หมู่บ้านหนองนางตุ้มรวมพลังด้วยใจ สู่ชุมชนเข้มแข็งที่น่าอยู่น่าอาศัย อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
สรุปสาระสำคัญ
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นชุมชน ด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกับผู้นำชุมชนในรูปแบบสภาผู้นำชุมชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวและให้ความร่วมมือกันปฏิบัติตามกฎกติกาชุมชนและจัดกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ เช่น การจัดกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาด การประกวดคุ้ม/ครัวเรือนต้นแบบ การจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อการศึกษาเด็กและเยาวชน เป็นต้น จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน คือปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลดลง สภาพแวดล้อมภายในชุมชนมีความสะอาด เป็นระเบียบ สวยงามน่าอยู่น่ามองมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวมาจากการที่สภาผู้นำชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางแผน การแบ่งบทบาทหน้าที่ และการสื่อสารกับชุมชนบทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
- โครงสร้างคณะทำงานต้องมีขอบเขตภารกิจและบทบาท ที่เชื่อมโยงส่งต่อกัน เช่น กรณีนี้ที่แบ่งกลไกทำงานเป็น 3 ชุด ชุดหนึ่งดูภาพรวมและการบริหารจัดการ ชุดสองเป็นกลไกสื่อสารและติดตามสนับสนุนกิจกรรมโครงการตามขอบเขตพื้นที่ (ขอบเขตคุ้ม) ชุดสาม รับผิดชอบดำเนินกิจกรรม (ขอบเขตภารกิจคือรายกิจกรรม) ที่ทำให้เกิดการกระจายความรับผิดชอบที่ดี
- ข้อมูลที่ใช้ต้องมาจากแหล่งหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ ในกรณีโครงการนี้คือ ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากเทศบาลตำบลสำราญ ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นลักษณะขยะและสภาพถังขยะหมู่บ้าน ที่อยู่ตามร้านค้าและครัวเรือนต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลจริง ที่คนในชุมชนยอมรับได้ไม่ยาก ด้วยข้อมูลคุณภาพคือสิ่งที่ทุกคนเห็นอยู่เป็นปรกติอยู่แล้ว จึงช่วยกระตุ้นให้เห็นสถานการณ์ชัดเจนขึ้น ส่วนการใช้ข้อมูลเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจแบ่งเป็น 3 ระยะที่สำคัญ
ระยะแรก :ใช้ข้อมูลสถานการณ์ สร้างความเข้าใจ กระตุ้นความตื่นตัว
ระยะกลางโครงการ :ใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลง ชี้สิ่งที่ดีขึ้นและต้องปรับปรุง กระตุ้นการปรับพฤติกรรม แนะนำวิธีการเพิ่มเติมรายบุคคล
ระยะท้าย/ปิดโครงการ : ใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลง ชี้ให้เห็นความสำเร็จร่วมกัน กระตุ้นการรักษาพฤติกรรมดีงามเอาไว้
- การสร้างถังขยะเพื่อสนับสนุนการคัดแยก ควรมีลักษณะสำคัญ คือ ต้องมองเห็นขยะภายในง่าย ว่ามีการคัดแยกถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนทิ้ง/แยกขยะก่อนทิ้งได้ถูกกลุ่มและเป็นการเรียนรู้ไปในตัว เพียงแค่ป้ายบอกประเภทอาจไม่ให้ภาพชัดเจนพอ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้การคัดแยกขยะที่ถูกต้องในกระบวนการให้ความรู้ได้ด้วย
- กิจกรรมรณณรงค์ทำให้เป็นวิถีชุมชนได้ มีหัวใจสำคัญคือ ทำให้เป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคย ผ่านการกำหนดนัดหมายทำกิจกรรมที่แน่นอน ต่อเนื่อง(อย่างน้อยทุกเดือน) มีการประชาสัมพันธ์บอกกล่าวล่วงหน้า และย้ำเตือนก่อนถึงวัน จนถึงวันทำกิจกรรม
- การยกย่องต้นแบบ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามากกว่ารางวัล คือใช้เกณฑ์การประเมินต้นแบบ เป็นเครื่องมือส่งเสริมการพัฒนา และให้การยกย่องทุกคนที่ทำสำเร็จตามเกณฑ์ ไม่จำกัดแค่คนที่ได้อันดับ 1-2-3 หรือจำกัดจำนวนต้นแบบ
- ธนาคารขยะเพื่อประโยชน์ชุมชน กรณีโครงการนี้ ทำให้เห็นว่า ธนาคารขยะทำหน้าที่ได้มากกว่าเป็นกลไกรวบรวมและซื้อขายขยะของชุมชน แต่สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในเรื่องที่จำเป็นได้ด้วย ซึ่งที่นี่จัดตั้งเป็นธนาคารขยะเพื่อการศึกษา