กิจกรรม “นาฏศิลป์” สร้างสุขที่ “โรงเรียนวัดสระแก้ว”
กิจกรรม “นาฏศิลป์” สร้างสุขที่ “โรงเรียนวัดสระแก้ว”
ร่วมสืบสานวัฒนธรรม-ตอบแทนสังคมด้วย “พลังจิตอาสา”
แม้จะเป็นโรงเรียนวัด แต่โรงเรียนวัดสระแก้ว (รุ่งโรจน์ธนกุล อุปถัมภ์) ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้การอุดหนุนของวัดสระแก้ว รับอุปการะดูแลเด็กกำพร้า ฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษามาช้านาน
ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 1,700 คน เป็นนักเรียนในพื้นที่ร้อยละ 20 ที่เหลืออีกร้อยละ 80 มาจากต่างถิ่น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาที่ส่งบุตรหลานมาพักอยู่ประจำในโรงเรียน ทำให้นอกจากใช้เวลาเรียนแล้ว ยังเหลือเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
จากแนวคิดในการใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนฝึกซ้อมรำไทยของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน เพื่อนำไปแสดงในงานของโรงเรียน ได้พัฒนามาเป็นโครงการ “จิตอาสาศิลป์สร้างสุข” หนึ่งใน “กิจกรรมสร้างสรรค์ แบ่งปันสุขภาวะที่ดีสู่เด็กและเยาวชนจังหวัดอ่างทอง” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม สร้างความสุขให้แก่ผู้ชมในวาระต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยสืบสานวัฒนธรรมผ่านการแสดงนาฏศิลป์ไปด้วย
นางสาวนลิน มีสวัสดิวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าโครงการเล่าว่า ในโรงเรียนมีเด็กกว่าร้อยละ 80 อยู่หอพัก เวลาว่างหลังเลิกเรียน จึงคิดหากิจกรรมให้รุ่นน้องได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงรวมกลุ่มแกนนำ 5 คน โดยมีครูนาฏศิลป์ในโรงเรียนมาสอน จากนั้นแกนนำก็นำความรู้พื้นฐานไปฝึกหัดให้กับสมาชิกอีกทอด ปัจจุบันมีน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 50 คน
“พวกเราอยู่ที่นี่ แต่ก่อนไม่มีกิจกรรมที่รวมกลุ่มพวกเราไว้ได้ บางคนก็อาจจะเล่นกีฬาบ้าง ทำการบ้านบ้าง ส่วนใหญ่ผู้ชายก็จะไปเล่นกีฬา ถ้าไม่มีการบ้านก็จะมีเวลาว่างมาก” นลินกล่าว
แกนนำนักเรียนยังบอกด้วยว่า การได้ทำกิจกรรมช่วยสร้างความมั่นใจในการแสดงออก แต่เมื่อได้รับการฝึกฝน มีความสามารถในด้านการแสดงนาฏศิลป์ ได้ออกไปแสดงในงานต่างๆ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ตนเองและรุ่นน้องที่ร่วมกิจกรรม และยังเป็นผลงานที่นำไปใช้ในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย
“อยากพัฒนาศักยภาพตัวเองไปเรื่อยๆ แม้จะเรียนจบแล้วก็อยากให้น้องๆ สืบสานทำโครงการต่อเนื่อง เพราะเกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถสร้างความสุขแก่ตัวเองและคนรอบข้างได้ และเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พวกเราค้นหาพัฒนาศักยภาพตัวเอง” แกนนำนักเรียนกล่าว
ทางด้าน เด็กหญิงสุพิดชญา บรรเลง แกนนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่าเสริมว่าแกนนำแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่เป็นกลุ่ม สอนรุ่นน้องทุกเย็นหลังเลิกเรียน เมื่อฝึกฝนจนสามารถแสดงได้แล้ว ก็จะมีกิจกรรมไม่ขาดสาย ทั้งการต้อนรับแขกที่มาทำบุญในวัดสระแก้ว มาเลี้ยงข้าวนักเรียน หรือมาบริจาคเงิน เพื่อเป็นการต้อนรับและขอบคุณผู้มาทำบุญในวัด รวมทั้งการเดินทางไปแสดงนอกโรงเรียน
“พวกเรามีความสุขที่ได้มารำ ได้ไปออกงาน ในชุมชน เราไม่ได้หวังเรื่องเงินไม่ได้เรียกร้อง แค่หวังว่าเขาจะประทับใจเรา ได้รับความบันเทิง ความสนุกสนาน ขณะที่ตัวเองได้รู้ตัวเองว่าถนัดด้านไหน ได้แสดงความสามารถด้านการรำ โดยส่วนตัวก็สามารถร้องลิเก เล่นลิเกได้ เพราะฝึกลิเกมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ได้ใช้ในการแสดงตามงานต่างๆ ด้วย” สุพิดชญา กล่าว
ขณะที่ นายศิริพงษ์ กรุธไทย ครูที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าว่าตนเองเดิมก็เคยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวัดสระแก้ว เคยเล่นลิเกของคณะโรงเรียน มีความรู้พื้นฐานด้านนาฏศิลป์อยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง เมื่อกลับมาเป็นครูเห็นว่ายังมีเวลาว่างที่สามารถให้เด็กมีกิจกรรมอื่นๆ ทำได้ จึงช่วยสนับสนุนเมื่อเด็กมาขอคำปรึกษา โดยมี ครูอุบลวรรณ กรุธไทย ซึ่งเรียนด้านนาฏศิลป์ เข้ามาช่วยด้านการฝึกสอน
“กิจกรรมนาฏศิลป์มาจากพื้นฐานความรู้เดิม เป็นความรักด้านนี้ของผมเอง ก็เริ่มออกแบบกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กนักเรียนได้ทำ ตอนแรกไม่ได้รับความสนใจเพราะวัฒนธรรมต่างกัน ส่วนใหญ่เด็กที่นี่เป็นชาวเขา จะฝึกร้องลิเกก็ไม่ได้เพราะออกเสียงไม่ชัด ต้องมาทางการแสดง การรำ อาศัยเด็กในท้องถิ่นที่เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนชักชวนกันมา จนรวมกลุ่มกันได้” ครูศิริพงษ์ กล่าว
ครูที่ปรึกษาโครงการเล่าว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชนภายใต้การอุปถัมภ์ของวัดสระแก้ว งบประมาณที่สนับสนุนโรงเรียนส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคทั้งในรูปแบบสิ่งของอุปโภค บริโภคและบริจาคเป็นเงิน และกิจกรรมเลี้ยงอาหารเด็ก จึงได้จัดการแสดง เพื่อต้อนรับและขอบคุณผู้เข้ามาทำบุญ และต่อมาได้ย้ายการแสดงไปสู่ภายนอกในวาระต่างๆ ที่ชุมชนจัดขึ้น รวมทั้งงานศพในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง
“แต่ก่อนคนเข้ามาทำบุญ เลี้ยงอาหารเด็กพอจบแล้วก็กลับกันไป เราจึงคิดว่าน่าจะมีการแสดงต้อนรับ ขอบคุณหรืออวยพร ก็มีการร้องลิเกบ้าง แหล่บ้าง รำบ้าง ตอนหลังก็มีคนในชุมชนอยากให้ไปรำในงานศพ วันสำคัญผู้ใหญ่จัดงานก็อยากให้ไปรำ เด็กๆ จึงมีกิจกรรมตลอด เราไม่ได้เรียกร้องอะไร เป็นงานจิตงานอาสา ทางเจ้าภาพก็มักจะให้ค่ารถ มีรางวัลให้เด็กบ้าง ก็นำไปซื้อชุด ซื้อเครื่องประดับมาทำ ส่วนหนึ่งก็เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ” ครูที่ปรึกษาโครงการกล่าว พร้อมย้ำว่า การนำเด็กไปแสดงภายนอกต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บริหาร ไม่ทำให้เสียการเรียนและจะเป็นผู้ดูแลด้วยตัวเองทุกครั้ง
จากจุดเริ่มต้นกิจกรรมในรั้วโรงเรียนของกลุ่มเยาวชนเพื่อตอบแทนน้ำใจแก่ผู้มีอุปการะคุณ ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนที่ยากไร้จากดอยสูง แม้จะมีวัฒนธรรมแตกต่างกันอยู่บ้างแต่เมื่อได้รับ