ชวนนักเรียน “กินผัก” เพื่อสุขภาพที่ “โรงเรียนบ้านป่าตง”
ชวนนักเรียน “กินผัก” เพื่อสุขภาพที่ “โรงเรียนบ้านป่าตง”
ระดมพลังสร้าง “สุขนิสัย” เพื่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน
แม้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ตั้งเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยไอทีและเทคโนโลยี แต่ในวิถีชนบทที่ห่างไกล ความทันสมัยต่างๆ อาจไม่จำเป็นเท่ากับองค์ความรู้ง่ายๆ ในการทำอย่างไรให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน
ห่างไปจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี กว่า 100 กิโลเมตร ตามทางที่คดเคี้ยวบนถนนดินลูกรัง ท่ามกลางป่ายางพาราและสวนปาล์มเขียวครึ้ม เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนบ้านป่าตง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่คิดไม่ถึงว่าจะยังมีโรงเรียนที่ห่างไกลแบบนี้หลงเหลือในประเทศไทยอยู่อีกหรือ
แต่ความห่างไกลไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้มีอุดมการณ์อย่าง ไพฑูรย์ จันทร์ชุม ครูหนุ่มที่ต้องการเห็นลูกศิษย์ของตนเองได้เติบโตอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้กินอาหารมีคุณภาพในทุกมื้อ หลังจากเห็นว่าทุกมื้ออาหารกลางวันเด็กๆไม่ชอบรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เหลือเททิ้งเป็นประจำ จึงคิดและวางแผนร่วมกันกับผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้นยวน กลุ่มอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และครูภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดทำ โครงการ “การส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนบ้านป่าตง” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนและชุมชนแห่งนี้ได้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมสุขนิสัยในการรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่
โดยครูไพฑูรย์เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนบ้านป่าตง มีนักเรียน 135 คน มีครู 9 คน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 มีอาหารกลางวันให้เด็กรับประทานในวันเปิดเรียน แต่จากการสังเกตพบว่าเด็กจะเขี่ยผักออก ไม่กินผัก เมื่อเห็นว่าการรับประทานผักของเด็กๆ นั้นกำลังมีปัญหา จึงวางแผนให้เมนูอาหารทุกมื้อกลางวัน มีผักเป็นส่วนประกอบ และเชิญวิทยากรจากภายนอก เช่น จาก รพ.สต.ต้นยวน มาสร้างเจตนคติที่ดีเกี่ยวกับการกินผัก โดยใช้สื่อวิดีโอ การ์ตูน โน้มน้าวให้รับรู้ถึงประโยชน์ของการกินผัก
“ในช่วงแรกๆ ก็มีการต่อต้านจากเด็กๆ บ้าง แต่ต่อมาก็เริ่มดีขึ้น โดยได้สร้างแกนนำเด็กรุ่นพี่ ชั้น ป.5 และ ป.6 ช่วยสังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กนักเรียนรุ่นน้อง และช่วยโน้มน้าวในการกินผัก แรกๆ ที่เด็กแสดงอาการต่อต้าน เราก็ใช้รุ่นพี่คอยช่วยดู ระยะหลังเริ่มดีขึ้น มีคนที่ไม่กินผักเหลือไม่ถึงรอยละ 10 เพราะมีการโน้มน้าวอยู่ตลอด เด็กๆ เกิดความสุขโชว์ให้เพื่อนๆ เห็นว่ากินผักได้แล้วนะ แล้วทางเราก็มีการปรับเมนู ผักบางชนิดก็ทำเป็นเมนูขนมเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น” ครูไพฑูรย์ระบุ
แต่เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้อยู่ไกลจากแหล่งวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร ทำให้วัตถุดิบมีราคาค่อนข้างแพงกว่าในเมือง และยังต้องเดินทางออกมาซื้อวัตถุดิบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โรงเรียนก็สร้างแหล่งผลิตอาหารขึ้นเอง ทั้งการทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกผักนานาชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว กวางตุ้ง แตงกวา บวบ ถั่วฝักยาว โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูกเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ สร้างจิตวิทยาในการกินผักที่ตัวเองปลูก
แต่ก็ยังมีปัญหาสภาพดินที่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำและไม่มีสารอาหาร ทำให้ต้องทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกผสมในการเตรียมดิน ซึ่งก็ได้ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษา ขณะเดียวกันก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้จากโรงเรียนอื่นๆ ที่ทำโครงการแบบนี้ไปพร้อมๆ กัน
“ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับที่อื่นๆ และนำแนวทางการทำงานมาปรับใช้ในโรงเรียนของเรา ทำให้เด็กๆ ได้รับประทานผักทุกมื้อเมื่ออยู่ในโรงเรียน ส่วนมื้อเย็นที่บ้านก็กำชับนักเรียน มีการประชุมผู้ปกครองให้ความรู้ เน้นย้ำว่าต้องให้นักเรียนได้กินผัก โดยเราได้เชิญ รพ.สต.ต้นยวน มาให้ความรู้แก่ผู้ปกครองบอกประโยชน์ของการกินผักดีต่อลูกๆของพวกเขาอย่างไร” ครูไพฑูรย์กล่าว
ขณะที่ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น สุเมธ มีลือ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ยินดีให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเพราะเป็นแหล่งให้ความรู้บุตรหลาน นำความรู้ที่ตนเองทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลต้นยวน ส่งต่อไปสู่โรงเรียนเพื่อช่วยต่อเติมให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ทางด้าน ด.ช.ภูวิศ แก้วมี นักเรียนชั้น ป.6 แกนนำนักเรียน ยอมรับว่าปกติไม่ชอบกินผัก แต่ชอบผลไม้ เคยเขี่ยผักออก แต่ตอนหลังเริ่มกินผักได้ทุกชนิดแล้ว ยังช่วยครูปลูกผัก และช่วยสอดส่องดูแลน้องๆ
“แต่ก่อนผมไม่กินผักเลย แต่ผลไม้ผมกิน ตอนหลังพอรู้ว่าผักมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรก็กินผักได้มากขึ้น กินได้เกือบทุกอย่างที่ไม่ขม และยิ่งต้องมาดูน้องๆ ให้กินผักด้วย รุ่นพี่ก็ต้องกินเป็นตัวอย่าง”รุ่นพี่แกนนำนักเรียนเล่า
ส่วน จุฑารัตน์ ปานโบ กับเพื่อนแม่ครัวยอมรับว่าช่วงแรกๆ จะเหลือเศษผักให้เห็นทุกมื้ออาหารกลางวัน แต่เมื่อมีโครงการ มีการอบรมให้ความรู้ ก็ทำให้เหลือเศษผักให้เห็นน้อยลง
“แม่ครัวเองก็จะช่วยกันคิดเมนูไม่ให้ซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย บางครั้งต้องปรับเมนูอาหารให้มีความคล้ายขนม เช่น หมูทอดเผือก เห็ดทอด และยังสอบถามความต้องการของเด็กด้วยว่าอยากรับประทานอะไรซึ่งทำให้เด็กๆ หันมารับประทานผักกันได้มากขึ้นกว่าเดิม” แม่ครัวกล่าว
แม้โรงเรียนบ้านป่าตงจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทุกคนในชุมชนแห่งนี้ โดยมีสถานศึกษาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน อันมีเป้าหมายในเพื่อให้ลูกหลานของชาวบ้านป่าตงทุกคนได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีสุขนิสัยในการปรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปลูกฝังและสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน.