ทีมเวิร์คสอนเพศศึกษาในชุมชน เปิดมุมใหม่สร้างสุขภาวะทางเพศ
ทีมเวิร์คสอนเพศศึกษาในชุมชน เปิดมุมใหม่สร้างสุขภาวะทางเพศ
ทุกวันนี้สังคมไทยจะเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม แต่ความเข้าใจและการสื่อสารเรื่องเพศศึกษายังถือเป็นเรื่องที่ยังปิดแคบในทุกระดับ จะเห็นได้จากผลงานวิจัยของ ยูนิเซฟและ ม.มหิดล ที่รายงานผลการวิจัยการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนไทย ระบุว่า การสอนเพศศึกษาในไทยยังไม่รอบด้าน เน้นการสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ แต่ขาดการทำความเข้าใจในมิติอื่นๆ เช่นความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิ ความเสมอภาค ความหลากหลายทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว
แม้จะมีความพยายามที่ต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี แต่ ปรียากมล น้อยกร ผู้จัดการโครงการร้อยชุมชนสร้างสุขภาวะทางเพศ สานพลังชุมชน เพื่อป้องการท้องก่อนวัย ยอมรับการทำความเข้าใจเรื่องเพศ ไม่ง่ายในสังคมไทย เพราะความหมายของเพศยังมีมุมที่คับแคบ ที่มองเพียงเรื่องร่างกาย ความรัก หรือเพศสัมพันธ์เท่านั้น
“ความหมายเรื่องเพศ ยังมีเรื่องหญิงชาย ความรุนแรงในครอบครัว หรือเรื่องของเพศที่สาม แต่สังคมไทยยังเข้าใจความหมายในมุมที่แคบเป็นส่วนใหญ่ทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดคุยหรือทำความเข้าใจอย่างเปิดเผย”
การสอนเรื่องเพศศึกษาจึงไม่จำกัดอยู่แค่รั้วโรงเรียน แต่หากยังรวมไปถึง ชุมชน ครอบครัว พ่อแม่ที่ต้องมาร่วมกันปรับจูนความหมายในเรื่องนี้ให้ตรงกัน เพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศในมติแบบกว้าง ปรียากมล บอกว่าต้องสร้างกลไกในชุมชนให้มีส่วนร่วมและเข้าใจความหมายในเรื่องนี้ โดยจะต้องเตรียมทีมในชุมชนเพื่อทำงานในด้านนี้ โดยทีมดังกล่าวต้องทำงานกับ เด็ก พ่อแม่ ครู สมาชิกในชุมชน
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการเรียนรู้เรื่องเพศโดดๆในชุมชนได้ มันแตกต่างจากเรื่อง ขยะ สิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องเพศมีเรื่องความคิดความเชื่อ มุมมอง การทำงานในเรื่องนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างการมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน”
การสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาในชุมชน จึงไม่ต่างจากการเข้าไปทลายกำแพง วัฒนธรรมความคิดความเชื่อใหม่ ซึ่งต้องอาศัยควมเข้าใจและความร่วมมือจากส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชนทุกกลไก
การสร้างการเรียนรู้ในเรื่องนี้จะต้องเตรียมชุมชนหรือ หาคณะทำงาน ที่ประกอบด้วยหน่วยงานหลักในชุมชน เช่นตัวแทนจาก รพสต. อสม. ครู อบต. เด้กเยาวชนในชุมชน ผู้ปกครองมาร่วมเป็นคณะทำงาน
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ ปรับความคิด ทัศนคติของคณะงานต่อเรื่องเพศศึกษา เพื่อไม่ให้มีความหมายในมิติที่คับแคบเกินไป
“เมื่อเราปรับทัศนคติขยายมุมมองแล้ว คณะทำงานก็จะเริ่มสำรวจ ปัญหาในชุมชนและมาออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อปรับมุมมองเรื่องเพศแบบใหม่”
โครงการร้อยชุมชน สร้างสุขภาวะทางเพศ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยมีชุมชนจากทุกภาคทั่วประเทศมาเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ด้วยความใหม่ และเป็นเรื่องยากทำให้การเตรียมคณะทำงานชุมชนในเรื่องสุขภาวะทางเพศ จำเป็นต้องมีโค้ช ประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนและช่วยตอบคำถามที่บางครั้งปัญหาเหล่านี้อาจจะละเอียดอ่อนเกินกว่าคณะทำงานจะรับมือได้
ทีมโค้ช หรือ พี่เลี้ยง1 คน จะต้องดูแล10 ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของ วีรวรรณ กังวานนวกุล หนึ่งในทีมพี่เลี้ยงที่ดูแล ชุมชนในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ พบว่า ปัญหาหรือมุมมองต่อเพศศึกษา โดยในพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นเรื่องของชาติพันธ์ก็จะมีปัญหาในเรื่องภาษา เพราะคำว่าเพศใน ภาษา ปากะญอ ไม่มี แต่จะเรียกจู่ หรือจิ๋มไปเลย ทำให้การทำความเข้าใจเรื่องเพศที่มีมติกว้างทำได้ยาก ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ก็มีความคิดความเชื่อเรื่องศาสนา
“กระบวนการทำงานจึงต้องปรับมุมมอง ค่อยๆอธิบาย เพื่อความเข้าใจร่วมกันก่อน พี่เลี้ยงจะค่อยร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะทำงาน เพื่อประเมินวิธีการทำงานและช่วยกันแก้ปัญหา”
แม้วันนี้ โครงการร้อยชุมชนสร้างสุขภาวะทางเพศ จะเดินทางมาถึงครึ่งทาง วีรวรรณ ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ่น โดยเฉพาะในเรื่องมุมมอง ที่เปิดกว้างและการกล้าพูดคุยในเรื่องนนี้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต จะช่วยสกัดการท้องไม่พร้อมของวัยรุ่นได้มากขึ้น