“ชาวบ้านทุ่งยอ” ลดละเลิกใช้สารเคมีเพื่อชีวีปลอดภัย
“ชาวบ้านทุ่งยอ” ลดละเลิกใช้สารเคมีเพื่อชีวีปลอดภัย
ปลูกพืชผักปลอดสารพิษเพื่อคุณภาพชีวิต “ผู้ผลิต-ผู้บริโภค”
ความเปลี่ยนทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการการแข่งขันกันทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่เกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งเน้นการผลิตให้ได้ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อนำไปจำหน่ายให้ได้ราคาดีหรือมีรายได้มากขึ้น จึงไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย มีการใช้สารเคมีในการเร่งผลผลิต ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคปลายทาง
บ้านทุ่งยอ หมู่ที่ 14 ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มีทั้งหมด 158 หลังคาเรือน มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 500 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำสวนทุเรียน ปลูกปาล์มน้ำมัน และทำนา เกษตรกรยังมีการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลงในการเพิ่มผลผลิต แต่ชาวทุ่งยอกลุ่มเล็กๆ ได้รวมตัวกัน 40 ครัวเรือน ในการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรโดยลดละเลิกการใช้สารเคมี ผ่านการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านและเกษตรกรผู้สนใจการพัฒนาที่ดินอย่าง ประสิทธิ์ ดำนุ้ย แกนนำกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ เจ้าของสวนทุเรียน ปาล์มและทำนา ใช้เนื้อที่ภายในบ้านปลูกพืชผัก กล่าวว่ากลุ่มปลูกผักเพิ่งรวมตัวกันได้ 1 ปี มีสมาชิก 40 ครัวเรือน บางครัวเรือนยังมีการใช้ยาฆ่าแมลงในสวนทุเรียนอยู่ จึงพยายามรณรงค์ให้งดใช้ เพราะทำให้มีสารพิษตกค้างในร่างกาย บ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงก็จะได้รับสารพิษตกค้างไปด้วย
“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหมู่บ้าน ทุกคนทำเกษตรก็ต้องการเห็นผลเร็ว อยากมีของไปขายเยอะๆ ก็ใช้ยา ใช้สารเคมี ผมจึงมารณรงค์เรื่องนี้ โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน เพราะชอบปลูกผักอยู่แล้ว และยังไม่เห็นใครที่จะจริงจังในเรื่องนี้ ทางหน่วยงานราชการก็พยายามเข้ามาทำแต่ก็ไม่สำเร็จ ผมเลยมาคิดถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใคร ก็พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยกลุ่มปลูกผักของพวกเราก็ไม่ใครใช้สารเคมี คนที่มีสวนทุเรียนก็ใช้น้อยลง” ประสิทธิ์ กล่าว
แกนนำกลุ่มปลูกผักกล่าวว่าทางกลุ่มมีกิจกรรมอยู่เป็นระยะๆ ทั้งการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ มาอบรมแก่เกษตรกร เช่น การเพาะเห็ด การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำน้ำหมัก การแจกพันธุ์พืช และการตรวจเลือดหาสารตกค้างในร่างกาย จากการดำเนินงานที่ผ่านมาประมาณเห็นความก้าวหน้า มีผู้ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองในครัวเรือนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีเวลาในการปลูกผักมากกว่าวัยอื่น
“ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็มีกำลังใจขึ้น มีคนให้ความสนใจ ถ้าเอาพืชผัก เอาพันธุ์มาแจกก็จะสนใจกันมาก แต่เราเน้นให้ปลูกกินกันในครอบครัวก่อน ถ้าเหลือแล้วค่อยเอาไปขาย” แกนนำกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษระบุ
ขณะที่ จันทร์ธิมา ศรีคง พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสัก ให้ข้อมูลว่า จากการเจาะเลือดเพื่อตรวจสารเคมีตกค้างและยาฆ่าแมลงในร่างกายของชาวบ้านหมู่ที่ 14 บ้านทุ่งยอ จำนวน 37 ราย พบผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 12 ราย ในระดับปลอดภัย 14 ราย ปกติ 11 ราย สาเหตุมาจากใช้เครื่องป้องกันไม่ครบ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ทำสวนทุเรียน และบางรายไม่ได้ทำสวนทุเรียนแต่กลับพบสารตกค้างและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากได้รับสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่ถูกพัดพามาจากสวนทุเรียนของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง
“เมื่อตรวจพบสารเคมีในร่างกายชาวบ้านก็กลัว คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ต้องขอให้มาเข้ารับการอบรม ให้ความรู้ว่าทำอย่างไรให้ปลอดภัย นำความรู้มาเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านให้ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตร นำเอาพวกสมุนไพรอย่างรางจืดมาเป็นสื่อทำอาหารบ้าง หลังจากอบรมบางส่วนก็เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ต่อไปก็อยากให้มีมาตรการทางสังคมเพิ่มขึ้น” จันทร์ธิมา กล่าว
ด้านเกษตรกรและปราชญ์ชาวบ้าน ลุงสำคัญ ศรีน่วม ผู้มีความรู้ด้านสมุนไพร วันนี้แม้จะอายุ 70 ปีแต่ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง กล่าวว่า ใช้ที่ดิน 20 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชสวนครัว ปลูกปาล์ม ผลไม้ สมุนไพรและทำนา จะซื้อของใช้เฉพาะที่จำเป็น ภายในสวนแห่งนี้ไม่มีการใช้สารเคมี หากจำเป็นใช้พืชสมุนไพรหมักเป็นยาฆ่าแมลงส่วนปุ๋ยจะใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ และมักให้คำแนะนำแก่กลุ่มที่ปลูกพืชผักพร้อมแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชแก่เพื่อนบ้านอีกด้วย
“เราปลูกกินเอง ถ้าไปซื้อผักที่ตลาดไม่รู้ว่าเขาใส่อะไรบ้าง อย่างน้อยก็ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ เหลือก็เอาไปขายบ้าง อย่างนาข้าวก็ไม่ใช้สารเคมีเลย ปลูกสลับกับปลูกมัน เพื่อไม่ให้มีโรคแมลงมารบกวน แล้วใส่ปุ๋ยขี้วัวเพราะเลี้ยงวัวไว้ด้วย” ปราชญ์ชาวบ้านระบุ
ขณะที่ วินิจ เรืองรอง สมาชิกกลุ่มปลูกผัก นักธุรกิจมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาอยู่ในบ้านทุ่งยอ กล่าวว่า ได้แบ่งเนื้อที่ 4 ไร่ที่มีอยู่ปลูกพืชเศรษฐกิจพวก ปาล์ม พืชผักสวนครัว และมะนาวในกระถาง ไม่เคยมีความรู้ด้านเกษตรมาก่อน แต่ใช้ศึกษาความรู้จากอินเทอร์เน็ต เมื่อมีกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษเกิดขึ้นก็ให้ความสนใจ เพราะปลอดภัยต่อตนเองซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค
“หลังจากแต่งงานก็มาซื้อที่ไว้ ปลูกบ้าน ปลูกต้นไม้ ว่างๆ ก็ออกกำลังกาย เพราะเราให้ความสำคัญกับสุขภาพ เคยซื้อพืชสมุนไพร ซื้อผักมาปลูกเยอะแต่ตายหมด เพราะไม่มีความรู้เลย ตอนหลังก็ศึกษาจากอินเทอร์เน็ต ถามจากผู้รู้บ้าง พอมีกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษก็ได้แลกเปลี่ยนกัน ผมมีความสุขจากการได้ปลูกผัก ได้เพื่อน ได้มีกิจกรรมสุขภาพแข็งแรงดี” วินิจ กล่าว
วันนี้ชุมชนบ้านทุ่งยอกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการดำรงชีวิตเพื่อร่วมกันสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ โดยการเพิ่มจำนวนของสมาชิกกลุ่มปลูกผักปลอดภัยที่ขยายตัวและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวมเร็วกว่าเป้าหมายที่คาดเอาไว้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่จะสานพลังความร่วมมือของชาวบ้านทุกยอทุกคนเพื่อร่วมกันก้าวไปสู่การทำให้ทุกคนในชุมชนและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน.