โครงการชุมชนน่าอยู่: บ้านม่วง ม.8 จ.ลำพูน
โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านม่วง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
บ้านม่วง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ภูมิประเทศของหมู่บ้านม่วงมีพื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ทิศเหนือติดกับหมู่บ้านสันมะโก ทิศใต้ติดกับหมู่บ้านแป้น ทิศตะวันออกติดกับหมู่บ้านบูชา ทิศตะวันตกติดกับหมู่บ้านป่าซางน้อย โดยมีประชากร รวมทั้งสิ้น 755 คน แยกเป็นชาย 351 คนหญิง 404 คน เดิมมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 238 หลังคาครัวเรือน ปัจจุบันมีจำนวน 229 ครัวเรือน การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยอาชีพเกษตรกรรมทำนาทำสวน และสวนลำไย จำนวน 126 คน อาชีพรับจ้างทั่วไปจำนวน 48 คน อาชีพรับราชการ ข้าราชการบำนาญ มีจำนวน 20 คน อาชีพค้าขายจำนวน 41 คน
กลไกสภาผู้นำชุมชน
การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน
สภาผู้นำชุมชนของหมู่บ้านม่วง จำนวน 21 คน มาจากหลายฝ่าย ประกอบไปด้วยแกนนำและคณะกรรมการองค์กรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในชุมชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในโครงการชุมชนน่าอยู่ ประกอบด้วย ผู้นำที่เป็นทางการคือผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน ตัวแทน อสม. สมาชิกสภาเทศบาล ตัวแทนผู้สูงอายุ ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนถึงจิตอาสาในชุมชนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม โครงสร้างสภาผู้นำชุมชนจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีการกำหนดเป้าหมายในการทำงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยการร่วมกันวางแผนพัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมีส่วนร่วม ให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นและจับต้องได้ ซึ่งสภาผู้นำชุมชนทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล หรือการติดตามประเมินผล เมื่อพบปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในชุมชน จะต้องร่วมมือกันแก้ไขและพัฒนาตลอดถึงให้ความรู้ คำแนะนำ เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชนต่อไป
ความรู้และทักษะที่สภาผู้นำชุมชนได้รับจากการดำเนินงานร่วมกับ สสส ประกอบด้วย การวางแผนงาน การจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัด การประชุม ARE ต้นไม้ปัญหา บันไดผลลัพธ์ การประเมินความเข้มแข็ง 9 มิติ การสะท้อนผลลัพธ์ตามวงรอบ ARE สภาผู้นำชุมชนมีการแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน มีการติดตามประเมินผลกลุ่มเป้าหมาย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทุกๆ 3 เดือน และสิ่งที่สภาผู้นำชุมชนจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมในด้านการทำงานกับทางทีม คือ การใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูล การนำไปใช้ประยุกต์ในงานอื่นๆ รวมไปถึงการใช้ในการติดตาม ประเมินผล
การบริหารจัดการชุมชน บ้านม่วงได้มีการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเองทุกๆ 1 ปี เป็นการประชาคมของหมู่บ้านร่วมกับทางเทศบาลตำบลบ้านแป้น เกษตรตำบล ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อเป็นการวางแผนการทำงาน จัดสรรงบประมาณให้ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยประเด็นก็จะมาจากความต้องการของชุมชนว่าชุมชนยังขาด หรือต้องการแก้ไขปัญหาในตรงจุดไหน โดยก่อนกำหนดการประชาคมแผนชุมชนพึ่งตนเอง ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้กับชาวบ้านได้รับทราบล่วงหน้า 1 อาทิตย์ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ชาวบ้านได้เสนอให้ทางหมู่บ้านเองพัฒนาในด้านไหน
กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม สภาผู้นำชุมชนจะมีการประชุมประจำเดือนของกลุ่มสภาผู้นำชุมชน ทั้งการประชุมร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านคือ การประชุมก็คือการพบปะ พูดคุย วางแผนการดำเนินงานในกิจกรรมต่อ ๆ ไป ที่จะจัดให้กับพี่น้องชาวบ้าน และทางสภาผู้นำเองก็จะได้แบ่งหน้าที่งานกัน หลังจากที่ทางสภาผู้นำชุมชนได้ประชุมกำหนดกิจกรรมที่จะทำต่อไปแล้วนั้น ก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนมาร่วมงาน มีทั้งการประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้าน ส่งหนังสือเชิญรายครัวเรือน และการพูดแบบปากต่อปาก และในกิจกรรมใดมีการเชิญวิทยากรจากองค์กรภายนอกเข้ามา สภาผู้นำชุมชนก็จะออกเป็นหนังสือเชิญ พร้อมกำหนดการ และพร้อมที่จะมีการแลกเปลี่ยนกับองค์กรภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การดำเนินงาน
ความสำเร็จและผลลัพธ์
ผลลัพธ์ความสำเร็จเชิงประเด็นที่กลไกสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ดำเนินงานผ่านแผนชุมชนที่ปรากฏเด่นชัดได้แก่ สภาผู้นำชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าซางน้อยมีการขับเคลื่อนการจัดการขยะในชุมชน โดยมีเทศบาลตำบลบ้านแป้นให้การส่งเสริม สนับสนุน สภาผู้นำชุมชนมีการจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์ขยะ การจัดทำฐานข้อมูลขยะ ปริมาณขยะแต่ละประเภทในชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนจัดการปัญหาขยะ ครัวเรือนในชุมชน 229 ครัวเรือน เกิดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ครัวเรือน 210 ครัวเรือน มีการคัดแยกขยะ ครัวเรือน 124 ครัวเรือน มีการนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพ เกิดครัวเรือนตัวอย่างในจัดการขยะ คัดแยกขยะ 13 ครัวเรือน ปริมาณขยะในชุมชนหลังจากดำเนินโครงการลดลงคงเหลือ ณ เดือนกันยายน 2565 จำนวน 206.10 กิโลกรัมต่อวัน เกิดการเชื่อมโยงปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนกับแผนพัฒนาหมู่บ้านกับแผนพัฒนาสุขภาพของรพสต.ตำบลป่าซางน้อยในการแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ และไม่มีผู้เจ็บป่วยด้วยโรคชิคุนกุนย่า/โรคทางเดินหายใจ/โรคผื่นคันจากการสัมผัสขยะอันตรายในปีที่มีการดำเนินโครงการ
หลักฐานและข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกว่าดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
- เกิดกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบขององค์กรแบบไม่เป็นทางการ และขับเคลื่อนกิจกรรมได้เอง
- เกิดการเชื่อมโยงปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชนกับแผนพัฒนาหมู่บ้านกับแผนพัฒนาสุขภาพของรพสต.ตำบลป่าซางน้อยในการแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน
การวิเคราะห์ความเข้มแข็งการประเมินความเข้แข็งของชุมชน 9 มิติ
การสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานภายในชุมชน โดยใช้ความเข้มแข็งการประเมินความเข้มแข็งของชุมชน 9 มิติ มาใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย
- การมีส่วนร่วมของชุมชน ระดับ 4 สมาชิกในชุมชนเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมร้อยละ 50 โดยสภาผู้นำชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมคนในชุมชนเข้าร่วมประชุมหรือทำกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา แต่การแสดงความคิดเห็นไม่มากเท่าใดนักที่จะนำไปสู่การตัดสินใจการดำเนินงานแนวทางการพัฒนา ร่วมกันต้องกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ การรับฟังข้อเสนอแนะ ให้หัวหน้าและตัวแทนหมวดคุ้มไปพูดคุยรายละเอียดกับสมาชิกในหมวดคุ้มของตนเองแล้วนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะกลับมานำเสนอในการประชุมของสภาผู้นำเพราะคนในชุมชนบางคนไม่กล้าเสนอความคิดในการประชุมของหมู่บ้านและแบ่งบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานมากขึ้น
- ผู้นำท้องถิ่นทุกกลุ่มหรือองค์กรในชุมชน ระดับ 4 ผู้นำชุมชนตัวแทนจากกลุ่มต่างๆสามารถทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบได้ดีขึ้น โดยการวางแผนร่วมกัน และมีการพัฒนาทักษะผู้นำในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน องค์กรในชุมชนให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชนตามแผนงานที่กำหนดสามารถวิเคราะห์ปัญหาของกลุ่มได้และสามารถขยายผลให้สมาชิกสภาผู้นำชุมชนมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น และประสานการทำงานร่วมกับกลุ่มทั้งภายในและนอกชุมชนให้ได้ดีมากยิ่งขึ้น
- โครงสร้างองค์กร ระดับ 5 สภาผู้นำชุมชนมีตัวแทนมาจากทุกกลุ่มในชุมชนและจัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน มีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ของสภาผู้นำชุมชนเพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารแจ้งข่าวสาร หารือการทำงานนอกเหนือจากการประชุมประจำเดือน เพื่อความรวดเร็วในการตัดสินใจในกรณีเร่งด่วนและทำงานโครงการได้ดี เช่น สภาผู้นำที่เป็นตัวแทนหมวดคุ้มจะทำหน้าที่แสดงความคิดเห็นและสะท้อนข้อคิดเห็นของสมาชิกในหมวดคุ้มตนเองให้สภาผู้นำชุมชนทราบมากขึ้นร้อยละ 60 สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มทั้งในและนอกชุมชนได้ดีและอย่างต่อเนื่อง
- การประเมินปัญหาในชุมชน ระดับ 5 ชุมชนมีการเก็บและรวบรวมข้อมูลมีการนำมาวิเคราะห์และประเมินปัญหา เช่น การวางแผนแก้ไขปัญหาการสร้างการมีส่วนร่วมของครัวเรือนในชุมชนในแต่ละปีสภาผู้นำชุมชนต้องมีการเก็บและรวบรวมข้อมูลของชุมชน นำมาวิเคราะห์และประเมินปัญหาเพื่อจัดทำแผนชุมชนและกำหนดทิศทางวางแผนการทำงานในระยะต่อไป
- การระดมทรัพยากร ระดับ 4 สภาผู้นำชุมชนสามารถระดมทรัพยากรจากกลุ่มต่างๆภายในชุมชน มาใช้ทำงานโครงการได้ แนวทางการพัฒนา ในแต่ละปีสภาผู้นำชุมชนมีการปรับปรุงแผนชุมชนพึ่งตนเองที่สามารถระดมทรัพยากรทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
- การเชื่อมโยงกับองค์กร/ชุมชนอื่น ระดับ 4 ชุมชนมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกมีเพื่อการพัฒนาชุมชนในแต่ละด้านเพิ่มมากขึ้น เช่น การขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบล การจัดทำโครงการด้านสุขภาพเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช.และ รพ.สต. ในพื้นที่ การขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่มีอบรมให้ความรู้ เป็นต้นแนวทางการพัฒนาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ขอความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานราชการ กลุ่มองค์กร ภาคีเครือข่ายให้มีความสอดคล้องเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนในแต่ละด้านตามแผนชุมชนให้มากขึ้น
- การตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ (การถามว่าทำไม) ระดับ 4 การประชุมสภาผู้นำชุมชนมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของชุมชน มีการสอบถามถึงสาเหตุของปัญหา “ทำไมถึงเกิดปัญหานี้ขึ้น” ในที่ประชุมหรือวงนอกประชุมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง และ”เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง”เช่น ทำไมไม่เริ่มต้นการแก้ไขปัญหาจากตัวบุคคลก่อน และแก้ไขปัญหาในภาพรวมของชุมชน และมีการแย้งคำตอบได้ด้วยเหตุผลและข้อมูลแนวทางการพัฒนา เสริมเพิ่มทักษะการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตั้งคำถามว่าทำไมในการประชุม
- ความสัมพันธ์กับตัวแทนองค์กรภายนอก (พี่เลี้ยง) ระดับ 5 ในการประชุมสภาผู้นำได้เชิญพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุมเป็นประจำในการดำเนินงานตามโครงการพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ตามความจำเป็น เช่น เมื่อเกิดปัญหาในการจัดกิจกรรมในชุมชนพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในเรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อทบทวนต้องการและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น แนวทางการพัฒนาทักษะขีดความสามารถการบริหารจัดการโครงการในทุกๆด้าน เช่น บริหารจัดการคน การบริหารเวลา การเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน บริหารงบประมาณ ต่างๆ การจัดกิจกรรมตามลำดับความสำคัญและความต้องการของชุมชนแนวทางการพัฒนา สภาผู้นำชุมชนร่วมกันตัดสินใจในการดำเนินโครงการตามแผนที่ได้วางไว้ร่วมกัน มีพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่สภาผู้นำชุมชน เพื่อให้สภาผู้นำชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาให้มีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้น
- การบริหารจัดการโครงการ ระดับ 5 ชุมชนสามารถดำเนินการโครงการและกิจกรรมได้เอง โดยมีการตัดสินใจวางแผนการทำงาน การทำงานอย่างบูรณาการกับกลุ่มต่างๆในชุมชนโดยพิจารณาใช้ทุนที่มีในชุมชนก่อนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินร่วมกัน เมื่อมีปัญหาอุปสรรคจะขอคำปรึกษาจากพี่เลี้ยง เช่น การวางแผนการจัดกิจกรรม มีการเชื่อมโยงกับบุคคลหรือหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องแนวทางการพัฒนา การประสานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานฝึกทักษะ ให้สภาผู้นำชุมชนมีความรับผิดชอบและบริหารจัดการโครงการได้อย่างเป็นอิสระจากพี่เลี้ยงในทุกๆด้าน
จุดอ่อนที่ชุมชนต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยมีสภาผู้นำชุมชนเป็นแกนนำในการทำงาน และเป็นตัวขับเคลื่อนให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ซึ่งมีจุดอ่อนที่ควรต้องมีการพัฒนา ได้แก่
- การประชุมและประชาสัมพันธ์การดำเนินงานและขับเคลื่อนงาน เพื่อนำเสนอข่าวสารต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้รับทราบ เกิดความเข้าใจเป็นประจำทุกเดือน
- การส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมพัฒนา มีการยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการมีส่วนร่วม
- การเสริมสร้างความรู้แก่สภาผู้นำชุมชน และคนในชุมชนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อยู่เป็นประจำ เพิ่มทักษะอย่างไม่รู้จบ
ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ สังคม และนำไปสู่การสร้างชุมชนให้น่าอยู่ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชุมชนใกล้เคียง และจะเป็นก้าวต่อไปที่จะนำไปสู่การเป็นชุมชนตัวอย่างต่อไป