“นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” บ้านห้วยเดื่อ
“นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” บ้านห้วยเดื่อ
ปลดความทุกข์ เติมความสุข เพื่อคุณภาพชีวิตผู้พิการ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่าปี 2562 ประเทศไทยมีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการไปแล้วจำนวน 1,995,767 คน แต่ตัวเลขที่เห็นนั้นอาจไม่ใช้จำนวนที่แท้จริงทั้งหมด เพราะยังมีผู้พิการอีกจำนวนไม่น้อยที่ตกสำรวจ จากทั้งสภาพพื้นที่ๆ ยากลำบากเข้าไม่ถึง และการขาดความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิ์ของผู้พิการ
เช่นเดียวกับที่ บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลผู้พิการ และพบว่ามีคนพิการอยู่ในชุมชนแห่งนี้เพียง 10 คนเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่มี “นสส.” หรือ “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” เกิดขึ้นในชุมชน ตัวเลขของผู้พิการรายใหม่ที่ค้นพบก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 22 คน เหตุผลหนึ่งมาจาก “ความไม่รู้” ทั้งเรื่องของความเจ็บป่วยหรืออาการทางร่างกายประเภทไหนที่เรียกว่าเป็นความพิการ รวมไปถึง “สิทธิ์” ที่ควรจะได้รับ และที่สำคัญคือขาดผู้ที่จะทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงสวัสดิการต่างๆ
“ป้าศรีพรรณ คำปันหล้า” และ “ลุงหมาย คำต่อม” เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการ” รุ่นแรกของชุมชนบ้านห้วยเดื่อที่ได้ผ่านการอบรมจาก เวทีอบรมสุนทรียสนทนาเพื่อพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชน กับทาง โครงการพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชนภาคเหนือ
หลังจากกลับมาในพื้นที่พร้อมกับองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้พิการ ทั้งป้าศรีพรรณและลุงหมาย ก็ได้เริ่มต้นสำรวจในชุมชนของตนเองใหม่ ควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลความต้องการของผู้พิการ หรือ ไอซีเอฟ (ICF) พร้อมกับจัดทำ “โครงการพัฒนานักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการแบบมีส่วนร่วมบ้านห้วยเดื่อ” เพื่อสร้างนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการเพิ่มในชุมชน เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมต่อการพัฒนาต่างๆ จากภาครัฐลงไปสู่ผู้พิการและครอบครัว ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักให้กับชุมชนในการสานพลังร่วมกันดูแลผู้พิการอย่างเป็นระบบ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าในชุมชนมีคนพิการกี่คน เพราะนึกว่าเป็นหน้าที่ของ รพสต. แต่พอได้เข้าร่วมอบรม นสส. ก็เข้าใจและรู้ว่าจะต้องมีการเจ็บป่วยหรือมีอาการอย่างไรบ้างที่สามารถเข้าเกณฑ์เป็นคนพิการได้ พอกลับมาสำรวจในชุมชนก็พบผู้พิการเพิ่มขึ้นอีก 22 คน ซึ่งก็ได้ประสานงานให้ทุกคนได้รับบัตร และได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้ครบทุกคน” ป้าศรีพรรณ เล่าถึงการทำงานในช่วงแรก
ปัญหาที่ทำให้ผู้พิการจำนวนมากในชุมชนแห่งนี้ตกสำรวจ มาจาก “ความไม่รู้” ทั้งที่ไม่รู้ว่าตัวเองนั้นเป็นคนพิการ ไม่รู้ว่าคนพิการมีสิทธิ์และสวัสดิการอะไรบ้าง ที่หนักไปกว่านั้นก็คือไม่รู้ว่าจะติดต่อใครให้พาไปทำเรื่องสิทธิ์ได้ที่ไหนอย่างไร
“ทีแรกเราก็ทำงานอยู่กับผู้สูงอายุ ก็ไม่ได้สนใจเรื่องของคนพิการ แต่พอไปอบรมกลับมาและลงพื้นที่สำรวจข้อมูลคนพิการก็ตกใจว่า เฮ้ย…ชุมชนของเรามันมีคนพิการเยอะขนาดนี้เลยเหรอ พอได้มาทำเราก็ดีใจและภูมิใจที่ได้ช่วยคนพิการมากกว่า 20 คน ให้เขาได้เข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ” ลุงหมาย ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้สูงอายุบ้านห้วยเดื่ออีกตำแหน่งหนึ่ง อธิบาย
แม้ว่าเงินช่วยเหลือผู้พิการจำนวน 800 บาทอาจดูไม่มากนัก แต่ในสังคมชนบทก็ถือเป็นจำนวนเงินไม่น้อยที่ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับครอบครัวและผู้ดูแลผู้พิการได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการมีชื่ออยู่ในระบบโดยไม่ตกหล่น ยังช่วยให้ผู้พิการได้รับการสนับสนุน และช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากหน่วยงานของภาครัฐตามวาระโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
“ทีแรกพอค้นหาผู้พิการครบ ป้าก็คิดว่างานน่าจะจบแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิ์ต่างๆ รวมไปถึงสวัสดิการจากหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เราต้องไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม ทีนี้ก็เลยมานึกถึงคนพิการและคนด้อยโอกาสคนอื่นๆ ในชุมชนใกล้เคียงเรา เขาก็ยังไม่มี นสส. นั่นแสดงว่ายังต้องมีคนที่ตกหล่นอยู่อีกจำนวนมาก ก็เลยไปชักชวนเพื่อนต่างหมู่บ้านมาช่วยกันทำงานเพื่อให้คนพิการในหมู่บ้านอื่นๆ ได้รับสิทธิ์เช่นกัน” ป้าศรีพรรณ เล่าถึงเป้าหมายใหม่
โดยที่ “บ้านห้วยเสือเฒ่า” และ “บ้านท่าโป่งแดง” เป็นอีกสองพื้นที่ๆ ป้าศรีพรรณและสมาชิกคนอื่นๆ กำลังชักชวนให้คนในพื้นที่หันมาดูแลเอาใจใส่ผู้พิการในชุมชนของตนเอง เพราะทุกคนต่างมองเห็นถึงความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่พิการนั้นน่าสงสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่จะน่าสงสารยิ่งกว่าถ้าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่ได้รับสิทธิ์ที่เขาควรจะได้รับ ที่สำคัญคือทุกคนอยากเห็นคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“พอรวมกลุ่มกันทำแล้วมันสนุกนะ มีความสุขด้วย ตัวเราเองก็ได้บุญ เราเอาแต่บุญ ส่วนคุณเราไม่เอา เวลาที่พวกเราเดินเข้าไปในชุมชนก็จะมีคนทักทายตลอด เวลาที่เห็นคนพิการและครอบครัวเขายิ้มให้ เราก็มีความสุขแล้ว มันเป็นความสุขใจที่เกิดจากการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะรอยยิ้มของคนดูแล และรอยยิ้มของคนพิการ ถือว่าเป็นความสุขของเราทุกคน” ป้าศรีพรรณ กล่าวในนามตัวแทนของ นสส. บ้านห้วยเดื่อ
ซึ่งการเกิดขึ้นของ นสส. ในแต่ละพื้นที่นั้น หน้าที่ๆ สำคัญไม่น้อยกว่าการค้นหา นำพาไปให้ถึงสิทธิ์ และความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของผู้พิการแล้ว นสส. ยังเป็นผู้ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไปสู่ครอบครัวของผู้พิการ ทั้งการทำให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลคนพิการในชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบ ชุมชนและครอบครัวมีความรู้มีความเข้าใจในการจัดการคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเหมาะสม เพื่อให้คนพิการและครอบครัวมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
“จริงๆ แล้วเราอยากที่จะเห็นทุกคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคนปกติ คนพิการ หรือคนที่ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปอย่างทัดเทียมกัน เพราะว่าถ้าทุกคนในหมู่บ้านในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หมู่บ้านของเรามันจะเจริญและพัฒนาขึ้น” ป้าศรีพรรณ กล่าวสรุป
ด้วยพลัง “จิตอาสา” ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยาก ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยมีคนพิการเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายการทำงานเพื่อชุมชนและสังคม อันจะทำให้หมู่บ้านห้วยเดื่อได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่ไม่ทอดทิ้งผู้พิการ และก้าวไปสู่การเป็นชุมชนสุขภาวะโดยไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลังต่อไปในอนาคต.