
สืบสานดนตรีพื้นบ้าน สานพลังชุมชนด้วยเสียงเพลง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ดนตรีพื้นบ้าน ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของพื้นที่ หรือภาคนั้นๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนและสวยงาม ซึ่งในปัจจุบัน ดนตรีพื้นบ้านในหลายพื้นที่กำลังเลือนหาย เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ ดังนั้นเรามาดู #แนวคิดพลิกชุมชน จากทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ที่จัดโครงการดีๆ ขึ้นมาเพื่อสืบสานให้ดนตรีพื้นบ้านยังคงอยู่คู่คนในชุมชนต่อไปกันค่ะ
เริ่มต้นกันที่โรงเรียนเมืองแพร่ ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ ที่มองเห็นปัญหาของดนตรีพื้นบ้านในชุมชนกำลังสูญหายไป ซึ่งอาจเกิดจากที่ความเนิบช้าของท่วงทำนอง ท่าทางการแสดง และเครื่องดนตรีที่ดูเรียบง่าย ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปสนใจเครื่องดนตรีสมัยใหม่แทน นายวิโรจน์ คำธิยะ ครูที่ปรึกษาโครงการฯ จึงได้มีไอเดียในการจัดตั้งวงดนตรีลูกผสม อย่างวง ‘Me-Easy’ ขึ้นมา เป็นวงดนตรีที่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาเล่นผสมผสานกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่นั่นเอง นายวิโรจน์เล่าว่า ‘นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนทักษะของดนตรีพื้นบ้านติดตัวไปแล้ว พวกเขาจะมีทักษะอาชีพติดตัวไปพร้อมกัน ซึ่งสามารถนำทักษะและความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อผู้อื่นได้ด้วย โดยทุกวันนี้วงดนตรีของพวกเขามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 20 คน บอกเลยว่าดนตรีพื้นบ้านสำหรับเด็กๆ กลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการอนุรักษ์ แต่เป็นวิถีชีวิตที่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้พวกเขาได้ในอนาคตต่อไป’
ไปกันต่อที่สภาเด็กและเยาวชน ต.ป่าบอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่ได้จัดทำ ‘โครงการดนตรีฮาลาล (อนาชีดกอมปัง)’ ขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านของชาวมาลายู โดยนายฮิมรอน มะสัน ประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลป่าบอน ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่า ’กอมปัง คือเครื่องดนตรีพื้นเมืองในสังคมมุสลิมมลายู เป็นเครื่องดนตรีเพียงอย่างเดียวที่ได้รับการยกเว้นตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งมักใช้แสดงในงานประเพณี และ อนาชีด คือคำร้องหรือการขับร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอนและความศรัทธาในหลักศาสนา โดยการละเล่นอนาชีดกอมปังนั้นผู้เล่นจะต้องแต่งกายด้วยชุดมลายูพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์สวยงาม ภายใต้โครงการนี้น้องๆ จะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พร้อมได้เรียนรู้ทักษะในการตีกลองประเภทต่างๆ ส่วนเนื้อหาที่นำมาขับร้องส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความศรัทธาตามหลักศาสนา การเป็นมุสลิมที่ดี การเป็นลูกที่ดีและการเป็นพลเมืองที่ดีในสังคม’
และนี่ก็คือแนวคิดในการทำโครงการดีๆ เกี่ยวกับดนตรีของทั้ง 2 ภาค หากชุมชนใดกำลังประสบปัญหาที่คล้ายกัน อย่าลืมนำแนวคิดดีๆ ไอเดียโดนๆ แบบนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ