การจัดการขยะในชุมชนบ้านบึงไทย
สรุปสาระสำคัญ
โครงการนี้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วย กลุ่ม อสม. ผู้นำชุมชน และกลุ่มแม่บ้าน เป็นแกนนำจัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมกันคัดแยกขยะ โดยมีการสำรวจข้อมูลขยะในชุมชน การอบรมให้ความรู้/แนะนำวิธีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปขาย และใช้ประโยชน์อื่น เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพ/ปุ๋ยหมัก การกำหนดกติกาที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน และใช้การเยี่ยมบ้านเป็นเครื่องมือติดตามผล กระตุ้นให้คนร่วมมือจัดการขยะ มีการจัดประกวดครัวเรือนต้นแบบโดยร่วมมือกับหมู่บ้านใกล้เคียงสลับกันเป็นกรรมการประเมินผล ทำให้เกิดการแข่งขัน เปรียบเทียบ และร่วมมือกันพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ผลที่ได้พบว่าทำให้ชาวบ้าน 68 ครัวเรือนมีการคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะถูกทิ้งลดลง สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านมีความสะอาด น่าอยู่มากขึ้น
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. มีคณะทำงานที่มีศักยภาพครอบคลุมภารกิจสำคัญโครงการ
2. ประสานงานขยะไปกับภารกิจปกติได้ โดยการแบ่งหน้าที่ทีมงานให้ชัดเจน
3. มีคนในตำบลที่รู้ดี มีฐานเรียนรู้ใกล้บ้าน
4. มีการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้ทีมงาน
5. มีการชื่นชม ให้กำลังใจต่อสาธารณะ
6. ทีมเยี่ยมบ้านและการเยี่ยมบ้าน เป็นกลไกสำคัญและกิจกรรมที่ลงทุนน้อย แต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานได้หลายด้าน ทั้งการสำรวจข้อมูล การติดตาม การสนับสนุนที่เจาะจงกับปัญหาเฉพาะ เช่น มีคนสนใจร่วมดำเนินการมาก แต่มีเวลาน้อย ไม่ตรงกับช่วงเวลาปกติของโครงการ ทีมเยี่ยมบ้านก็สามารถช่วยสนับสนุนในช่วงเวลาที่เขาว่างได้ เป็นต้น
7. การพัฒนาต้นแบบ มี 2 แนวทางสำคัญคือ คือแนวทางการประกวดแข่งขันกับคนอื่น และแนวทางการแข่งขันกับตัวเอง ที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงจุดดี จุดอ่อน และความเหมาะสมกับเป้าหมายของโครงการ ว่าต้องการต้นแบบไปเพื่ออะไร แม้จะอยู่ภายใต้เกณฑ์การพัฒนาเดียวกัน ซึ่งในเบื้องต้น ถ้าเพื่อการเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาต่อไปสู่การเป็นฐานเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ แนวทางการประกวดแข่งขันอาจจะมีความเหมาะสมกว่า แต่ถ้าต้องการส่งเสริมการปฏิบัติในวงกว้าง แนวทางการแข่งขันกับตัวเองน่าจะเหมาะสมกว่า