โครงการ การลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนบ้านหัวน้ำ ตำบลแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

สรุปสาระสำคัญ

เป็นโครงการที่ดำเนินการเรื่องการงดเลี้ยงเหล้าในงานศพและงานบุญงานประเพณี โดยชูประเด็นเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบลแม่มอก และในโครงการยังทำเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชน ด้วยการเปิดรับผู้สมัครใจลดการดื่มให้เข้าร่วม และมี อสม. 15 คนซึ่งเป็นคณะทำงานคอยติดตามสังเกตพฤติกรรม ทำให้ในท้ายโครงการมีผู้ลดการดื่มต่อเนื่องได้จำนวน 64 คนและสามารถลดได้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1.  การกำหนดกติกาชุมชนเกี่ยวกับการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณี ต้องให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คนในชุมชนและเจ้าภาพ ที่สามารถทำได้จริง โดยขอบเขตพฤติกรรมที่สำคัญในกติกาชุมชนคือ การไม่มีการเลี้ยงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่จัดงานบุญประเพณี และการดื่มในช่วงเวลางาน ผู้ดื่มต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่คนอื่น ๆ ในชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องเลิกการดื่มและการเลี้ยงที่เคยทำมาทั้งหมด ซึ่งอาจจะถูกต่อต้านและไม่ได้รับความร่วมมือ จะทำให้โครงการฯ ยังสามารถรักษาเป้าหมายการทำงานไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นพอที่คนในชุมชนจะสามารถปฏิบัติได้จริง

2.  การเห็นประโยชน์ทันทีของการลดการเลี้ยงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงและการดื่ม ทั้งผลของค่าใช้จ่ายที่ลดลงมากจากการงดเลี้ยงเครื่องดื่มฯ ความดันโลหิตที่ลดลงจากการลดการดื่ม ที่ทำให้เจ้าภาพงานบุญ และผู้ดื่มสุรา เห็นผลทันทีจากการปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดการลดทั้งตัวผู้เกี่ยวข้อง และการทำตามอย่างของคนอื่น ๆ ดังนั้นการทำกิจกรรมลดการเลี้ยงและการดื่ม จึงควรให้น้ำหนักกับการทำกิจกรรมที่สามารถแสดงให้เห็นผลจากการปฏิบัติโดยเร็วให้มากขึ้น กว่ากิจกรรมที่เห็นผลการปฏิบัติที่ช้า

3.  ความสำเร็จแรกกระตุ้นพฤติกรรมทำตามแบบได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับงานแรกที่เริ่มต้นในฐานะที่เป็น “งานต้นแบบ” เช่นในโครงการฯ นี้ ที่แรกเริ่มเจ้าภาพไม่มีความมั่นใจในการดำเนินการ คณะทำงานโครงการฯ จึงต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทุกรูปแบบเพื่อให้งานสำเร็จ และแสดง “ผลดี” ที่เกิดขึ้นจากการลดการเลี้ยงและการดื่มในงานนั้น ให้ทั้งเจ้าภาพและชุมชนเห็นโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ลดลง และความสงบเรียบร้อยในระหว่างการจัดงาน ซึ่งจะทำให้งานบุญอื่น ๆ ที่ตามมา ทั้งงานส่วนบุคคลและงานของชุมชน ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนง่ายขึ้น ทั้งทำให้เห็นว่า กติกาชุมชนที่ร่วมกันกำหนดไว้ สามารถทำได้จริงไม่ยากจนเกินไป

4.  เริ่มต้นด้วยงานบุญประเพณีที่มีแนวโน้มจะนำความสำเร็จในการทำงาน มีแนวทางการเลือกที่สำคัญ คือ เป็นงานที่เจ้าภาพ (1) มีค่าใช้จ่ายสูง และ (2) มีปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการลดการเลี้ยงและการดื่มจะช่วยลดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายได้มาก และเป็นทางออกให้กับเจ้าภาพโดยไม่กระทบภาพลักษณ์ทางสังคม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ