“กระดานดำ”นวัตกรรมสร้างสุข สนุกได้ทุกวัยที่ “รร.บ้านตืองอ”

“กระดานดำ”นวัตกรรมสร้างสุข สนุกได้ทุกวัยที่ “รร.บ้านตืองอ”

สานสัมพันธ์ “บ้าน-โรงเรียน-ชุมชน” ด้วยการเรียนรู้ “ภาษาไทย”

คำว่า “นวัตกรรม : Innovation” ในความคิดของคนส่วนใหญ่คือเทคโนโลยีทันสมัยไฮเทค แต่ในความจริงแล้ว เทคโนโลยีล้าหลังของบางพื้นที่อาจจะเป็นนวัตกรรมที่ดีในบางพื้นที่ก็เป็นได้ เช่นที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์13 อำเภอสุคิริน ชายแดนจังหวัดนราธิวาส ที่นั่นสามารถใช้ชอล์คและกระดานดำแก้ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างดี

บ้านตืองอ เป็นอีกชุมชนในชนบทชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลักในการสื่อสาร เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่จากชายทะเลแถบหนองจิก ปานาเระ สายบุรี ขึ้นมาบุกเบิกทำมาหากินตั้งแต่เมื่อราว 50 ปีก่อน โดยประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และรับจ้างทั่วไป ด้วยสภาพหนทางที่ทุรกันดารจึงมีการตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอฯ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในพื้นที่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ที่เปิดการสอนเป็นต้นมา โรงเรียน ตชด. บ้านตืองอฯ ก็ได้จัดการเรียนการสอนเน้นการอ่านเขียนภาษาไทยและการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงตามโครงการพระราชดำริโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารหลายครั้ง ซึ่งก็ได้ผลดีน่าพอใจมาก แต่อย่างไร ปัญหาด้านการเขียนอ่านภาษาไทยสำหรับนักเรียนก็ยังต้องการความใส่ใจอย่างใกล้ชิด

“การเรียนภาษาไทยในชุมชนมุสลิมก็เหมือนการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กพื้นที่อื่น แต่ยากกว่ามาก เพราะภาษาอาหรับมีสระน้อยกว่า ออกเสียงง่ายกว่าภาษาไทยมาก และตัวอักษรก็เขียนกลับด้านกับภาษาไทยคือเริ่มจากขวาไปซ้ายตรงกันข้ามกัน ดังนั้นเมื่อเด็กเขียนภาษาไทย มักจะเขียนถอยหลัง” ส.ต.ท.ดัตช์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูผู้สอนของโรงเรียนบ้านตืองอฯ อธิบาย

เป็นที่แน่นอนว่าการฝึกอ่านเขียนภาษาไทยบ่อยๆ คือวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งโรงเรียนบ้านตืองอฯ ก็สอนการอ่านเขียนภาษาไทยตามแบบการสอนเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ด้วยการแจกลูกสะกด หัดอ่านและเขียนไปพร้อมๆ กัน แต่ ครูดัตช์พบปัญหาบางอย่างในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก

“เสียเวลาเรียนไปมากมายกับการเหลาดินสอ ผมพยายามแก้ปัญหาโดยการเหลาดินสอเตรียมไว้ก่อนชั่วโมงเรียนมากๆ แต่ก็ยังเสียเวลาเพราะเด็กๆ มักจะทำดินสอหักตอนเขียน” ครูดัตช์อธิบาย

ปัญหาดินสอหักอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ในความจริงแล้วคือปัญหาทางด้านพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือสำหรับการเขียนในเด็กโดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน คณะครูจึงแก้ปัญหาโดยใช้ “ชอล์ค” และ “กระดานดำ” มาให้เด็กเขียนแทน ซึ่งชอล์คและกระดานมีขนาดใหญ่ เขียนตัวอักษรได้ขนาดใหญ่ จับถือง่ายและมีแรงฝืดในการเขียนพอเหมาะ เด็กสามารถเขียนได้คล่องมือมากกว่าการใช้กระดาษและดินสอ

“ชอล์คมีหลายสี สีของชอล์คก็มีผลมากเพราะสามารถเร้าความสนใจให้เด็กมากขึ้น และยังสามารถบูรณาการกระดานและชอล์คไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาอื่นๆ เช่นการสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือศิลปะได้อย่างดี” ครูดัตช์อธิบาย

ด้วยข้อดีของชอล์คและกระดานดำในการสอนภาษาไทยในโรงเรียนบ้านตืองอฯ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์นวัตกรรม สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะครูโรงเรียนบ้านตืองอฯ ได้พัฒนาชอล์คและกระดานดำเป็นนวัตกรรมให้เป็นกระดานดำส่วนตัว ในชื่อ โครงการสร้างเสริมความรู้ภาษาไทยเด็กด้อยโอกาสเรียนรู้ เพื่อฝึกการอ่านเขียนสะกดคำให้กับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

“เราพัฒนาต่อเนื่อง กระดานดำขนาดใหญ่นอกจากช่วยให้เขียนง่ายแล้ว ตัวอักษรขนาดใหญ่ทำให้เพิ่มความจำและกระตุ้นความสนใจได้ดี นอกจากนั้นเราส่งเสริมให้ผู้ปกครองมาเรียนรู้ด้วยกัน ได้รู้วิธีช่วยเหลือดูแล ช่วยสอนอ่านเขียนเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ช่วยให้เกิดผลดีอย่างรวดเร็ว” ร.ต.ท.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านตืองอฯ เล่าให้ฟังถึงการทำงานขยายผลกระดานดำของคณะครูในโรงเรียนด้วยการให้เด็กนักเรียนทุกคนมีกระดานดำส่วนตัวทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อใช้ทบทวนความรู้ร่วมกับผู้ปกครอง

“ได้กลับมาเขียนภาษาไทยแล้วรู้สึกดีมาก ได้ทบทวนและพัฒนาความรู้ และดีใจที่ลูกเขียนอ่านได้ดีมากขึ้น” มารือณี แวหะมะ แม่ของ ด.ญ.ฮาบีบี วานิ นักเรียนชั้น ป. 4 ผู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้อ่านเขียนร่วมกับลูกที่จัดโดยคณะครูโรงเรียนบ้านตืองอฯ หลายครั้งเล่าให้ฟังอีกว่า โดยปกติไม่ได้ใช้ภาษาไทยกับลูก แต่กิจกรรมการทบทวนความรู้ด้วยกระดานดำทำให้ได้พูดคุยกับลูกเป็นภาษาไทยมากขึ้นกว่าเดิม

“กระดานดำใช้ง่ายเขียนง่าย เขียนได้ตัวโตๆ ผู้ปกครองไม่ได้ใส่แว่นหรืออยู่ไกลๆ ก็อ่านได้สะดวก จึงสามารถตรวจการบ้านของเด็กและเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างดี” ครูใหญ่สุวิทย์อธิบายและ กล่าวเสริมแม้ว่ากระดานขนาดใหญ่จะเห็นได้ชัดและเขียนง่าย แต่เป็นปัญหากับเด็กเล็กอยู่บ้าง ดังนั้นทางโรงเรียนกำลังพัฒนากระดานดำขนาดเล็กเพื่อเด็กอนุบาลโดยเฉพาะ

ด้วยผลสำเร็จเชิงประจักษ์  โรงเรียนจึงขยายผลกระดานดำสู่นวัตกรรมครบทั้งกระบวนการโดยให้ผู้ปกครองนักเรียนเข้าร่วม กิจกรรมเรียนรู้ภาษาไทยร่วมกับนักเรียน ปีการศึกษาละ 6 ครั้งเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถสอนเสริมให้ลูกหลานได้อย่างถูกต้อง และตอกย้ำความรู้ภาษาไทยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เคยเรียนแล้วแต่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้ในชุมชนใช้ภาษาไทยมากขึ้นเพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารที่มากขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้ปกครองดีมาก การสื่อสารในสื่อออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งในเด็กและผู้ปกครอง จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร

กระดานดำกับชอล์ค สื่อการสอนง่ายๆ เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้เด็กและผู้ปกครองในชุมชนบ้านตืองอ ได้ทบทวนการใช้ภาษาไทยร่วมกัน สร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นระหว่างโรงเรียนและชุมชน สร้างความสุขในการเรียนภาษาไทย อันเป็นพื้นฐานในการสื่อสารและพัฒนาทักษะชีวิต อีกทั้งเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวจากการทำกิจกรรมร่วมกันของลูกหลานและผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ