“ชุมชนบางหมาก” ร่วมพลังผลิตและบริโภคผักปลอดภัย

“ชุมชนบางหมาก” ร่วมพลังผลิตและบริโภคผักปลอดภัย

สร้างสุขภาพดี-มีรายได้เสริม สานฝันชุมชนสุขภาวะยั่งยืน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม ชุมชนเมืองใหญ่หลายแห่งต้องแข่งขันกันเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่มักพึ่งพิงแหล่งผลิตอาหารจากภายนอก เนื่องจากข้อจำกัดในเขตเมืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พักอาศัย พื้นที่เพาะปลูกมีอยู่อย่างจำกัด เช่นเดียวกันกับ ชุมชนบางหมาก หมู่ที่ 2 ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชุมพรก็พบข้อจำกัดนี้ แต่ทางออกของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพก็ยังพอมี

จากคำบอกเล่าของ สมภพ กล้าเวช ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนบางหมาก ได้ความว่าเข้ามาบริหารกองทุนหมู่บ้านตามนโยบาลรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2544 เพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่สมาชิกกองทุนเป็นหลัก ต่อมารัฐบาลเห็นว่ากองทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นแล้ว จึงให้การสนับสนุนเงินทุนตามโครงการประชารัฐ อีก 500,000 บาท แต่มีเงื่อนไขห้ามปล่อยกู้ ต้องดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์ร่วมกับชุมชน เช่นเปิดร้านค้าประชารัฐ หรือกิจกรรมอื่นๆ คณะกรรมการจึงได้หารือกันและพบว่าสมาชิกกองทุนเองกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการบริโภคพืชผักที่ปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ทางการเกษตร

จากการตรวจสอบพบว่ามีสารพิษตกค้างร่างกายจำนวนมาก แม้จะอยู่ในเขตชุมชนเมืองไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรมก็ตาม สาเหตุหลักมาจาการบริโภคพืชผัก อาหารที่ไม่ปลอดภัย เพราะต้องหาซื้อจากตลาดทั่วไปไม่ไม่สามารถปลูกเองได้ และไม่ทราบแหล่งผลิตและวิธีการผลิตที่ชัดเจน จึงตกลงร่วมกันที่จะดำเนินโครงการ “ชุมชนร่วมใจผลิตและบริโภคผักปลอดภัยชุมชนบางหมาก” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกผักปลอดสารพิษ และนำองค์ความรู้มาใช้ในการดำเนินงานต่างๆ

“ชุมชนเขตเมืองส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ไม่มีที่ปลูกผักกันหรอกก็ต้องซื้อตามตลาด แกงถุงบ้าง ผักบ้าง แตงกวา ถั่วฝักยาว คะน้า พวกนี้เรารู้ว่าส่วนใหญ่เวลาปลูกมีการใช้ยาฆ่าแมลง เราจึงสุ่มตรวจสารตกค้างในร่างกายสมาชิกกองทุนของเราโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าสมาชิก 50 กว่าคน มีสารตกค้าง 20-25 คน จากกองทุนเรามีสมาชิกทั้งสิ้น 300 ครัวเรือน” สมภพ ให้ข้อมูล

ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนบางหมาก เล่าว่าเมื่อวางแผนจะดำเนินการปลูกผักเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้มีผักปลอดภัยไว้บริโภคต่อยอดจากทุนที่ได้จากโครงการประชารัฐ จัดการอบรมการปลูกผัก และสร้างโรงเรือนแบบมิดชิดสำหรับปลูกผักสลัดแบบไฮโดรโพนิกส์ ในพื้นที่ของสำนักงานกองทุนชุมชนบางหมาก  ซึ่งสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลตั้งแต่การเพาะเมล็ด จนถึงการตัดบรรจุเพื่อส่งให้สมาชิกและส่วนหนึ่งขายให้สมาชิกในราคาต้นทุนไปจำหน่ายต่อนำรายได้มาสู่ครัวเรือน

“เราปลูกมาได้ 4-5 รอบแล้ว แม้จะเป็นการปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ แต่เราจะควบคุมให้เป็นไปอย่างปลอดภัยไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง ผักที่ปลูกเราได้บริโภคกันเองในหมู่สมาชิก เหลือก็ส่งไปขาย สมาชิกรับผักเราไปราคาต้นทุน กิโลกรัมละ 70-75 บาท เวลาไปขายแบ่งขายเป็นต้นๆละ 20 บาท ก็พอมีกำไร อย่างน้อยสมาชิกของเรามีผักปลอดภัยไว้กินเอง แทนที่เราจะต้องจ่ายเงินค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลเพราะเจ็บป่วย ตอนนี้เบิกจ่ายน้อยลงกว่าเดิมไม่ค่อยมีคนป่วย เราพยายามกระตุ้นสมาชิกให้ปลูกกันทุกครอบครัว เพราะนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างอาชีพสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งด้วย” ประธานกองทุนหมู่บ้านชุมชนบางหมาก กล่าว

ทางด้าน ศิริขวัญ อ้อยทอง สมาชิกกลุ่มปลูกผัก เล่าว่าเธออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีสารพิษตกค้างในร่างกาย จากการตรวจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบว่ามีระดับ โคลีนเอสเตอเรส อยู่ที่ 75.0 หน่วยต่อมิลลิกรัม หากเป็นระดับปกติจะอยู่ที่ 100 หน่วยต่อมิลลิกรัม ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยปกติชอบรับประทานผักสด ผักที่ซื้อจากตลาดเป็นประจำคือ มะเขือ แตงกวา ถั่วฝักยาว พอตรวจสารตกค้างพบว่าอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติจึงงดซื้อทันที และหันมาใช้ที่ว่างเล็กน้อยในบ้านปลูกผัก พวกพริก ผักกาด คะน้า มะเขือ เพราะใช้เนื้อที่ไม่มาก

“เมื่อก่อนไม่ค่อยสบายบ่อย คลื่นไส้อาเจียนเป็นเกือบทุกวัน แต่ไม่รู้สาเหตุ ตอนนี้หันมาปลูกผักกินเอง ปลูกเท่าที่ปลูกได้ ก็ได้เข้ามาอบรมเรื่องการปลูกผักด้วย ตอนนี้สุขภาพดีขึ้นเยอะ ตอนนี้ก็จะหลีกเลี่ยงไม่กินผักที่ไม่รู้ว่าปลูกยังไง อีกอย่างคือไม่ต้องซื้อก็ช่วยให้ประหยัดเงินแต่ก่อนนี่ต้องซื้อทุกอย่าง” ศิริขวัญ บอกพร้อมเพิ่มเติมว่า จากการตรวจพบสารตกค้างในร่างกายและมีความรู้เรื่องการปลูกผัก เธอจึงชักชวนให้เพื่อนและคนที่รู้จักปลูกผักไว้กินเองอีกด้วย

ขณะที่ สุรีพร ช่วยสุข สมาชิกกองทุนและเป็นสมาชิกกลุ่มปลูกผัก ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน เล่าว่าส่วนตัวชอบกินผักสดกับอาหารรสเผ็ด เดิมจะซื้อตามตลาดทั่วไป และในซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้าง เพราะสะดวก ก่อนนำมากินทุกครั้งก็ล้าง แต่เมื่อตรวจสารตกค้างก็รู้สึกตกใจ ทำให้ทราบว่าการนำผักมาล้างก่อนบริโภคไม่เพียงพอ แม้จะล้างด้วยด่างทับทิม เมื่อมีโครงการของกองทุนจึงได้เข้าเป็นมาชิก และมาร่วมปลูกผักไว้กินเองมากขึ้น

“ตอนนี้ลดการซื้อผักที่ไม่รู้จากแหล่งปลูกลง จะเลือกซื้อผักกับกลุ่มปลูกผักของกองทุน แต่ก็ยังซื้ออาหารสำเร็จรูปอยู่บ้าง ผักบางอย่างของทางโครงการยังไม่มี พื้นที่ที่จะปลูกผักที่บ้านก็ไม่มี ยังต้องซื้ออยู่บ้างแต่ก็เลือกมากขึ้น” สุรีพร กล่าว

ชุมชนบางหมากเขตเทศบาลเมืองชุมพร จึงเป็นอีกชุมชนหนึ่ง ที่สามารถบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการผลิตและบริโภคที่ปลอดภัยขึ้นในชุมชน ด้วยการสร้างความตระหนัก และขยายผลการปลูกผักปลอดภัยไปสู่ครัวเรือนเพื่อสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ