กองทุนขยะ “บ้านปากแพรก”

กองทุนขยะ “บ้านปากแพรก”

เปลี่ยนของ “ไร้ค่า” ให้ “มีค่า”

ด้วยความที่เป็นชุมชนชาวสวน บ้านเรือนแต่ละหลังจึงถูกสร้างลึกเข้าไปในสวนใครสวนมัน  ทุกครอบครัวจึงเหมือนอาศัยห่างไกลกัน บางครั้งจึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ปัญหาขยะ และนี่คือสิ่งที่ชาวบ้านปากแพรก หมู่ 2 ต.ปากแพรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังเผชิญอยู่

ชุมชนขนาดเล็กจำนวน 150 ครัวเรือนของบ้านปากแพรก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวนมะพร้าว และผลไม้เป็นหลัก ถนนที่ผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของหมู่บ้านยังเป็นถนนเลียบชายทะเลที่สำคัญของการท่องเที่ยวอีกด้วย รถสัญจรไปมาก็มาก รถบางคันก็มักง่าย ขว้างขยะออกนอกรถ ทำให้ริมถนนเต็มไปด้วยขยะ

“เราอาศัยอยู่ในสวน บ้านเรือนแต่ละหลังจึงอยู่ห่างกันมาก รถขยะของ อบต.ก็เข้ามาจัดเก็บลำบาก ตอนนี้จะมาเก็บสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น ขยะจึงตกค้างในแต่ละครัวเยอะมาก ทั้งขยะแห้ง ขยะเปียก” นายจะเรวัต หอมหวล ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากแพรก เผยถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการ การจัดการขยะในชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อชักชวนคนในชุมชนหันมาคัดแยกขยะ และจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม

นายจะเรวัต กล่าวถึงการเริ่มดำเนินงานว่า อย่างแรกคือ จัดตั้งคณะกรรมการโครงการ และขอให้ อสม.เข้ามาร่วมขับเคลื่อน จากนั้นก็พาชาวบ้านไปดูงานการคัดแยกขยะที่ชุมชนตัวอย่าง กลับมาก็มาเริ่มทำการคัดแยกขยะบ้านใครบ้านมัน ที่ขายได้ก็คัดแยกไว้ ส่วนขยะเปียกพวกเศษผัก เศษอาหาร บ้านไหนที่เลี้ยงหมู่ก็เอาไปให้เป็นอาหาร หรือทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เอาไปใส่โคนต้นมะพร้าว มะพร้าวที่ได้ก็จะลูกโต เนื้อเยอะ หรือผลไม้ก็ได้ หรือจะเอาไปรดแปลงผักที่มีอยู่แทบจะทุกครัวเรือนก็ได้ ผักก็จะสวยงามมาก โดยจะส่งเสริมให้ทุกหลังคาเรือนได้ปลูกผักไว้กินเองเพื่อพึงพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนขยะอันตรายก็ให้เป็นหน้าที่ของ อบต. ดังนั้นจึงให้แต่ละหลังคาเรือนเหลือขยะที่ทิ้งลงถังให้น้อยที่สุด

“และจากการที่พื้นที่ของตำบลปากแพรก เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ทุกๆ ปี เราจะช่วยกันเก็บขยะที่ริมหาด ไม่ให้ชายหาดซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวเกิดความสกปรก” นายจะเรวัต กล่าว

เปลี่ยนขยะที่ดูไร้ค่าให้เป็นเงินฝากกับธนาคารขยะ และสามารถแปลงทุนการศึกษาสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของคนในชุมชน

ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากแพรก เผยในส่วนนี้ว่า หลังจากเราส่งเสริมให้ครัวเรือนคัดแยกขยะแล้ว ก็จจัดตั้งธนาคารขยะ ดำเนินงานเหมือนธนาคารการเงิน มีสมุดบัญชี ฝาก ถอน ได้ โดยให้แต่ละครัวเรือนนำขยะไปขายแล้วค่อยนำเงินมาฝากกับธนาคารขยะทักวันที่ 8 ของเดือน ใครจะเบิกจะถอนออกไปใช้จ่ายก็ได้ ไม่ห้าม เก็บเล็กผสมน้อยฝากทีละ 50 บาท 100 บาท ปัจจุบันมียอดเงินรวมแล้วจำนวน 29,800 บาท คนทั่วไปอาจจะมองว่าแค่เศษขยะ แต่พอสะสมเอามาขายแล้วมันเห็นเป็นตัวเงิน มันจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้าวรู้สึกอยากจะคัดแยกขยะ

นอกจากนี้แล้วแต่ละปีจะร่วมมือกันทั้งตำบลเพื่อ “ทอดผ้าป่าขยะ” นำเงินที่ได้มาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองไปได้บ้าง

ขณะที่ สายพิน วันดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านปากแพรก ในฐานะแกนนำคนสำคัญของโครงการ กล่าวว่า ของแบบนี้ไม่ต้องบังคับ อยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนที่จะช่วยกันทำ ถ้าปล่อยไว้เหมือนเดิม ขยะก็ล้นแล้วล้นอีก เป็นปัญหาไม่จบสิ้น ก็ได้แต่บ่นกันว่า ว่าเสียเงินแล้วรถทำไมยังไม่มาเก็บ ดังนั้นควรจัดการขยะด้วยตัวเองดีกว่า สร้างเตาเผาขยะไว้ใช้ในครัวเรือนด้วย ที่เหลือจากการคัดแยกก็เอามาทำลาย เผาทีละเล็กทีละน้อย ยังดีกว่าเอาไปกองรวมให้ อบต. ซึ่งยากต่อการจัดการและยังเป็นมลพิษไปกันใหญ่

ถึงตอนนี้มีครัวเรือนที่ร่วมคัดแยกขยะแล้วกว่า 70% ซึ่งแม้จะจบโครงการไปแล้ว แต่ก็จะส่งเสริมให้ชาวบ้านคัดแยกขยะต่อไป เพราะธนาคารขยะยังคงอยู่ และยังมีผ้าป่าขยะที่เป็นกิจกรรมของตำบลที่ต้องทำทุกๆ ปี

               ขยะหากมองผ่านแล้วเลยไป ก็คงจะไร้ค่าเช่นนั้น  แต่กับคนปากแพรก อ.บางสะพานน้อย  เลือกที่จะหยิบขึ้นมาเปลี่ยนเป็นเงิน แปลงเป็นประโยชน์  และเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ทุกคนหันมาแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจัง ดังนั้นขยะจะมีค่าหรือไร้ค่า จึงอยู่ที่ว่าใครเป็นคนมอง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ