‘ธนาคารขยะบ้านเขาขาว’ สร้างชุมชนสุขภาวะ ป้องกันปัญหาขยะสู้ภัยไข้เลือดออก
เมื่อชุมชนขยายตัวจากการมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการในการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ หากชุมชนใดขาดการบริหารจัดการเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรไม่ดีพอ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ก็ถูกคุกคามจากของเสียจำนวนมากจากการบริโภค จนในที่สุดก็อาจส่งผลกระทบกลับมายังผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ ที่ บ้านเขาขาว หมู่ที่ 5 เขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่เท่าๆ กัน รวม 343 ครัวเรือน มีประชากร 2,345 คน ขณะนี้กำลังเริ่มเผชิญกับปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกถึง 20 กว่าคน เพราะมียุงลายชุกชุม สาเหตุหนึ่งมาจากยุงสามารถไข่ในเศษขยะ จึงมีการดำเนินโครงการ ‘บ้านสะอาด ปลอดโรค ด้วยสองมือของชุมชน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผู้ที่ใกล้ชิดลงพื้นที่พบประชาชนอยู่บ่อยๆ อย่าง ละเอียด พรายแพร้ว ประธานอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำบลเขาคราม (อสม.) เล่าว่า “เมื่อปีที่แล้วชุมชนมีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก จัดได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงของการระบาดโรคไข้เลือดออกซึ่งมีพาหะเป็นยุงลาย เมื่อลงสำรวจพื้นที่ก็พบว่าแต่ละครอบครัวยังจัดการกับขยะไม่ถูกต้อง ขยะที่เป็นภาชนะบางชนิดมีน้ำขังเป็นที่วางไข่ของยุง ทำให้การแพร่พันธุ์เป็นไปได้ง่าย สมาชิกชุมชนจึงร่วมกันคิดแก้ปัญหาเรื่องขยะไปพร้อมกันกับการป้องกันยุงลาย”
“อสม. ลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำประจำเดือนอยู่แล้ว เราเห็นว่ามียุงไข่อยู่ในขยะต่างๆ ที่ฝนตกมาแล้วน้ำเข้าไปขัง ทำให้คนป่วยเป็นไข้เลือดออกกัน 20 กว่าคน โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต พื้นที่ของเราอยู่ปลายๆ เขต อบต. การจัดเก็บจึงยังไม่ทั่วถึง เบื้องต้นชุมชนของเราก็ต้องจัดการกันเองก่อน ปกติก็มีประชุมกับชาวบ้านทุกเดือนอยู่แล้ว ที่ประชุมก็เลยตกลงกันว่าจะทำธนาคารขยะในหมู่บ้านของเราขึ้น” ประธาน อสม.เขาคราม เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาขยะของชุมชนแห่งนี้
“จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้น ประกอบด้วย กลุ่ม อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน อบต. ผู้นำศาสนา และโรงเรียนซึ่งดำเนินโครงการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ร่วมประชุม กำหนดกติกา และเดินทางไปเรียนรู้การคัดแยกขยะกับหน่วยงานเอกชน และนำความรู้มาถ่ายทอดบอกกับลูกบ้านถึงวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง กำหนดวันรับฝากขยะ ธนาคารขยะจะเป็นตัวแทนรวบรวมขยะที่ได้นำไปขายให้เอกชน โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไปเอง และขยะบางประเภทสามารถแลกเป็นไข่นำกลับไปบริโภคได้ทันทีอีกด้วย หลังจากเริ่มโครงการ ชาวบ้านร่วมมือดี มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน แต่ก่อนเผาบ้าง ฝังบ้าง ทิ้งเรี่ยราดตามข้างทางก็มี ตอนนี้ชุมชนสะอาดขึ้น ไม่มีใครทิ้งขยะข้างทาง เด็กๆ ชอบมากที่มีโครงการนี้ เพราะทำให้มีรายได้ แย่งกันเก็บพวกขวดพลาสติกมาขายให้ธนาคารก็มีบ้างแล้ว ส่วนพวกขยะพิษที่ใส่สารเคมี เราจะเก็บรวบรวมไว้เป็นสัดส่วน แล้วให้ อบต. นำรถมาบรรทุกเก็บออกไป เงินทุนที่ได้จากการทำธนาคาร เราคิดว่าจะเอาไปพัฒนาหมู่บ้านของเรา และสนับสนุนกิจกรรมเข้าค่ายฤดูร้อนของเด็กๆ” ละเอียดระบุ