โครงการรวมพลังคัดขยะ บ้านพญาไพรเล่าจอ จ.เชียงราย
โครงการรวมพลังคัดขยะ เป็นโครงการของกลุ่ม ชาวดอย ชาวดอย ซึ่งเป็นเยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับขยะมูลฝอยในพื้นที่ชุมชนของตนเองที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกต้องและกลายเป็นปัญหามลพิษ ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษในดิน รวมไปถึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรคและเป็นภูมิทัศน์ที่ดูไม่น่าอยู่อาศัย ทางกลุ่มจึงต้องการปรับปรุงพฤติกรรมการจัดการขยะของชุมชนโดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้และปรับพฤติกรรมการจัดการขยะในเด็กและเยาวชนในความดูแลของคริสตจักรบ้านพญาไพร เพื่อนำร่องไปสู่การร่วมกันสร้างชุมชนที่สะอาดและเพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนในชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการที่ชุมชนห่างไกลจากสถานบริการสาธารณสุขที่ครบครันสมาชิกในชุมชนส่วนมากเป็นชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพมากนัก อีกทั้งพื้นที่ชุมชนดังกล่าวยังค่อนข้างมีความซับซ้อนและมีความเปราะบางสูง เนื่องจากมักจะมีผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาพักอาศัยก่อนจะโยกย้ายไปที่อื่นอยู่เป็นประจำอีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นของโครงการ แกนนำกลุ่มยังไม่ได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้องมากนัก แต่เมื่อผ่านการอบรมพัฒนาความรู้เบื้องต้น และการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนแกนนำแต่ละคนต่างก็มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการคัดแยกขยะมากขึ้น ซึ่งเพียงพอกับการจัดการขยะก่อนส่งต่อไปให้หน่วยงานจัดการขยะในลำดับถัดไป โดยในการจัดทำโครงการครั้งนี้ ทักษะหนึ่งของแกนนำที่ถูกพัฒนาขึ้นคือทักษะในการส่งต่อองค์ความรู้และการสร้างความร่วมมือในการจัดการขยะในชุมชนโดยแกนนำทุกคนสามารถสื่อสารความคิดเห็นของตนเองได้อย่างชัดเจน สามารถเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอที่แตกต่างได้โดยไม่มีการปิดกั้นหรือแบ่งพรรคแบ่งพวก อีกทั้งแกนนำยังสามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนในชุมชนก่อนหน้าการจัดทำโครงการ พวกเขาก็ไม่ได้สนใจและไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการคัดแยกขยะมาก่อน แต่หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ พวกเขาก็สามารถเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะ รวมไปถึงสามารถชักชวนให้คนในครอบครัวเริ่มแยกขยะก่อนทิ้งได้
ส่วนของชุมชนจะพบว่า เมื่อในพื้นที่ชุมชนและในแต่ละครัวเรือนมีถังขยะแบบแยกประเภท รวมไปถึงมีการอบรมให้ความรู้และการรณรงค์เรื่องแยกขยะของกลุ่มชาวดอย ชาวดอย ปัญหาขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกต้องในพื้นที่ชุมชนมีการลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากคนในชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและถูกกระตุ้นด้วยการกระตือรือร้นของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามการปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะไม่ใช่เรื่องที่จะทำแล้วจบลงไป หากแต่ยังคงจำเป็นต้องมีการดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการจัดการขยะอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมไปถึงต้องมีการสนับสนุน การพัฒนา และการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนในชุมชนซึมซับพฤติกรรมการจัดการขยะอย่างถูกต้องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะนิสัยและวิถีชีวิต
หนึ่งในการจัดกิจกรรมสำคัญของโครงการคือการจัดอบรมเกี่ยวกับการแยกขยะ รวมไปถึงข้อดีของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงผลดีต่อการส่งขยะที่คัดแยกแล้วอย่างถูกต้องให้กับหน่วยงานที่จัดการขยะในลำดับถัดไป กิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือการผลิตถังขยะแบบแยกประเภทอย่างง่ายซึ่งยังไม่เคยมีในชุมชน โดยถังขยะในกิจกรรมได้รับความสนใจและการรับแนวคิดไปปฏิบัติเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นถังขยะที่สามารถทำเองได้ง่ายในครัวเรือนและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง หลังจากนั้นทางกลุ่มได้จัดกิจกรรม “เท แยก ทิ้ง” ซึ่งเป็นกิจกรรมการลงไปเก็บขยะที่ถูกจัดการอย่างไม่เหมาะสมหรือถูกทิ้งเรี่ยราดในพื้นที่ของชุมชนมากองรวมกัน จากนั้นผู้เข้าร่วมจะแบ่งกลุ่มตามขยะประเภทต่าง ๆ และทำการคัดแยกขยะและจัดการตามวิธีการของขยะแต่ละประเภท ในแต่ละกิจกรรม แกนนำไม่เพียงแต่เข้าร่วมในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรม หากแต่ค่อยพูดคุยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดแยกขยะให้แก่ผู้เข้าร่วม โดยผู้เข้าร่วม ส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชน ต่างก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะในครัวเรือนและนำไปปฏิบัติที่บ้านของตนเอง รวมไปถึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนมากขึ้นผ่านการทำกิจกรรมในชุมชนเพื่อชุมชนของตนเอง
โครงการรวมพลังคัดขยะของกลุ่ม ชาวดอย ชาวดอย ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในผลลัพธ์เชิงรูปธรรม โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในโครงการรวมพลังคัดขยะของกลุ่ม ชาวดอย ชาวดอย คือ การที่ผู้นำชุมชนให้ความสำคัญและสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชน เนื่องจากผู้นำชุมชนเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก และคนในชุมชนต่างก็ให้ความเคารพในตัวผู้นำ เมื่อผู้นำชุมชนขอความร่วมมือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้ แต่ละครัวเรือนจึงให้ความร่วมมือกับการทำกิจกรรมเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น การสร้างถังขยะแบบแยกประเภทในแต่ละครัวเรือน รวมไปถึงการจัดการขยะและการพยายามแยกขยะตามประเภท
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชุมชน หมู่ 6 ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ใกล้รอยต่อระหว่างประเทศส่งผลให้มีครอบครัวจากประเทศเพื่อนบ้านลี้ภัยเข้ามาในพื้นที่เป็นประจำ ทั้งแบบ ที่ถูกฎหมายและผิดกฎหมาย ดังนั้นแล้ว เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนจำนวนหนึ่งจึงไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย ไม่มีสิทธิและโอกาสในการศึกษาหรือการรับสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐไทย การเวียนกันเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ การทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ อาทิ กิจกรรมให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงจากขยะและการจัดการขยะ กิจกรรมทำความสะอาดชุมชนครั้งใหญ่ตามวาระ ตามฤดูกาลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจากขยะ จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในการจัดการขยะที่ถูกต้องและเพื่อไม่ให้คนทุกช่วงวัยในชุมชนกลับมามีพฤติกรรมปล่อยปะละเลยการจัดการขยะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจกลายเป็นโรคระบาดในชุมชนได้ รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่ข้อตกลงร่วมและระเบียบชุมชน