ชาว “ตะโละใส” จับ “ปูไข่” มาใส่ธนาคาร

ชาว “ตะโละใส” จับ “ปูไข่” มาใส่ธนาคาร

จุดเริ่มต้นเพื่อความยั่งยืนของประมงพื้นบ้านอ่าวบาลา

นับวันชาวประมง บ้านตะโละใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ต้องออกเรือหาปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ห่างไกลจากฝั่งมากขึ้น เพราะปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเลมีจำนวนลดลง จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และผลกระทบจากการทำประมงที่เห็นแก่ได้โดยเฉพาะเรือประมงที่มาจากถิ่นอื่น

หากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์คงจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ชาวประมงพื้นบ้านในย่านนี้จึงรวมตัวกัน ดำเนินโครงการ “เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำปากอ่าวบารา” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจัดตั้ง “ธนาคารปูม้า บ้านตะโละใส” เพื่อสร้างพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของชาวประมงในชุมชนเป็นเบื้องแรก

ในฐานะผู้ที่ทำประมงออกเรือมาตลอดชีวิต อัสรีย์ หมีนหวัง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ สังเกตว่าความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลปากอ่าวบาราได้รับผลกระทบจากการทำประมงรูปแบบต่างๆ ทั้งอวนตาถี่ เรือประมงขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างกวาดเอาสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นมาด้วย และจากการที่สัตว์น้ำถูกรบกวนตลอดเวลาแทบไม่มีเวลาวางไข่ จึงหารือกันในหมู่ชาวประมงว่าน่าจะหาทางช่วยให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำที่หายไป โดยเริ่มจากการรับบริจาคแม่พันธุ์ปูม้าที่มีไข่จากสมาชิกชาวประมงรายละ 2 ตัว เมื่อนำไข่มาเพาะเลี้ยงปล่อยลูกปูสู่ท้องทะเลแล้ว ก็จะนำแม่พันธุ์คืนเจ้าของ หรือชาวประมงรายใดจะให้ธนาคารนำไปขายเพื่อหารายได้มาดูแลธนาคารปูก็ยินดี

“เรามาคิดกันว่าทำอย่างไรให้เกิดธนาคารปู เพราะทุกวันนี้ปูหายากขึ้น ก็เลยคุยกับพี่น้องเรือประมงที่ทำไซปู 50 ลำ ถ้าได้แม่ปูไข่มาก็ขอรับบริจาครายละ 2 ตัว ฟักไข่เสร็จก็เอาคืนไปก็มีสมาชิกสมาคมฯของเราให้ความร่วมมือดี ตอนนี้ขยายไปพื้นที่อื่น ตำบลแหลมสนก็มีฝากมาด้วย”

นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ เห็นว่าการจัดตั้งธนาคารปูม้าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ที่มากไปกว่านั้นคือการผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน เจรจาทำข้อตกลงกับนายกสมาคมเรือพาณิชย์ไม่ให้เข้ามาในแนวอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ตั้งแต่เกาะเขาใหญ่ เกาะตะรุเตา เกาะสิงห์  เกาะโกยใหญ่ เกาะบรัคมานา ไปสุดเขตใกล้รัฐปะลิส มาเลเซีย ภายใต้การดูและของประมงจังหวัดสตูล และแสวงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

นอกจากจะดำเนินงานจัดตั้งธนาคารปูม้าแล้ว ยังดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างจิตสำนึกและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งการทำ “บ้านปลา” หรือ “ซั้งกอ” ร่วมกับหน่วยงานอนุรักษ์ใต้น้ำ สมาคมรักษ์ทะเลไทย ช่วยกันดูแลเพื่อให้สัตว์น้ำเป็นที่พักอาศัย โดยชักชวนเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมเรียนรู้การทำซั้งกออีกด้วย ขณะเดียวกันก็ยังจัดกิจกรรมปล่อยปูในวันสำคัญ เช่น วันประมงแห่งชาติ วันอนุรักษ์ทะเล วันสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรของท้องถิ่น

“เป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวประมงที่สามารถผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำได้ ทำให้เรือใหญ่ไม่เข้ามารบกวนพื้นที่ที่ปูปลาอาศัยอยู่ สัตว์น้ำก็จะได้มีโอกาสเติบโต สภาพตอนนี้เท่าที่ถามพี่น้องชาวประมงที่เห็นชัดคือมีลูกปูมากขึ้น มีคนทำไซปูได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แสดงว่าการทำธนาคารปูได้ผล” นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำ เล่าอย่างภาคภูมิใจ

ขณะที่ กัมพล ถิ่นทะเล ชาวประมงหนึ่งในกรรมการธนาคารปูม้า เล่าว่าหลังจากได้พูดคุยกันได้รับคำแนะนำจากสมาคมรักษ์ทะเลไทยว่าไม่ควรจะจับปูเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าจับอย่างเดียวโอกาสที่ปูจะเกิดมาทดแทนก็มีน้อย จึงคิดทำธนาคารปูม้าขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์เรื่องอุปกรณ์จากสมาคมรักทะเลไทย และใช้สถานที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ ท่าเทียบเรืออ่าวนุ่น เป็นสถานที่ตั้งของธนาคาร ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกนำปูมาฝากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“เมื่อก่อนปูหายากต้องออกไปหาไกลๆ เดี๋ยวนี้หลังจากที่เราทำธนาคารปู ได้มากขึ้น ไม่ต้องออกเรื่อไปไกลๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแรงจูงใจให้พวกเราต้องทำต่อไป เพราะทำแล้วไม่เหนื่อยเปล่า เป็นเรื่องของส่วนรวมเพื่อลูกหลานในอนาคตด้วย”

ทางด้าน ม่าเบ็น อาหมัน ผู้ดูแลธนาคารปูม้า อาสาใช้เวลาว่างจากการออกไปทำประมง คอยรับปูแม่พันธุ์ที่กำลังมีไข่มาอนุบาลคอยเปลี่ยนน้ำ ให้อาหาร ก่อนปูวางไข่จนฟักตัวเป็นลูกปูและปล่อยลงสู่ท้องทะเล

“ผมมีหน้าที่คอยรับปูมาไว้ในธนาคาร คอยเปลี่ยนน้ำให้ใสเหมาะแก่การอาศัยของปู ให้อาหารพวกปลาทู ปลาลังที่ตายแล้ว พอปูแตกลูกเล็กๆ 8 ชั่วโมงหลักจากนั้นก็นำไปปล่อยลงน้ำริมๆทะเลได้เลย แม่ปูก็คืนเจ้าของไป ปูไข่แต่ละแพมีข้อตกลงกันว่าจะไม่รับซื้อเด็ดขาด ใครที่ไม่รับคืนก็อาจให้ธนาคารเอาไปขายเพื่อเป็นเงินหมุนเวียน เอาไปซื้อแม่ปูไข่เข้ามาอีก หรือไม่ก็ขายเอาเงินมาจ่ายค่าไฟ ส่วนใหญ่ก็ให้มาเลยไม่ค่อยมารับคืนกันหรอก” ผู้ดูแลธนาคารปูม้าเล่าถึงการทำงาน

“ธนาคารปูม้าบ้านตะโละใส” คือรูปธรรมเบื้องต้นของการร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน ที่พวกเขาต้องลงมือลงแรงด้วยตัวเอง เพื่อสร้างสุขภาวะดีที่ดีให้แก่ทุกคนในชุมชน ในการเป็นแหล่งทำกินเชิงอนุรักษ์ แหล่งสร้างรายได้ที่พอเพียงสำหรับทุกคน ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ความมั่นคงในอาชีพอันหมายถึงอนาคตของครอบครัว และความยั่งยืนของอาชีพประมงพื้นบ้านปากอ่าวบาลา.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ