20-30 ราย ซึ่งเป็นเด็กกะเหรี่ยงทั้งหมด แน่นอนว่าอาหารที่รับประทานอยู่บ้านอยู่ในขั้นย่ำแย่ แต่เมื่อมาที่โรงเรียน เราก็มีนโยบายให้ทุกคนได้กินอิ่มด้วยอาหารที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันได้ประสวานของบประมาณจากหน่วยงานภายนอกมาช่วยอุดหนุนอยู่เสมอ

 

อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหาในเรื่องภาวะโภชนการในเด็กถิ่นทุรกันดารให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้น เชื่อว่า ต่องมาจากหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชนอย่างจริงจัง เพราะเป็นกันทั้งหมู่บ้าน ซี่งถ้าหากเด็กได้รับการดูแลที่ดีจากที่บ้านจากชุมชนมาแล้ว พอมาโรงเรียนเขาก็จะไม่ประสบปัญหา และทำหน้าที่ตั้งใจเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องพะวงกับเรื่องอื่นๆ

ข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการขาดโอกาสและการเข้าถึงปัจจัย ส่งผลเด็กในท้องถิ่นทุรกันดารอีกไม่น้อยที่ประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการ  ซึ่งการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้นั้นจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ร่วมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนที่ต้องหันมาใส่ใจ การกิน อยู่ให้มากขึ้น เพื่อให้เอต่อการเรียนอย่าางมีความสุข เพราะสุขภาวะที่ดีย่อมส่งผลดีต่อผู้เรียนเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ