นักเรียนแจ่มหลวงรู้ค่าสมุนไพร สืบสานภูมิปัญญาปกาเกอะญอ

นักเรียนแจ่มหลวงรู้ค่าสมุนไพร สืบสานภูมิปัญญาปกาเกอะญอ

ชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพรตลอดเวลา ไม่ว่าจะกิน หรือใช้ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่เห็นคุณค่า และความสำคัญ จนไม่รู้ว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณอะไร สามารถใช้ส่วนไหนรักษาโรคใด และยามเจ็บไข้ได้ป่วย ควรกินอาหารชนิดไหน เพื่อไม่ให้อาการกำเริบ ภูมิปัญญาเหล่านี้นับวันจะถูกลืมเลือน และอาจสูญหายไปตามกาลเวลา ถ้าไม่มีการสืบทอดต่อของคนรุ่นใหม่

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เขตเมืองเท่านั้น บนดอยสูงและกลางป่าเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าจะใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาสมุนไพรค่อนข้างมาก ก็ประสบกับปัญหาไร้ผู้สืบทอดเช่นกัน อย่างเช่นที่บ้านแจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เมื่อคนรุ่นใหม่ ไม่สนใจใช้หรือศึกษาเรื่องราวของพืชสมุนไพรในท้องถิ่นของตนอีกต่อไป

สาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้ชาวปกาเกอะญอในตำบลแจ่มหลวง มองเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นลดลง แม้ลึกๆ จะยังมีการใช้ภูมิปัญญาของตนอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของสมุนไพร และอาหารพื้นบ้าน แต่ไม่มีการเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้

บุญเพิ่ม ฤทัยกริ่ม ชายวัยกลางคนที่เติบโตและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในพื้นที่มาโดยตลอด จึงได้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน และในฐานะที่เขาเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนแจ่มหลวงด้วย จึงหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และผู้รู้ในท้องถิ่น รวมทั้งประสานกับทางสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันขอทุนสนับสนุนดำเนินโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาสมุนไพรและอาหารพื้นบ้านชาวปกาเกอะญอ ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เพื่อชักชวนเยาวชนเข้ามาเรียนรู้พืชสมุนไพรและอาหารพื้นบ้าน ด้วยหวังว่าเยาวชนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาดั้งเดิมและพร้อมที่จะสืบทอดต่อไป

สิ่งที่ทุกคนค้นพบ คือเกิดเครือข่ายคนทำงานร่วมกัน และหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียน ชุมชน อบต. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ขณะเดียวกันก็มีการรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรได้ระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่หมด แต่ก็เริ่มต้นแล้ว และที่สำคัญคือมีการพยายามปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรียนเพื่ออนุรักษ์ไว้ ทำให้ทราบว่าสมุนไพรบางอย่างเป็นพืชเฉพาะถิ่น เติบโตได้เฉพาะถิ่น ไม่สามารถนำมาปลูกทั่วไปได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนได้เรียนรู้ว่าในพื้นที่ของตนมีพืชสมุนไพรอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ใช้อย่างไร และจะอนุรักษ์ได้อย่างไร เพื่อให้อยู่คู่กับชุมชนปกาเกอะญอไปเรื่อยๆ

ดนุพล ใจอ้าย ผอ.โรงเรียนแจ่มหลวง อธิบายว่า จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรสถานศึกษาก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นหลักสูตรท้องถิ่น และเมื่อภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรกำลังจะหายไปถ้าไม่มีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จึงบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตร และให้เด็ก ม.1 เรียนรู้ จะได้เก็บเกี่ยว สะสมประสบการณ์ พัฒนาองค์ความรู้ในแต่ละปี เมื่อเลื่อนขึ้นไปเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของพื้นที่เรียนรู้ ก็พยายามพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโครงการเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งมีคนทำในอำเภอกัลยาณิวัฒนา และเด็กนักเรียนของโรงเรียนแจ่มหลวงก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยจะเชื่อมให้จุดนี้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เด็กน่าจะนำเสนอเรื่องสมุนไพร และนำสมุนไพรบางชนิดมาบริการนักท่องเที่ยวได้ เช่น การประคบด้วยสมุนไพร การอบสมุนไพร หรือในอนาคตอาจต่อยอดไปถึงขั้นเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ โดยหวังว่าเด็กๆ เหล่านี้จะกลายเป็นผู้นำ ที่มีองค์ความรู้เรื่องสมุนไพร และรักษาไว้ให้ยังคงมีใช้อยู่ในเผ่าพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือแม้กระทั่งในชนเผ่าอาข่า ลาหู่  และลีซู ที่ส่งลูกหลานมาเข้าเรียนร่วมด้วย

ด.ญ.ศิริลักษณ์ เหม่อเข่อ นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า เรียนรู้เรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่ชั้น ม.1 แล้วพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนรู้จักพืชผักหลายชนิด และรู้ว่าแต่ละชนิดมีสรรพคุณอย่างไร แถมยังใช้ประกอบอาหาร หรือรักษาโรคได้ เช่น ไพล หรือปูเลย ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการนำหัวไพลไปต้มดื่ม  หรือเมื่อมีบาดแผลเลือดออก ก็ใช้ใบสาบเสือขยี้แล้วโปะตรงบาดแผล ช่วยห้ามเลือดได้

ด้าน สุวรรณี แดนพงพี ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า นอกเหนือจากการปลูก และเรียนรู้พืชสมุนไพรเพื่อการอนุรักษ์แล้ว ยังใช้ประโยชน์ในการนำมาทำอาหารพื้นบ้าน ซึ่งการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนแต่ละสัปดาห์ พยายามให้มีเมนูท้องถิ่น เด็กจะได้รู้จักและสามารถนำไปทำที่บ้านได้ด้วย เช่น น้ำพริกดำ ทำจากพริกกะเหรี่ยง คั่วให้แห้งมีสีดำ ก่อนตำให้ละเอียดกับถั่วเน่า และผักกาดดองตากแห้ง เวลามีไข้ ไม่สบาย กินแล้วจะช่วยขับให้เหงื่อออก

ที่สำคัญในการกินน้ำพริกดำ ต้องมีผักแกล้ม ทั้งผักนึ่งและผักสด อาทิ หัวไพล (ปูเลย) แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มะระขี้นก ผักโขม ฟักทอง ยอดมันสำปะหลัง มะแว้ง ดอกข่า ใบบัวบก พริกกะเหรี่ยง กระชายป่า พบอะไรอยู่ในเขตรั้วบ้านหรือไร่นา ก็เก็บมาเป็นอาหารได้ ซึ่งแรกๆ เด็กบางคนอาจไม่ชอบ ต้องปลูกฝังให้ค่อยๆ กินผัก อธิบายให้เข้าใจว่าพืชผักแต่ละอย่างมีประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่สบายท้อง ดอกข่า ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ แค่กินเป็นอาหารก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอีก

“สังเกตว่าตอนหลังเด็กๆ ชอบกินอาหารที่เป็นเมนูท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเบ๊อะ แต่ละเดือนต้องทำเมนูนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ในสมัยก่อนเมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะทำข้าวเบ๊อะ ด้วยการนำข้าวมาต้มให้เละ มีผักหรือเนื้ออะไรก็ใส่ลงไป อย่างใบแมงลัก หน่อไม้สด หมู เป็นอาหารอ่อน กินง่าย คล้ายข้าวต้ม” ครูสุวรรณี เล่า

ขณะที่ ศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) กล่าวถึงการเข้ามาสนับสนุนโครงการว่า เป็นโครงการที่เกิดจากความตั้งใจของคนในพื้นที่เอง และมีประเด็นที่เชื่อมโยงถึงเครือข่ายในหลายภาคส่วน ชุมชนเลือกปฏิบัติการสิ่งที่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่มีความหมาย มีความสำคัญ คือเรื่องอาหารท้องถิ่น และพืชสมุนไพร ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สร้างความชัดเจน มีความเชื่อมโยงกับเครือข่าย และยังสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เด็กที่อยู่ในบ้าน ยังเชื่อมมาถึงโรงเรียนด้วย

และแม้ว่าการแพทย์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด แต่ภาพรวมสำหรับชุมชนที่นี่ มองว่าการรักษาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านยังไปด้วยกันได้ อาจมีผู้รู้ หรือครูภูมิปัญญาบางคนที่ปฏิเสธการแพทย์สมัยใหม่ ยังยึดมั่นในการรักษาแบบโบราณโดยใช้สมุนไพรเป็นหลัก สะท้อนถึงความมั่นคงเรื่องการใช้สมุนไพร และวิถีการรักษาแบบพื้นบ้าน เท่าที่ทราบผู้รู้บางคนไม่เคยไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเลย เมื่อเจ็บป่วยก็จะกินยาสมุนไพรที่ปรุงเอง หรืออาหารที่ถือว่าเป็นยาไปในตัว ซึ่งก็หายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ความมั่นใจ และองค์ความรู้ที่ผู้เฒ่าผู้แก่มี ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง และมีการสืบทอด ให้พวกเขาได้กินอาหารที่ปลอดภัย แข่งกับระบบตลาด ร้านค้า ที่อาจมีอาหารที่ไม่ปลอดภัยเท่า

               การเริ่มต้นที่โรงเรียนจึงถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ ที่มีระบบ กระบวนการที่ดี มีแผนในการดึงผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสมุนไพรที่อยู่ในสวนให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และให้ช่วยดูแล ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงาน องค์กร ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ก็ควรนำองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรและอาหารพื้นบ้าน กลับเข้าสู่องค์กรแล้วนำไปปฏิบัติด้วย เช่น โรงพยาบาล สมุนไพรจะถูกนำไปใช้ได้อย่างไร อาหารท้องถิ่นเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่ หรือต้องสั่งอาหารจากข้างนอกเข้ามาให้ เพื่อให้นโยบายกับการปฏิบัติเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน และเกิดความยั่งยืนในการสืบทอดภูมิปัญญา องค์ความรู้ด้านสมุนไพร อาหารพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ