ชาวบางสะพานร่วมใจ “งานบุญ-งานศพ” ปลอดเหล้า
ชาวบางสะพานร่วมใจ “งานบุญ-งานศพ” ปลอดเหล้า
ตั้งกติกาชุมชน “ลด-ละ-เลิก” ลดรายจ่ายแถมได้สุขภาพดี
ผลสำรวจการดื่มสุราระบุว่าประเทศไทยเป็นแชมป์นักดื่มที่ติดอันดับโลก แถมยังมีโรงกลั่นสุราเหล้าเบียร์ที่มากติดอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจแม้แต่น้อย เพราะปัญหาที่เกิดตามมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีมากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ การทะเลาะเบาะแว้ง และเป็นรายจ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด
ที่ บ้านบางสะพาน ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรูปแบบการดำเนินชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คู่กับ งานบุญ งานเลี้ยง หรืองานศพ และไม่เคยหายไปจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ก็คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นเอง
จากการสำรวจของ “ธัญพร เพชรรัตน์” ผู้ใหญ่บ้านหญิงคนเก่ง บ้านบางสะพานหมู่ที่ 7 พบว่าลูกบ้าน 150 กว่าครัวเรือน มีครอบครัวที่มีผู้ดื่มสุราถึง 33 ครัวเรือน และยังพบว่าในงานเลี้ยงงานมงคลต่างๆ หรืองานศพปัจจุบันมีการดื่มเหล้ากันมากขึ้น หากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนและปัญหาสังคมตามมาได้
จึงได้ชักชวนสมาชิกในชุมชนจัดทำ “โครงการงานบุญปลอดเหล้าชาวบางสะพาน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ลูกบ้านได้ตระหนักเห็นถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ใหญ่บ้านธัญพร เล่าว่าปกติแต่ละเดือนจะมีการประชุมลูกบ้านอยู่แล้ว จึงได้มาคุยกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) และสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน เพื่อช่วยให้ในงานบุญหรืองานเลี้ยงต่างๆ ไม่มีการเลี้ยงหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระรายจ่ายของเจ้าภาพ มีเป้าหมายเบื้องต้น 30 ครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก โดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลและนำมาบอกเล่าในที่ประชุม คำนวณรายจ่ายให้เห็น จากนั้นก็จัดกิจกรรมรณรงค์เชิญวิทยากรจากศูนย์อนามัยเขต 11 มาให้ความรู้โทษของการดื่มสุราให้แก่ทุกครัวเรือนได้รับรู้
“เราขอร้องเจ้าภาพงานเลี้ยง ห้ามตั้งเหล้าบนโต๊ะ ถ้าไม่มีได้เลยก็ยิ่งดี และห้ามจำหน่ายในงานด้วย เพราะในงานเลี้ยงทั่วไปของชาวบ้านทางนี้ เจ้าภาพจะนำเหล้ามาขายให้แก่แขกผู้มาร่วมงานซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน ตอนนี้ก็ดีขึ้น ทางฝ่ายแม่บ้านเองก็จะไปชักชวนพูดคุยให้ผู้ชายเลิกดื่มด้วย ก็ได้ผลดี ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือไปบอกสมาชิกครอบครัวให้ลดการดื่ม เพราะช่วยลดรายจ่าย ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งก็มีน้อยลง ครอบครัวก็อบอุ่นขึ้น”
ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งบ้านบางสะพาน เผยด้วยว่า หลังจากดำเนินโครงการฯ มีสมาชิกของครอบครัวหนึ่งเลิกดื่มสุราเด็ดขาดได้แล้ว 1 ครอบครัว และได้นำมาเป็นต้นแบบในการรณรงค์เป็นตัวอย่างให้ครอบครัวอื่น ขณะเดียวกันก็ยังชักชวนเยาวชน ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ร่วมเป็นสื่อบุคคลรณรงค์การลดละเลิกดื่มสุรา ซึ่งผลตอบรับดีตั้งแต่เริ่มโครงการ
ในขณะเดียวกันก็สร้าง “กติกาหมู่บ้าน” ที่เข้มข้นขึ้น แม้ว่าจะมีข้อห้ามตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เนื่องจากอยู่นอกเขตเมืองเจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง เช่น ห้ามซื้อขาย ห้ามดื่มเหล้าในเขตโรงเรียน สถานที่ทางศาสนา สถานที่ราชการ ห้ามทะเลาะวิวาท หากทะเลาะวิวาทมีโทษปรับ 2,000 บาท ห้ามจำหน่ายสุราแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งร้านค้า 5 แห่งภายในหมู่บ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“ใครที่เลิกเหล้าได้ เราจะทำเกียรติบัตรให้ เจ้าภาพงานต่างๆ ถ้าไม่มีเหล้าในงาน ก็จะทำเกียรติบัตรยกย่องด้วย ตอนนี้หลายงานจะไม่มีการเลี้ยงเหล้าหรือขายเหล้าแล้ว ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก”
ขณะที่ “ภานุวัชร เพชรรัตน์” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางจาก เสริมว่า ทาง อบต. ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้ลูกบ้านทุกหมู่บ้านได้รับรู้ว่า การไม่ดื่มเหล้าหรือการจัดเลี้ยงที่ไม่มีสุราช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวได้ และเมื่อมีผู้ติดสุราก็จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษา อีกทั้งขอร้องให้เจ้าภาพปรับเปลี่ยนวิธีการจัดงานเลี้ยง เพื่อเป็นการเปลี่ยนค่านิยมของผู้ที่มาร่วมงานด้วย
ทางด้าน “วนิดา วรฤทธิ์” อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ยอมรับว่าในอดีตสามีของตนเองนั้นมีนิสัยชอบดื่มเหล้าแทบทุกวัน และมักโวยวายเอะอะเสียงดัง เนื่องจากแวดล้อมอยู่กับกลุ่มเพื่อนๆ ที่ชอบดื่มสุราเช่นเดียวกัน แต่พอเมื่อเข้าร่วมโครงการก็ได้อธิบายถึงผลเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตอนแรกก็รับฟังเฉยๆ ต่อมาจึงได้ลดความถี่ในการดื่มลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังชักชวนให้สามีใช้เวลามาออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้มีเวลาไปร่วมวงดื่มสุราเหมือนแต่ก่อน
“ตอนนี้ลูกๆโตขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ก็เลยคุยกันว่าให้ดื่มลดลง หันมาออกกำลังกายมากขึ้น และให้ลูกๆ คอยสอดส่องว่าพ่อไปกินเหล้าหรือเปล่า โดยให้ลูกๆ คอยช่วยอีกแรง”
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกชุมชนแห่งนี้ เป็นต้นแบบและจุดประกายให้อีกหลายชุมชนให้กันมาลดละเลิกการดื่มเหล้า สร้างค่านิยมงานบุญหรืองานศพยุคใหม่ ที่ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของผู้ร่วมงานทุกคน.