
“ธนาคารขยะบ้านเขาขาว” สร้างชุมชนสุขภาวะ
“ธนาคารขยะบ้านเขาขาว” สร้างชุมชนสุขภาวะ
ป้องกันปัญหาขยะ-สู้ภัยไข้เลือดออกด้วยพลังชุมชน
เมื่อชุมชนขยายตัวจากการมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการในการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ หากชุมชนใดขาดการบริหารจัดการเพื่อรองรับการขายตัวของประชากรไม่ที่ดีพอ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ก็ถูกคุกคามจากของเสียจำนวนมากจากการบริโภค จนในที่สุดก็อาจส่งผลกระทบกลับมายังผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ
ที่ บ้านเขาขาว หมู่ที่ 5 เขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ชุมชนเล็กๆแห่งนี้มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่เท่าๆกัน รวม 343 ครัวเรือน มีประชากร 2,345 คน ขณะนี้กำลังเริ่มเผชิญกับปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทำให้เมื่อปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกถึง 20 กว่าคน เพราะมียุงลายชุกชุม สาเหตุหนึ่งมาจากยุงสามารถไข่ในเศษขยะ สิ่งของเหลือใช้ที่มีน้ำขังได้ ทำให้สมาชิกในชุมชนทั้งสองศาสนาต้องจับมือกันแก้ปัญหาขยะ ดำเนิน โครงการ “บ้านสะอาด ปลอดโรค ด้วยสองมือของชุมชน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผู้ที่ใกล้ชิดลงพื้นที่พบประชาชนอยู่บ่อยๆอย่าง ละเอียด พรายแพร้ว ประธานอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำบลเขาคราม (อสม.) เล่าว่าเมื่อปีที่แล้วชุมชนมีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก จัดได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงของการระบาดโรคไข้เลือดออกซึ่งมีพาหะเป็นยุงลาย เมื่อลงสำรวจพื้นที่ก็พบว่าแต่ละครอบครัวยังจัดการกับขยะไม่ถูกต้อง ขยะที่เป็นภาชนะบางชนิดมีน้ำขังเป็นที่วางไข่ของยุง ทำให้การแพร่พันธุ์เป็นไปได้ง่าย สมาชิกชุมชนจึงร่วมกันคิดแก้ปัญหาเรื่องขยะไปพร้อมกันกับการป้องกันยุงลาย
“อสม. ลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำประจำเดือนอยู่แล้ว เราเห็นว่ามียุงไข่อยู่ในขยะต่างๆ ที่ฝนตกมาแล้วน้ำเข้าไปขัง ทำให้คนป่วยเป็นไข้เลือดออกกัน 20 กว่าคน โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต พื้นที่ของเราอยู่ปลายๆ เขต อบต. การจัดเก็บจึงยังไม่ทั่วถึง เบื้องต้นชุมชนของเราก็ต้องจัดการกันเองก่อน ปกติก็มีประชุมกับชาวบ้านทุกเดือนอยู่แล้ว ที่ประชุมก็เลยตกลงกันว่าจะทำธนาคารขยะในหมู่บ้านของเราขึ้น” ประธาน อสม.เขาคราม เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาขยะของชุมชนแห่งนี้
จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการขึ้น ประกอบด้วย กลุ่ม อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน อบต. ผู้นำศาสนา และโรงเรียนซึ่งดำเนินโครงการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ร่วมประชุม กำหนดกติกา และเดินทางไปเรียนรู้การคัดแยกขยะกับหน่วยงานเอกชน และนำความรู้มาถ่ายทอดบอกกับลูกบ้านถึงวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง กำหนดวันรับฝากขยะ ธนาคารขยะจะเป็นตัวแทนรวบรวมขยะที่ได้นำไปขายให้เอกชน โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไปเอง และขยะบางประเภทสามารถแลกเป็นไข่นำกลับไปบริโภคได้ทันทีอีกด้วย
“หลังจากเริ่มโครงการ ชาวบ้านร่วมมือดี มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน แต่ก่อนเผาบ้าง ฟังบ้างทิ้งเรี่ยราดตามข้างทางก็มี ตอนนี้ชุมชนสะอาดขึ้น ไม่มีใครทิ้งขยะข้างทาง เด็กๆชอบมากที่มีโครงการนี้ เพราะทำให้มีรายได้ แย่งกันเก็บพวกขวดพลาสติกมาขายให้ธนาคารก็มีบ้างแล้ว ส่วนพวกขยะพิษที่ใส่สารเคมี เราจะเก็บรวบรวมไว้เป็นสัดส่วน แล้วให้ อบต.นำรถมาบรรทุกเก็บออกไป เงินทุนที่ได้จากการทำธนาคาร เราคิดว่าจะเอาไปพัฒนาหมู่บ้านของเรา และสนับสนุนกิจกรรมเข้าค่ายฤดูร้อนของเด็กๆ” ละเมียดระบุ
ทางด้าน ศิริรัตน์ ห่อสุวรรณ ครูโรงเรียนทุ่งต้นปีก ตำบลเขาคราม กล่าวว่าทางโรงเรียนเองก็มีส่วนกับกิจกรรมนี้ โดยทางโรงเรียนได้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านทุ่งต้นปีก มาอบรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนในการคัดแยกขยะ และผลเสียหากไม่รู้จักการจัดเก็บให้ถูกวิธี ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ไม่มีขยะเกลื่อนกลาดให้เห็นในโรงเรียนและริมทางที่มายังโรงเรียน
“เด็กๆตื่นตัวมาก เพราะไม่คิดว่าขยะที่ทิ้งๆ กันจะมีค่า พอรู้ว่าขายได้ก็เก็บรวบรวมขยะกัน ริมถนนสะอาดขึ้น ในโรงเรียนไม่มีขยะให้เห็น เด็กป่วยก็มีน้อยลง การขาดเรียนจึงมีน้อย” คุณครูศิริรัตน์ ยืนยันถึงผลดีของการจัดการขยะอย่างถูกวิธี
ทางด้าน ส้าฝาด กิ่งแก้ว สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาคราม ยอมรับว่า อบต.อาจดูแลจัดเก็บขยะไม่ทั่วถึง แต่จะเป็นผู้ประสานงานให้รถมาบรรทุกขยะทุกสัปดาห์ และหากมีงานศพ หรืองานบุญต่างๆก็จะให้บริการเก็บขยะในงานด้วย ขณะเดียวกันก็ช่วยประชาวสัมพันธ์ผ่านรถขยายเสียงของ อบต. ให้ทุกหมู่บ้านจัดการจัดเก็บคัดแยกขยะให้ถูกวิธี
ธนาคารขยะบ้านเขาขาวแม้จะเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงพลังของคนในชุมชนที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของสัญญาณการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงหันมาร่วมกันสกัดกั้นปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ชุมชนแห่งนี้กลับมาน่าอยู่ สะอาด และปลอดภัย ไม่มีการระบาดของยุงลายอีกต่อไป.