ใช้ความ“พอเพียง” เอาชนะความยากจนที่ “ชุมชนพรุสมภาร”

ใช้ความ“พอเพียง” เอาชนะความยากจนที่ “ชุมชนพรุสมภาร”

สร้างชุมชนเข้มแข็ง-พึ่งพาตนเอง ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา”

ความยากจนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทุกด้าน ตั้งแต่การดำเนินชีวิต ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การต่อสู้กับความยากจนจึงเป็นปัญหาที่หนักใจสำหรับทุกๆ ฝ่ายเสมอมา ซึ่งความยากจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและด้อยโอกาสในด้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปัญหาปัจจัยสี่ โอกาสทางการศึกษา โอกาสทางสังคม เกิดปัญหาสุขภาพ และเข้าไม่ถึงหลักประกันต่างๆ ที่ควรได้รับ นอกจากนั้นความยากจนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมใหญ่ๆ สองประการนั่นก็คือการลักขโมยและปัญหายาเสพติด

เราพบปัญหาความยากจนได้ในทุกชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนนั้นไม่ใช่โจทย์ง่าย เพราะการยกระดับให้ชุมชนและท้องถิ่นให้ น่าอยู่ ปลอดภัย สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกฝ่ายและทุกด้าน

ที่ บ้านพรุสมภาร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็น ชุมชนมุสลิมวิถีเกษตรบนเกาะภูเก็ต  ที่ไม่แตกต่างกับชุมชนวิถีชนบททั่วไป เพราะเมื่อชาวบ้านมีรายได้ลดลง เนื่องจากราคาผลผลิตจากอาชีพหลัก (ยางพารา)ตกต่ำ พ่อแม่ต้องออกไปหางานทำในเมือง ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้สูงวัย ซึ่งไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้อย่างทั่วถึง เป็นช่องว่างให้เยาวชนติดเกม ขาดเรียน และรวมกลุ่มกันสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การติดยาเสพติดชนิดอื่นๆ ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น และเมื่อชาวบ้านยังในปัจจุบันมีปัญหาด้านเศรษฐกิจก็จะมุ่งเน้นในประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงละเลยการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรัง

ปัญหาต่างๆ ของชุมชนบ้านพรุสมภารถูกหยิบยกขึ้นมามองจากภายใน เพื่อเป็นการแก้ที่จุดเริ่มต้นของปัญหา คนในชุมชนจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องช่วยกันแก้ปัญหารายได้ต่ำให้กับชุมชนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งโชคดีที่ประเทศไทยมีหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแสงส่องทาง ชาวบ้านจึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ปัญหาโดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนรู้จัก พอประมาณ มีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน

“เริ่มจากเราเน้นเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน เลี้ยงไข่ไก่อารมณ์ดี เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ เริ่มด้วยการทำกิจกรรม  3 อย่างนี้ พอชาวบ้านลองทำ คนที่ไปทำแล้วได้ผลแล้วมีผลงานออกมาน่าพอใจ คนอื่นก็สนใจทำตาม ” พันธุ์หอม เนาว์ไพร กรรมการหมู่บ้าน เล่าถึงจุดเริ่มการทำงาน

จากองค์ความรู้ในท้องถิ่นโดยปราชญ์และผู้นำชุมชน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านพรุสมภารจึงได้จัดทำ “โครงการเกษตรพอเพียงตามวิถีชุมชนบ้านพรุสมภาร” โดยเริ่มจากการทำบัญชีครัวเรือน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร เมื่อเหลือกินเหลือใช้ก็ขายเป็นรายได้ โดยเน้นการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ แหล่งโปรตีนโตเร็วต้นทุนต่ำที่เลี้ยงง่ายมาก เลี้ยงไก่พื้นบ้านที่ได้ทั้งเนื้อและไข่ และปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ที่ให้ผลผลิตสูงขายได้ราคาดี จึงมีคนในชุมชนให้ความสนใจและหันมาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น

และยังได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาช่วยสร้าง กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำ ทำให้สามารถสรรหารูปแบบการจัดการได้อย่างเป็นระบบ และพัฒนาได้มากขึ้นไปอีก โดยมองไปที่เด็กและเยาวชน ต่อยอดไปทั้งการได้เรียนรู้สร้างอาชีพ และดึงเด็กให้ห่างออกจากความประพฤติที่ไม่เหมาะสม

“เราเอาเด็กเข้ามาเป็นส่วนร่วม วัตถุประสงค์คือ หนึ่ง เราส่งเสริมให้เขามีอาชีพ ให้เขารู้ ให้เขาได้ห่างไกลจากยาเสพติด ตรงนี้เราใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาตามแนวทาง ตามแนวคิด เดินตามรอยพ่อ เปลี่ยนเป้าหมายจากผู้ใหญ่มาเป็นเด็ก เพราะเด็กเติบโตขึ้นไปทุกวัน ต่อไปก็เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน สอนลูกหลานต่อไป เรามาสอนให้เขาทำตามที่เราทำอยู่ด้วยการให้เด็กมามีส่วนร่วม คือผู้ใหญ่เดินหน้า แนะนำเด็กให้เดินตามทุกอย่างที่เราทำในชุมชน ทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มมะนาวในวงบ่อ กลุ่มเลี้ยงปลากระชัง กลุ่มเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์” ไกรสร พันธ์ทิพย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านพรุสมภาร อธิบาย

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุความยากจนด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น พร้อมๆ กับการสร้างกิจกรรมดึงให้เด็กและเยาวชนเข้ามาใกล้ชิดผู้ใหญ่ขึ้นทำให้ความเสี่ยงด้านปัญหายาเสพติดลงลงไปอย่างมาก และสามารถเข้าถึงเด็กได้มากขึ้นด้วย ซึ่งการดึงเด็กมามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เป็นการต่อยอดกำดำเนินงานที่ได้ผลเป็นอย่างมาก พันธุ์หอม เนาว์ไพร  และกลุ่มผู้นำชุมชนจึงตกลงกันที่จะขอรับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อทำโครงการเกี่ยวกับเด็กต่อเนื่องไปอีก

“จากที่เราทำงานกับเยาวชนจัดกลุ่มเป็นยุวชนเกษตร เราคัด ประมาณ 30-40 คน ในกลุ่มยุวชนเกษตร ทำโครงการต่อเนื่อง บางคนไปเล่นกีฬา ไปเล่นฟุตบอล อย่างปีที่แล้วเราก็สอนฟุตบอลไปด้วย มีเปตองด้วย และร้องอัลนาเชร เด็กกลุ่มนี้ตอนนี้เขาเริ่มที่จะเข้ามาหาผู้ใหญ่มากขึ้น ก็คือเข้ามาพูดคุยโดยที่เขาไม่ต้องกลัวเรา ก่อนหน้านี้เขายังเกรงเรา ยังกลัวว่าการที่มาพูดคุยกับเราจะถูกด่าว่ากล่าว แต่ตอนนี้มีการพูดคุยกันได้รู้วิถีชีวิตเขามากขึ้น  ได้เข้าใจเขาด้วย ว่าเขาต้องการอะไรกัน  จริงๆ กิจกรรมของโครงการปีนี้ก็คือมาจากสิ่งที่เขาอยากได้ในปีที่แล้ว ก็เลยมาคุยกันกับกรรมการ กับสภาผู้นำว่าเด็กเขาอยากได้อย่างนี้ เราก็จัดสรรให้เขาได้ในระดับหนึ่ง” พันธุ์หอม เล่าถึงการดำเนินงานต่างๆ กับเด็กและเยาวชน

นอกจาก “อัลนาเชร” กิจกรรมการขับร้องตามแบบมุสลิมที่เด็กๆ ให้ความสนใจแล้ว องค์ความรู้เรื่อง “การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี” ซึ่งเป็นจุดเด่นมากของกิจกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของบ้านพรุสมภารก็เป็นสิ่งที่เด็กๆ ให้ความสนใจมาก เพราะนอกจากความสนุกในการเลี้ยงแล้ว ไก่ทั้งไข่และเนื้อเป็นอาหารที่อร่อย ทุกคนชอบ และเป็นรายได้ที่ดีมากจากความต้องการทั้งในชุมชนเองและจากตลาดภายนอก

พรศรี จันทร์ดี หนึ่งในผู้นำกลุ่มเลี้ยงไก่ฯ เล่าว่า จากการเริ่มเลี้ยงไก่ไข่เพราะอยากให้ลูกได้กินไข่ออร์แกนิกส์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยได้ข้อมูลจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ทและปรึกษากับปราชญ์ในชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ในหมู่บ้านประสบความสำเร็จโดยสามารถคัดสายพันธุ์ไก่ที่เหมาะสมที่จะเลี้ยงในชุมชนได้ เป็นไก่สายพันธุ์โตเร็ว เนื้อดีและให้ไข่ดก โดยที่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่จะมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันตลอด

“ส่วนใหญ่เราก็จะมาปรึกษาหารือ พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน บางช่วงที่ไก่มีปัญหามีโรคโน่นนี่นั่น เยอะ เราก็เชิญเกษตรอำเภอมาพูดคุยว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร” พรศรี ระบุ

การได้เห็น น้องจาจ๊ะ เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.4 เดินเคียงคู่ไปกับ แม่พรศรี จันทร์ดี ช่วยกันเลี้ยงปลาดุก เก็บไข่ไก่ หาลูกมะนาวสุก หรือภาพของ พันธุ์หอม เนาว์ไพร แกนนำคนสำคัญของชุมชน พาเด็กๆ มาเรียนรู้ในฟาร์มของเธอที่สืบทอดจากพ่อ ถัดออกไป ร้านขายสินค้าของชุมชน มีนมแพะของจากฟาร์มของพันธุ์หอม มีไข่และมะนาวจากไร่ของน้องจาจ๊ะขายในราคามิตรภาพในชุมชน

ภาพที่เห็นเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างความอุ่นใจได้ว่า การสืบต่อทั้งอาชีพเกษตรกรรมบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากรุ่นสู่รุ่นของชุมชนในวันนี้ จะทำให้บ้านพรุสมภารเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยความพอเพียงอย่างยั่งยืน.

Shares:
QR Code :
QR Code