ทำนาปลอดสาร-ผลิตข้าวปลอดภัย ความท้าทายของชุมชนน่าอยู่ป่าสัก

ทำนาปลอดสาร-ผลิตข้าวปลอดภัย  ความท้าทายของชุมชนน่าอยู่ป่าสัก

สังคมเกษตรกรรม ที่หยั่งรากลึกมาหลายชั่วอายุคน ในบ้านป่าสัก หมู่ 5 ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านมากกว่า 60% ยังคงยึดอาชีพทำนา ทำสวน หากปัญหาที่ตามมาคือการใช้สารเคมีที่นับวันจะทวีปริมาณ และความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความเสื่อมโทรมทั้งสุขภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม ซ้ำยังเกิดภาระหนี้สินจากการกู้ยืมมาประกอบอาชีพ

สายคำ ชัยชนะ ผู้ใหญ่บ้านป่าสัก เล่าว่า บ้านป่าสักมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 500 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และมีประชากรอาศัยอยู่ 398 คน 142 ครัวเรือน รายได้ส่วนใหญ่มากการขายผลผลิตลิ้นจี่ ข้าว และแคนตาลูป ซึ่งจากการสำรวจโดยสภาผู้นำชุมชน พบว่า 139 ครัวเรือน ใช้สารเคมีทางการเกษตรในชุมชน เฉลี่ย 2,020 ลิตร/ปี เป็นประเภทยาป้องกันเชื้อรา ฮอร์โมนเร่งผลผลิต ยาฆ่าแมลง คิดเป็นเงิน 1,373,600 บาท และมีรายจ่ายจากการซ้อปุ๋ยเคมีทำสวนผัก หรือทำนา เป็นเงินจำนวน 825,000  บาท ส่วนในด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ก็ขาดการกำจัดขยะ 30 ครัวเรือน ถูกรบกวนจากกลิ่นเหม็น 70 ครัวเรือน

ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจด้านการบริโภค ทุกครอบครัวกินผักผลไม้ อย่างน้อย 1 มื้อ/วัน แต่กลับมีครัวเรือนที่ปลูกผักผลไม้เองแค่ 64 ครัวเรือน  นอกนั้นซื้อจากตลาดในชุมชน และตลาดในอำเภอ เพราะที่ผ่านมาองค์กรในท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานรัฐ ไม่ได้ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนปลูกผักปลอดสาร และคนในชุมชนก็เชื่อว่าไม่สามารถปลูกผักปลอดสารได้ ถ้าไม่ใช้สารเคมีผักจะไม่เจริญเติบโต ทั้งไม่มีตลาดรองรับผักปลอดสาร จึงขาดแรงจูงใจ

สิ่งที่ตามมา คือชาวบ้านป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 58 ราย เบาหวาน 23 ราย  และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับในครัวเรือน ถึง 117 ครัวเรือน คิดเป็น 47.56% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินจากการกู้เงินของกลุ่มเงินกู้ในหมู่บ้าน จำนวน 6,463,000 บาท พอครบกำหนดจ่ายคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ย ก็กู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกู้นอกระบบมาโปะ กลายเป็นวัฏจักรหนี้ที่ยิ่งนานวันก็พอกพูนจนยากต่อการหลุดพ้น

“สภาผู้นำชุมชนจึงตกลงเดินหน้าโครงการชุมชนน่าอยู่ ของ สสส. โดยหยิบยก 3 ปัญหาจากการประชาคมขึ้นมาขับเคลื่อน  ได้แก่ การลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งเสริมปลูกผักปลอดภัยในครัวเรือน, การปรับสภาพดินและลดต้นทุนการทำนาด้วยเกษตรอินทรีย์, การจัดการขยะในชุมชนด้วยกลไกสภาผู้นำชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วม” แกนนำชุมชน อธิบาย

ในช่วงปีแรก ได้ขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะ และการส่งเสริมปลูกผักปลอดภัยในครัวเรือนก่อน โดยให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ แล้วนำมารวมกันที่ธนาคารขยะ ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้จากการขายขยะเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท และยังลดการเผาในหมู่บ้านได้ 90 ครัวเรือน ส่วนการปลูกผักปลอดภัยนั้น ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีถ้อย เคยสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในร่างกายชาวบ้าน 67 คน ช่วงปี 2559 ปรากฏว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือด 17 ราย จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 30 กว่าราย ปลอดภัยแค่ 10 กว่าราย ทั้งยังมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการบริโภคผักที่ใช้สารเคมีตลอดทั้งปี เมื่อชาวบ้านได้รับข้อมูลและเกิดความตระหนัก การส่งเสริมให้ปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเองในครัวเรือนจึงทำได้ค่อนข้างง่าย

กระนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนคือที่นา ก็ยังมีการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดหอยเชอรี่ ปูนา หรือหญ้า ซึ่งจากการเก็บบันทึกข้อมูล พบว่ามีค่าใช้จ่ายรวมค่าปุ๋ย ค่ายา 4,700 บาท/ไร่  ขณะที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิ ได้ไม่เกิน 600 กิโลกรัม/ไร่

พงษ์ มูลยะเทพ  ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านป่าสัก บอกว่าเพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้ปลอดภัยจากสารเคมีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในปีที่ 2 นี้ทางสภาผู้นำชุมชนจึงหนุนให้ชาวบ้านลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในนาข้าว เพื่อเพิ่มสุขภาพ และลดรายจ่าย แต่จากความเคยชินในการใช้สารเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แม้จะมีชาวบ้านสมัครเข้าโครงการถึง 91 ครัวเรือน แต่ในช่วงเริ่มต้นแกนนำต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพื่อนำร่องไปก่อน เริ่มจาก 4 รายที่แบ่งพื้นที่ทำนาทดลอง รายละ 3-4 ไร่  ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และลดสารเคมีประเภทยากำจัดศัตรูพืช ยากำจัดเชื้อรา ซึ่งขณะนี้ผ่านช่วงการดำนามาแล้ว ถ้าค่าใช้จ่ายลด และผลผลิตคงเดิม หรือมากกว่าเดิม ก็มั่นใจว่าสมาชิกรายอื่นๆ ต้องหันมาเอาแบบอย่างแน่นอน

ด้าน ประทีป ภาชนนท์ ผู้ประสานงานโครงการ อธิบายว่า เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิแบบลดสารเคมีมาล่วงหน้าแล้ว 1 รอบ ทำให้รู้ต้นทุนคร่าวๆ ว่ามีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท/ไร่ และผลผลิตไม่ได้ลดลงจากเดิม กลับเพิ่มขึ้นเป็น 650 กิโลกรัม/ไร่ เพียงแต่ต้องเอาใจใส่ ทุ่มเทเวลาให้กับการทำนา คอยถอนหญ้า กำจัดหอย ปู ที่มากัดกินต้นข้าว ซึ่งก็นำมาทำอาหารรับประทานในครัวเรือน หรือทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ประโยชน์ต่อได้

“ลดปุ๋ยเคมี หันมาใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงใช้สารไล่แมลงชีวภาพแทนสารเคมี แต่ในส่วนของยาคุมหญ้ายังเลิกใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะก่อนไถ ต้องฉีดพ่นหญ้าให้ตายก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาชิกในโครงการก็ได้ร่วมอบรมการทำเชื้อราไตรโคโดม่า เชื้อราบิวเวอร์เลีย ฮอร์โมนนม ฮอร์โมนไข่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย ปุ๋ยยูเรียน้ำชีวภาพ ยาฆ่าหญ้าปลอดสารพิษ รวมทั้งการปลูกพืชบำรุงดินเพื่อลดการใช้สารเคมี ต่อไปนอกเหนือจากแปลงสาธิต สมาชิกน่าจะนำกลับไปใช้ในนาของตัวเอง ลดการใช้สารเคมีได้อย่างแพร่หลายมากกว่านี้” ประทีป กล่าว

การทำนาแบบลดสารเคมี เพื่อผลิตข้าวปลอดภัยที่บ้านป่าสัก จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาสุขภาพ ควบคุ่ไปกับการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะกิจกรรมต่อไปเมื่อข้าวให้ผลผลิต พวกเขาวางแผนจะส่งเสริมการทำตลาดข้าวปลอดสารพิษ โดยบรรจุถุงจำหน่ายสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่การขายข้าวเปลือกให้กับรัฐ หรือโรงสี เหมือนข้าวปนเปื้อนสารเคมีที่ทำกันอยู่ทั่วไป.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ