‘ชุมชนหูยาน’ ร่วมสร้างบ้านให้น่าอยู่สู่การเป็น “ชุมชนจัดการตนเอง”
‘ชุมชนหูยาน’ ร่วมสร้างบ้านให้น่าอยู่สู่ก
ารเป็น “ชุมชนจัดการตนเอง”
เลี้ยงผึ้ง-ปลูกผักปลอดสาร สร้าง “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน
นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่บ้านหูยาน หมู่ที่ 8 ตำบลนาท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ได้ดำเนินโครงการ “ชุมชนหูยาน บ้านน่าอยู่สู่การจัดการตนเอง” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากจุดเริ่มต้นของการพบข้อมูลในแผนที่สุขภาพตำบลชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านในตำบลนาท่อมกว่าร้อยละ 97 มีสารเคมีปนเปื้อนตกค้างอยู่ในร่างกาย จากการใช้สารเคมียาฆ่าแมลงในการปลูกพืชผัก คณะทำงานจึงได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหา โดยได้พัฒนาศักยภาพแกนนำให้เป็นสภาผู้นำ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านแต่ละกลุ่มบ้านเพื่อนำข่าวสารไปสื่อสารให้ชุมชนมีความเข้าใจตรงกัน และให้สมาชิกสภาผู้นำเป็นครัวเรือนต้นแบบในการปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง ครัวเรือนละ 20 ชนิด เพื่อช่วยลดรายจ่ายของครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของสารเคมีตกค้างในร่างกาย ทำให้สมาชิกในชุมชนเข้ามาเป็นครัวเรือนต้นแบบเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายแกนนำ 18 คน ชักชวนสมาชิกเพิ่ม 4 คน จากระยะแรก 50 ครัวเรือน จนปัจจุบันนี้เพิ่มจำนวนเป็น 75 ครัวเรือน
ในฐานะที่คลุกคลีร่วมดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มต้น สุมาลี ศรีโดน สมาชิกสภาเทศบาลนาท่อม เผยว่านอกจากการปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว ยังได้ดำเนินกิจกรรมเชิงสุขภาพอื่นด้วย เช่น การปั่นจักรยาน ออกกำลังกายในหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์ ซึ่งมีผู้นำชุมชน เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมอยู่เสมอ และเมื่อย้อนไปตรวจสุขภาพชาวชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษพบว่ามีมีสารพิษตกค้างลดลง ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวก็กินยาน้อยลง ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่มีการใช้สารเคมีอีกต่อไป
ขณะเดียวกันก็เกิดกิจกรรมต่อเนื่องจากการปลูกผัก เกิดการรวมกลุ่มนำผักไปขายที่ตลาดสีเขียวในตัวเมืองทุกวันจันทร์และวันศุกร์ และขายในหมู่บ้านเดือนละ 2 ครั้ง หรือในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเทศบาลนาท่อมให้ความช่วยเหลือให้พื้นที่ในการเปิดตลาดสีเขียว ขณะเดียวกันก็เริ่มดำเนินการ “วิสาหกิจชุมชน” แปรรูปพืชผักสมุนไพร ทำเครื่องแกง น้ำยาซักผ้า ยาสระผม สบู่ โลชั่นฯลฯ ออกจำหน่ายนำรายได้มาหมุนเวียนเป็นทุนในการดำเนินงานต่อไป
“หลังจากเราทำงานต่อเนื่องมา ทำให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี เพราะได้มีกิจกรรมร่วมกัน คนในชุมชนมีรายได้จากการปลูกผัก สุขภาพก็ดีขึ้น มีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งเพาะเห็ด ทำเครื่องแกงทำขนมไทย ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักไว้ใช้เอง เกิดตลาดสีเขียวนำผักปลอดสารพิษมาขาย เรามีแปลงผักรวม 4 ไร่ ใ
ห้สมาชิกร่วมกันปลูก ตอนนี้ลงกล้วยหอมกับชะอมเอาไว้ และยังมีกลุ่มเลี้ยงผึ้งที่มีผลิตภัณฑ์พวกสบู่ โลชั่น ออกมาขายด้วย”
หลังจากชุมชนหูยานได้เปลี่ยนมาปลูกพืชปลอดสารพิษ ก็ทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ ดีขึ้น ชุมชนจึงได้นำ “ผึ้ง” มาเลี้ยงในพื้นที่เดียวกันกับพื้นทีปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งเป็นนวัตกรรมของชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากผึ้งจะมีการตอบสนองไวต่อสารเคมี หากมีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงจะไม่สามารถเลี้ยงผึ้งได้เลย
จากคำบอกเล่าของ บุญเรือง แสงจันทร์ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านหูยาน เปิดเผยว่าเป็นผู้เลี้ยงผึ้งเพียงรายเดียวในหมู่บ้านตั้งแต่ ปี พ.ศ.2541 โดยเลี้ยงพันธุ์ผึ้งโพรงที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เริ่มแรกมีเพียง 9 รัง ต่อมาจึงได้ขยายตัวออกไป เกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงผึ้งเมื่อปี พ.ศ.2554 มีสมาชิก 50 คน โดยเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งจากปราชญ์ชาวบ้าน และศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ผึ้งเป็นเครื่องมือชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ ในพื้นที่ ที่ต่อมาได้พัฒนาไปเป็นรีสอร์ทผึ้ง
“ตอนนี้ที่นี่มีผึ้ง 40 รัง เราปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลาดุกเลี้ยงกบไปด้วย ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง เพราะผึ้งต้องมีห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัย ผึ้งจะมีความรู้สึกไวมาก เราได้เรียนรู้จากคนอื่นขณะเดียวกันก็นำความรู้ที่ทำอยู่ถ่ายทอดให้คนอื่นไปด้วย เพื่อจะได้เกิดความยั่งยืน เพื่อมีคนทำกันมากๆ ผลิตผลที่ได้นอกจากน้ำผึ้งก็จะมีพวกสบู่ โลชั่น ปลาดุกร้า เห็ดสามรส น้ำพริก แม้กระทั่งต้นไม้ เร
าก็จัดส่งทางไปรษณีย์”
ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งบ้านหูยานย้ำว่า ชาวชุมชนทำงานกันเป็นทีม แบ่งหน้าที่ตามความถนัด โดยใช้กลไกของสภาผู้นำที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้วเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน มีนักวิชาการประจำกลุ่มคอยให้คำปรึกษา โดยตั้งเป้าหมายว่าทุกกิจกรรมจะต้องเกิดสัมฤทธิ์ผล อย่างน้อยสมาชิกในชุมชนต้องมีความสุข สามารถร่วมกันสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้เอง
ขณะที่จริยา ฮั่นพิพัฒน์ รองประธานกลุ่มปลูกผัก เล่าว่าเดิมครอบครัวปลูกผักไว้กินเองอยู่แล้ว เมื่อ สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนก็ได้ต่อยอด เพิ่มพูนความรู้ มีการรวมกลุ่มผู้ปลูกผักอย่างจริงจัง ได้ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้จากที่อื่น และนำองค์ความรู้กลับมาปรับใช้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากจะได้กินผักปลอดสารพิษแล้ว ยังช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวสามารถ นำส่วนที่เหลือออกจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
“พวกราทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ทั้งปลูกผัก เลี้ยงผึ้ง เลี้ยงปลา ในกลุ่มสมาชิกต้องปลูกผักอย่างน้อยคนละ 20 ชนิด แต่ที่นี่ปลูก 30-40 ชนิดได้ เหลือก็เอาไปขาย แกนนำจะเป็นผู้รวบรวมผักแต่ละคุ้มบ้าน บางส่วนก็ส่งวิสาหกิจชุมชน แปรรูป ผักที่นี่ได้เครื่องหมาย Q (มาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย) สาธารณสุขจังหวัดจะมาสุ่มตรวจอยู่เป็นระยะๆ ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงเมื่อไหร่ก็ไม่ได้ตรามาตรฐานทันที พอมีตรามารฐาน Q ก็จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
ของเรามากขึ้น” รองประธานกลุ่มปลูกผักอธิบาย
กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนหูยาน ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการหันมาปลูกผักแบบอินทรีย์ โดยมีผึ้งโพรงที่เลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือตรวจสอบควบคุมและกำกับไม่ให้มีการใช้สารเคมีในชุมชน ขณะเดียวกันก็ต่อยอดจากผลิตผลที่เหลือ สร้างช่องทางตลาดสีเขียวรองรับผลผลิตที่ได้ เกิดกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปอาหาร สร้างรายได้ สร้างระบบเศรษฐกิจ และ
สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน.