ท่องเที่ยววิถีชุมชน “บ้านท่าฉัตรไชย” สัมผัสเมืองภูเก็ตในมุมมองใหม่
ท่องเที่ยววิถีชุมชน “บ้านท่าฉัตรไชย” สัมผัสเมืองภูเก็ตในมุมมองใหม่
ดึงทุนและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็น “จุดขาย” ขยายผลสร้างสุขภาวะยั่งยืน
ด้วยศักยภาพเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกในฉายา “ไข่มุกอันดามัน” จังหวัดภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยทรัพยากรหลากหลาย ตั้งแต่ภูมิศาสตร์ที่งดงามจากป่าเขาจรดทะเล และหมู่เกาะรายรอบ ความเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายเชื้อชาติประเพณี ไปจนถึงความพร้อมทางบริการธุรกิจหลายด้าน
ในจำนวนกว่าห้าล้านคนต่อปีของนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังภูเก็ตก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง จนภูเก็ตมีฐานะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาค แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมายังภูเก็ตผ่านทางสนามบินนานาชาติภูเก็ต แต่ก็ยังมีนักเดินทางจำนวนไม่น้อยผ่านเข้าออกภูเก็ตโดยรถยนต์ผ่านทางเหนือสุดของเกาะที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “สะพานสารสิน” ที่มาของเรื่องราวอันเป็นตำนานรักเล่าขาน
เมื่อผ่าน “สะพานเทพกษัตรี” ซึ่งถูกใช้งานแทนสะพานสารสินเดิมที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา นับเป็นการก้าวเข้าสู่ภูเก็ตเมืองไข่มุกแห่งอันดามัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าประตูแรกของการก้าวสู่ภูเก็ตที่เรียกว่าชุมชน “บ้านท่าฉัตรไชย” นั้นกลับเคยเป็นแหล่งชุมชนประมงพื้นบ้านที่สกปรกและเสื่อมโทรมไม่ถูกสุขลักษณะ
“ตอนนั้นเหมือนกับไม่ใช่ภูเก็ต ไม่ใช่ไข่มุกอันดามัน แต่ตรงนี้มันกลายเป็นอะไรไม่รู้ ผมอยากเรียกว่า เป็นเมืองชายขอบ” สมพร แทนสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านท่าฉัตรไชย ฉายภาพเก่าด้วยการเล่าว่า ชุมชนแห่งนี้แทบทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุ จึงไม่มีศักยภาพที่จะดึงนักลงทุนมาสร้างกิจการรองรับการท่องเที่ยวได้ ประกอบกับเป็นท่าเทียบเรือประมงและชุมชนของชาวเลมอแกล็น สภาพแวดล้อมจึงเต็มไปด้วยขยะไม่ถูกสุขลักษณะ อีกทั้งเนื่องจากสภาพพื้นที่และภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลและป่าโกงกางจึงมีปัญหาการลักลอบขนส่งหรือเป็นจุดพัก ทำให้ยาเสพติดแพร่หลายในหมู่บ้าน และเมื่อร่วมด้วยกับปัญหาความยากจน หมู่บ้านในละแวกนี้จึงกลายเป็นชุมชน “ชายขอบ” ของภูเก็ตโดยแท้จริง
ปัญหาที่ถูกมองด้วยความเป็นห่วงส่งผลให้คนชุมชนหันหน้าเข้าหากันร่วมหาทางออก ด้วยการร่วมมือกันของสมาชิกในชุมชนประกอบกับการช่วยเหลือของหลายฝ่าย หนทางจัดการแก้ปัญหาก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ “การจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย” ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชุด โครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ได้ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งจนเกิดเป็นสภาผู้นำชุมชนที่สามารถสรรหารูปแบบการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ไปในทางดีขึ้นได้
“พื้นที่ 2 พันกว่าไร่ตรงนี้ เป็นที่ราชพัสดุเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นไม่มีนักลงทุนคนไหนที่จะมาสร้างลงทุน ไม่มีสปา ไม่มีรีสอร์ท ไม่มีอะไรเลย คนในหมู่บ้านใช้บ้านเป็นที่หลับนอนอย่างเดียว ตื่นขึ้นมา ไปทำงานที่อื่น ไปขายของที่อื่น เราจึงพยายามทำและปรับเปลี่ยนหมู่บ้านของเราว่าทำอย่างไรชาวบ้านสามารถขายของหน้าบ้านได้ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชนได้ ก็เลยกำหนดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว เอาธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนมาเป็นจุดขาย โดยที่เราไม่ต้องไปสร้างอะไรเลย ไม่ต้องเตรียมอะไรมากมายเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แต่เดิมแล้ว” ผู้ใหญ่สมพรกล่าว
จากทุนของชุมชนอันประกอบด้วยทุนทางสภาพแวดล้อม มีพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ การเดินทางสะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ มีสถานที่ท่องเที่ยวและจุดชมหลายแห่ง มีทุนทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากสะพานสารสินจุดกำเนิดตำนานความเชื่อและความรักไปจนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนชาวเลมอแกล็นที่ถ่ายทอดผ่านทางประเพณีและวัฒนธรรม
รวมไปถึงในพื้นที่มีกลุ่มอาชีพในชุมชนที่หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้าน, กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ, กลุ่มบาติก, กลุ่มผลิตของที่ระลึกของฝาก, กลุ่มหัตกรรมถักร้อย และกลุ่มเกษตรปลูกผักอินทรีย์เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์ของพระราชา จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้พร้อมมากในการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ดังนั้นที่ประชุมจึงกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวแบบศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชน จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ “เมืองหน้าด่าน ตำนานรักสารสิน ถิ่นมอแกล็น ดินแดนวัฒนธรรม” ซึ่งมีกิจกรรมเด่นหลากหลายเช่น เรียนรู้ภาพรวมของภูเก็ตที่ประตูเมือง สาธิตการจับจั๊กจั่นทะเล สัตว์น้ำหายากที่ชายหาดทรายแก้ว ล่องเรือลอดสะพานอธิษฐานรัก และเรียนรู้การเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง ศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน เดินชมวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวมอแกล็น ฯลฯ
ผู้ใหญ่สมพรยังระบุอีกว่า “เมื่อเปิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ในเส้นทางการท่องเที่ยวต้องสะอาด ต้องปลอดภัย สองอย่างนี้ถือว่าเป็นจุดหลักเลย ถ้าอยากให้คนมาก็ต้องช่วยกัน เมื่อก่อนชาวเลเขาไม่สนใจนักท่องเที่ยวหรอก เขาก็ทำมาหากินตามวิถีชีวิตของเขา แต่ปัจจุบันมันจำเป็นต้องสนใจแล้ว ก้าวมาสู่ยุคใหม่แล้ว เขาต้องปรับตัว ชาวเลไปหากุ้งหาปูหาหอยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ตอนนี้ทำไม่พอกิน ชาวเลต้องออกไปรับจ้าง ขับเรือจ้างบ้าง ทำเกษตรบ้าง บ้างก็แสดงออกเน้นเรื่องราววิถีชีวิตที่เขาทำจริงๆ เขาจะได้รายได้จากการตรงนั้นจากผลผลิต เช่น การแกะหอยขาย เป็นต้น”
จากแนวคิดด้านความสะอาดและปลอดภัย ส่งผลให้หมู่บ้านมีถังขยะทุกบ้านและมีการทำความสะอาดบ้านเรือนเสมอ และมีการรณรงค์การเที่ยวในชุมชนโดยปราศจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ส่งผลให้ชุมชนก้าวหน้าไปในทิศทางเชิงบวกที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะของชุมชน ทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการลดละเลิกบุหรี่ สุรา และยาเสพติด อีกทั้งยังมีรายได้เสริมจากการค้าขายและให้บริการที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 300 ครัวเรือน
จากการสนับสนุนของ สสส. และผลของการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งในรูปแบบสภาผู้นำโดยมีระบบการจัดการที่ดีสร้างความสำเร็จให้แก่ชุมชนแห่งนี้ โดยมุ่งเป้าหมายที่สุขภาวะและยกระดับรายได้ของคนในชุมชน และจากข้อมูลทางสถิติที่เก็บไว้เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง ยังบ่งชี้ถึงเป้าหมายที่ชุมชนจะต้องก้าวต่อไป
“เรายังมีปัญหาในเรื่องของความผูกพันในครอบครัว พ่อแม่ตื่นเช้าเอาเงินวางไว้หลังทีวี หลังตู้เย็น ลูกก็มาหยิบเงินแล้วไปโรงเรียน แทบไม่ได้เจอกันเลย พ่อแม่ซึ่งถือว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่แค่เอาเงินให้ลูกไปโรงเรียน อันนี้มันเกิดปัญหามากมายตามมา เราอยากทำกิจกรรมเรื่องราวเหล่านี้เป็นภารกิจต่อไป โดยมุ่งที่กลุ่มเป้าหมาย 180 ครัวเรือน เพื่อให้พ่อแม่และเด็กได้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น” สัมพันธ์ ทองภิบาล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวสรุป
ผลสำเร็จในการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำสามารถสร้างสุขให้แก่ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชยอย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถพัฒนาต่อยอดกิจกรรมไปได้อย่างต่อเนื่องย่อมแสดงถึงแนวโน้มความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยที่ชุมชนสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในมิติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี.