ค่ายละครสร้างสรรค์ ร.ร.วัดทำใหม่ เสริมทักษะ-เติมฝันให้เด็กข้ามชาติ
ค่ายละครสร้างสรรค์ ร.ร.วัดทำใหม่ เสริมทักษะ-เติมฝันให้เด็กข้ามชาติ
เด็กทุกคนมีสิทธิในการได้รับการศึกษาตามขั้นพื้นฐาน แต่กับเด็กบางกลุ่มกลับด้อยโอกาสทางการศึกษา อย่างเช่น กลุ่มเด็กข้ามชาติซึ่งอพยพมากับผู้ปกครองมาทำงานในประเทศไทย
การพูดไทยไม่ชัด เรียนล่าช้า อ่านเขียนไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจ ส่งผลต่อแรงจูงใจในการเรียน ทำให้เด็กกลุ่มดังกล่าวมีปัญหาในชั้นเรียนและมีพฤติกรรมที่อาจรุนแรงขึ้น ดังนั้นหลายโรงเรียนจึงไม่อยากรับเข้าเรียน ทำให้หลายคนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ที่โรงเรียนวัดทำใหม่ ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กทุกเชื้อชาติ เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาตนเอง อยู่ร่วมและทำประโยชน์ให้กับสังคมได้
“นักเรียนส่วนใหญ่ฐานะค่อนข้างยากจน หลายรายครอบครัวแตกแยก และครอบครัวของนักเรียนบางส่วนเป็นแรงงานกัมพูชา และพม่าที่ย้ายครอบครัวมาทำงานรับจ้างในประเทศไทย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาด้านการสื่อสารกับเพื่อนและครูเนื่องจากใช้ภาษาประจำชาติมานาน และเพิ่งเริ่มหัดเรียนภาษาไทย ขณะเดียวกันก็อายุมากกว่าเกณฑ์ตามระบบ ถามอะไรก็ไม่พูด เพราะอายจึงไม่กล้าจะสื่อสาร” นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการ ร.ร.วัดทำใหม่ เผยสภาพปัญหาของนักเรียนและเชื่อว่าอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การไม่มีเวทีหรือกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาบ่อยครั้ง
ดังนั้นทางโรงเรียนจึงได้จัดทำโครงการการส่งเสริมทักษะทางสังคมของเด็กข้ามชาติ โรงเรียนวัดทำใหม่ บางปะอิน โดยการใช้ค่ายละครสร้างสรรค์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ผอ.ร.ร.วัดทำใหม่ เล่าถึงที่มาของกิจกรรมนี้ว่า โดยส่วนตัวเรียนจิตวิทยาสำหรับบุคคลที่ต้องการพิเศษ และสนใจเรื่องของละครบำบัด จึงอยากนำเอากระบวนการละครมาปรับใช้ โดยเลือกที่จะใช้ละครสร้างสรรค์เพื่อให้เด็กได้กล้าคิด กล้าแสดงออก เพราะว่าถ้าใช้วิชาการก็จะไม่ได้ผล แต่กับละครเขาน่าจะสนุก เพราะไม่เคยมีโอกาสทำแบบนี้มาก่อน
กิจกรรมจัดขึ้น 3 วันในช่วงปิดเทอม โดยเชิญวิทยากรด้านการละครเวทีมาออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้ร่วมสนุก วันแรก คือ กิจกรรมละลายพฤติกรรม เช่น เกมการละเล่น หรือให้นักเรียนที่เข้าร่วมทั้ง 30 คนแนะนำชื่อพร้อมแสดงท่าทางประกอบ ซึ่งเป้าหมายคือ การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง และเหมือนการสอนแอคติ้งให้กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าแสดงตัวตน ช่วงแรกก็มีเขินๆ กันบ้าง วันต่อมาเด็กเริ่มสบายใจ มีความกล้ามากขึ้น จากนั้นจับกลุ่มพร้อมตั้งชื่อและมีท่าทางประกอบเพลงประจำกลุ่ม
สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน ค่อยๆ เผยออกมาภายใต้หน้ากาก
กิจกรรมทำหน้ากากที่ตัวเองชอบและอยากเป็น ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ตัวเด็กเก็บไว้ข้างใน โดยนางอำไพพิศ เชื่อว่า ข้อมูลบางเรื่องพูดตรงๆ เขาไม่อยากเล่า แต่ถ้าผ่านหน้ากากบังไว้ บางเรื่องที่ติดอยู่ในใจเขาจะพูดออกมาได้ ซึ่งหน้ากากเป็นเครื่อมือช่วยให้เรารู้ความนึกคิดของตัวเด็ก เราไม่มีบทละครให้ ต้องเล่นสดจากชีวิตของเขา แน่นอนที่เขาพูด คือ สิ่งที่มาจากชีวิตของเขามาผูกเป็นละคร
จากนั้นทุกคนจะต้องแสดงละครร่วมกันในกลุ่มกับบทบาทหน้ากากของตัวเอง ต้องผูกโยงมาเป็นเรื่องเดียวกันให้ได้ โดยทุกคนต้องมีบทแสดงตามความสามารถของช่วงวัย
กระบวนการกลุ่มโดยใช้ละคร จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างตัวเด็กด้วยกันเอง ฝึกให้เด็กได้ยอมรับและแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยมุมมองเชิงบวก พัฒนาระบบความคิด สร้างความมั่นใจและแรงจูงใจในการทำกิจกรรม รู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีทักษะสังคมในชีวิตประจำวันดีขึ้น
“อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักในการเปิดรับเด็กข้ามชาติเข้าเรียนร่วม แต่ถ้าเราส่งเสริมเขาจนสามารถปรับตัวได้แล้ว เด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพหรือทักษะชีวิตดีกว่าเด็กไทยบางคนด้วยซ้ำ และเชื่อว่าการศึกษาและการสร้างพฤติกรรมที่ดีจะทำให้เขาเป็นคนดี รู้จักคิดเป็น โตไปจะไม่เป็นปัญหาของของชุมชนอย่างแน่นอน”ผอ.ร.ร.วัดทำใหม่ กล่าว
นอกจากกิจกรรมเสริมที่ช่วยให้เด็กต่างด้าวมีทักษะทางสังคมทั้งการใช้ภาษาและการแสดงออกแล้ว ในห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่ครูผู้สอนจะต้องออกแบบการสอนให้เด็กๆ ได้ใช้ทักษะจนเกิดความชำนาญอยู่เสมอ
น.ส.บุศรินทร์ เปลี่ยนสินชัย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า ต้องให้เด็กได้ใช้ภาษาไทยในทุกโอกาส ไม่ว่าเขาจะพูดถูก พูดผิด ไม่ชัด ก็ต้องให้พูด อย่างน้อยๆ เขาได้มีความกล้า เดี๋ยวก็จะพัฒนาเอง แรกๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว
บางครั้งเราให้เขียนตามจินตนาการ เด็กอาจจะมองไม่เห็นไม่เข้าใจ เราก็ใช้เทคนิคการละครเข้ามาช่วยเพื่อให้เด็กออกแบบว่าจะสื่อสารกับเราอย่างไร หรือเวลามีการบ้านเช่นวันอังคารกับวันพุธ ก็จะให้การ์ตูนสอนใจกลับไปอ่าน วันรุ่งขึ้นทุกคนจะต้องมาเล่าที่หน้าห้อง และให้เพื่อนๆ โหวตเรื่องที่ชอบ แล้วจึงมาเล่าอีกรอบก่อนเลิกเรียน การให้เข้าได้แสดงออกบ่อย เขาจะค่อยๆ ชิน และมีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนที่ดีขึ้นได้
ค่ายละครสร้างสรรค์ ของโรงเรียนวัดทำใหม่ บางปะอิน แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือ กลุ่มเด็กต่างด้าวมีความมั่นใจ มีทักษะทางสังคม มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การสร้างเสริมพฤติกรรมดีต่อสังคมต่อไป