โครงการชุมชนน่าอยู่: บ้านใหม่สามัคคี ม.11 จ.ลำปาง
โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 11 ตำบลเมืองยาว อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 11 ตำบล เมืองยาว อำเภอ ห้างฉัตร จังหวัด ลำปาง สภาพชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ที่เป็นลักษณะครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง มีจำนวนหลังคาเรือน 139 หลังคาเรือน จำนวนประชากรในหมู่บ้านมี 510 คน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา และเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชสวนผสม มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภค พื้นที่ของหมู่บ้านมีจำนวนรวม 750 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อาศัย 300 ไร่ พื้นที่เกษตรท 450 ไร่ และมี การคมนาคมขนส่งเป็นการเดินทางโดยรถสองแถว รับ – ส่ง จากหมู่บ้านเข้าไปในอำเภอเมือง อัตราค่าโดยสารจากหมู่บ้านไปที่ถึงว่าการอำเภอห้างฉัตร 30 – 40 บาท และหมู่บ้านห่างจากที่ว่าห้างฉัตรประมาณ 14 กิโลเมตร โดยเป็นหมู่บ้านที่อาศัยร่วมกันแบบเครือญาติพี่น้อง มีประเพณีทางศาสนาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน ได้แก่ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีลอยกระทง มีการรวมกลุ่มเพื่อการส่งเสริมอาชีพ ได้แก่ กลุ่มทำน้ำพริกลาบเครื่องจักรสานจากไม้ไผ่ และกลุ่มเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นมีกลุ่มกองทุนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนกองทุนเงินออม กองทุนเงินล้าน รวมถึงกองทุนที่ช่วยเหลือกันเองในชุมชน และยังมีกลุ่มสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอาสามสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และกลุ่มหมวดหมู่ประจำบ้านจำนวน 8 หมวด
กลไกสภาผู้นำชุมชน
การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน
การจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนของบ้านใหม่สามัคคีได้มีการก่อตั้งขึ้น มีจำนวนสภาผู้นำชุมชน 20 คน นำโดยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการ และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองยาว โดยประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน เหรัญญิก 1 คน เลขานุการ 1 คน สมาชิกสภาผู้แทนเทศบาล 1 คน หัวหน้าหมวด 2 คน กรรมการหมู่บ้าน 4 คน ประธาน ชรบ. 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ประธานศาสนาและวัฒนธรรม 1 คน ประธานผู้สูงอายุ 1 คน สภาผู้นำชุมชนจะมีการประชุมหมู่บ้านเป็นประจำทุกเดือน เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความคิดปัญหาในหมู่บ้าน โดยใช้หลักช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแก้ปัญหา และร่วมมือร่วมใจประสานงาน ต่างๆในชุมชน สำหรับสิ่งที่ดีและน่าภูมิใจในชุมชนบ้านใหม่สามัคคี ได้แก่ การได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงประเพณีลอยกระทงจากทางเทศบาลตำบลเมืองยาวทุกปีมาอย่างยาวนาน ตลอดถึงมีสำนักสงฆ์บ้านใหม่สามัคคี ที่มีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดในการเผยแผ่ธรรมมะให้กับคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงจนเป็นที่ยอมรับของตำบล และอำเภอ ซึ่งภายในบริเวณวัดยังมีลานที่กว้างขวางที่สามารถรองรับตลาดนัดทุกๆ วันอาทิตย์เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพและสามารถหาซื้อของจำเป็น โดยไม่ต้องออกไปซื้อในเมืองเพื่อลดปัญหาการจราจรในเขตเมือง
สภาผู้นำชุมชนบ้านใหม่สันป่าตึง ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกัน โดยการก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน ต้องการมีสภาผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ได้โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ภายใต้การร่วมคิดร่วมทำ ร่วมติดตาม ซึ่งมีสภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนที่มีศักยภาพ และทักษะในการชวนคนในชุมชนให้ร่วมทำกิจกรรมของชุมชนที่เป็นไปตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนของชุมชนบ้านใหม่สามัคคี หมู่ 11 ตำบลเมืองยาว มีเป้าหมายที่จะนำพาชุมชนไปสู่การเป็นชุมชนที่น่าอยู่สะอาด มีสภาพแวดล้อมที่สดชื่น สวยงาม ปราศจากขยะ โดยทางชุมชนบ้านใหม่สามัคคีนำโดยทีมสภาผู้นำชุมชนจะทำการขับเคลื่อนคนในชุมชนให้หันมารักษา อนุรักษ์ และพัฒนาการดำเนิน
ชีวิตในแต่ละวันของชุมชนให้น่าอยู่ น่าอาศัย โดยทุกๆเดือนจะมีการประชุมเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อเป็นการร่วมคิด ร่วมทำร่วมกันพัฒนา แก้ไขปัญหา ซึ่งกลไกสภาผู้นำชุมชนจะก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือข้อเสนอแนะในการชักนำชุมชนให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยที่ทุกคนสามารถปฏิบัติและมีส่วนร่วมด้วยความจริงใจไม่มีการทะเลาะหรือขัดแย้งกัน และทำงานร่วมกันด้วยความเต็มใจและเสียสละแก่ชุมชน
ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน ทักษะที่สภาผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาจากทีมงานกลาง ตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกไปร่วมประชุม สามารถถ่ายถอดให้กับสมาชิกได้เป็นทักษะที่เกี่ยวกับการทำงานกับชุมชนโดยตรง ตั้งแต่ การทำโครงการโดยใช้ต้นไม้แห่งปัญหาในการวิเคราะห์ ใช้บันได้ผลลัพธ์ในการติดตามและออกแบบสำรวจ เพื่อประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน โดยมีตัวแทนทีมสภาผู้นำชุมชนถ่ายทอดให้กับสมาชิกได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาในการทำงานของทีมสภาผู้นำชุมชน สำหรับทักษะที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในการทำงานคือการนำเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้การสำรวจข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบสมาร์ทโฟน และระบบฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะสามารถได้จัดเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน รวดเร็วในการค้นหาข้อมูล และทันต่อการแก้ปัญหา
การบริหารจัดการข้อมูลในชุมชน มีการนำแผนชุมชนของหมู่บ้านมาใช้ในการวางแผน เพื่อการทำงานของทีมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน โดยแผนชุมชนได้มีการแบ่งสภาพปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขออกเป็นระยะสั้น กลาง ยาว และที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนได้รับทราบ เป็นภาษาที่ชุมชนสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลในชุมชนต้องมี คนที่รับหน้าที่นี้โดยตรงและเป็นคนที่มีความสามารถในการสื่อสารตามเสียงประชาสัมพันธ์ และแกนนำครัวเรือนในชุมชนรวมไปถึงตัวสภาผู้นำชุมชน สำหรับการสื่อสารระยะยาว สภาผู้นำชุมชนใช้กระบวนการผลิตป้ายประชาสัมพันธ์ติดประกาศ และกระบวนการเดินรณรงค์เพื่อกระตุ้นและเกิดความต่อเนื่องในชุมชน
การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนกับสภาผู้นำชุมชนด้วยกันเอง จะใช้การสร้างความร่วมมือด้วยการให้สภาผู้นำชุมชนแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นในการประชุมแต่ละเดือน การให้สมาชิกทุกคนได้ฝึกการพูด และร่วมกันแสดงความคิดในที่ประชุมก่อนที่จะเข้าที่ประชุมหมู่บ้าน โดยใช้วิธีการตั้งคำถามและสอบถามสภาผู้นำชุมชนแต่ละคน สำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกในชุมชน จะใช้แนวทางการให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการยกมือผ่านที่ประชุมในการดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยถือเสียงข้างมากเป็นกาตัดสิน ส่วนการขยายสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรฝ่ายนอกนั้น สภาผู้นำชุมชนได้ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภายนอกด้วยการขอความร่วมมือเพื่อเสนอของบประมาณในการดำเนินการทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน การขอสนับสนุนหน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจมีประสบการณ์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้เจริญก้าวหน้า
ความสำเร็จและผลลัพธ์
ผลลัพธ์ความสำเร็จเชิงประเด็นที่กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานผ่านแผนชุมชนที่ปรากฏเด่นชัดได้แก่ เกิดความร่วมมือของสภาผู้นำชุมชนและเทศบาลตำบลเมืองยาวในการจัดการขยะ สภาผู้นำชุมชนมีการจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ขยะ การจัดทำฐานข้อมูลขยะของแต่ละครัวเรือน เพื่อนำมาใช้ในการติดตามและประเมินผลตามบันไดผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ ครัวเรือนจำนวน 139 ครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ครัวเรือนจำนวน 139 ครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ ครัวเรือนจำนวน 82 ครัวเรือนมีการนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ เกิดครัวเรือนตัวอย่างในการจัดการขยะ คัดแยกขยะและใช้ประโยชน์จากขยะ 90 ครัวเรือน ปริมาณขยะในชุมชนหลังจากดำเนินการโครงการ ณ เดือนกันยายน 2565 คงเหลือ 84.3 กิโลกรัมต่อวันเปรียบเทียบจากปริมาณขยะก่อนดำเนินโครงการ 477 กิโลกรัมต่อวัน เกิดการเชื่อมประสานแผนพัฒนาหมู่บ้านชุมชนกับแผนพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลเมืองยาวในเรื่องการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นด้านอื่นๆ ที่เป็นปัญหาและความต้องการของชุมชน
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน
การวิเคราะห์ความเข้มแข็งการประเมินความเข้แข็งของชุมชน 9 มิติ
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน โดยใช้ความเข้มแข็งการประเมินความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติ มาใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย
1. การมีส่วนร่วม อยู่ในระดับที่ 5 สมาชิกชุมชนเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 มีผู้แสดงความคิดเห็นร่วมตัดสินใจ เรื่องการดำเนินงานและมีการเสนอและพิจารณาปัญหาใหม่รวมทั้งมีการร่วมติดตามประเมินผล
2. ผู้นำ อยู่ในระดับที่ 4 ทุกกลุ่มหรือองค์กรในชุมชนมีผู้นำที่ทำงานได้ดีมีการพัฒนาทักษะผู้นำและทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นหรือองค์กร อื่นในชุมชนได้
3. โครงสร้างองค์กร อยู่ในระดับที่ 4 โครงสร้างสภาผู้นำชุมชนที่มีองค์ประกอบครบถ้วนและประชุมกันสม่ำเสมอและสภาผู้นำสามารถ ทำงานตามโครงการและสามารถประสานกับกลุ่มอื่นๆในชุมชนได้
4. การประเมินปัญหา อยู่ในระดับที่ 4 ชุมชนมีการเก็บและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบนำมาวิเคราะห์และประเมินปัญหาเพื่อจัดทำ แผนชุมชน
5. การระดมทรัพยากร อยู่ในระดับที่ 4 สภาผู้นำชุมชนมีแผนชุมชนพึ่งตนเองที่สามารถระดมทรัพยากรจากภายในและนอกชุมชนได้
6. การเชื่อมโยงกับบุคคลและองค์กรภายนอกอยู่ในระดับที่ 5 สภาผู้นำชุมชนมีแผนชุมชนพึ่งตนเองที่กำหนดบุคคลหรือ องค์กร ภายนอกที่ต้องขอความช่วยเหลือและได้รับความร่วมมือจากบุคคลหรือองค์กรภายนอกเช่นเทศบาลตำบลเมืองยาว โรงเรียนเมือง ยาววิทยา สภาผู้นำชุมชนบ้านทุ่งหก ตัวแทนบ้านลุ่มกลาง และตัวแทนบ้านทุ่งพัฒนา
- การถามว่าทำไม อยู่ในระดับที่ 3 การประชุมสภาผู้นำชุมชนมีการถามว่า ทำไม เพื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังและสามารถแย้งคำตอบกันได้
- ความสัมพันธ์กับพี่เลี้ยงอยู่ในระดับที่ 3 ในการดำเนินโครงการพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาสภาผู้นำชุมชนตามความจำเป็น
- การบริหารจัดการอยู่ในระดับที่ 4 สภาผู้นำชุมชนบริหารจัดการได้โดยพี่เลี้ยงช่วยเหลืออย่างจำกัดสภาผู้นำชุมชนได้รับการเพิ่มทักษะการบริหารจัดการแล้ว
จุดอ่อนที่ชุมชนยังต้องดำเนินการและแก้ไขพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็ง คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมการทำงานและดำเนินงาน เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน พัฒนาด้านการระดมทรัพยากร การใช้ทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกของชุมชนเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของสภาผู้นำชุมชน รวมถึงการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้รับการส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยให้การแก้ไขปัญหาสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการจัดการอย่างยั่งยืน