บทเรียนโครงการชุมชนน่าอยู่: โมเดล รพ.สต.โค้งไผ่ บ้านหนองกระทิง ม.10 จ.กำแพงเพชร

บทเรียนการดำเนินงานของกลไกการดำเนินงานโครงการชุมชนน่าอยู่โมเดล รพ.สต.โค้งไผ่ จ.กำแพงเพชร

พื้นที่โครงการชุมชนน่าอยู่ บ้านหนองกระทิง หมู่ที่ 10 ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

โดย นางสาวศุภกาญจน์  แจ่มหม้อ

ทีมสนับสนุนวิชาการ หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ

1. บริบทของพื้นที่

เดิมบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเป็นป่าดง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลางป่ามีหนองน้ำที่สัตว์ใช้เป็นที่เดิมกินและชำระล้างร่างกาย ระบายความร้อน ต่อมามีชาวบ้านมาหาของป่า และจับสัตว์น้ำ ตัดไม่เผ่าถ่าน มีชาวบ้านเข้ามาปลูกกระท่อม หลายครอบครัวมาจับจองที่ดินเพื่อประกอบอาชีพและเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาทางการได้ทำถนนเป็นสายเชื่อมกับภาคเหนือคือถนนพหลโยธิน ที่ตั้งของหมู่บ้านหนองกระทิงเป็นดอนน้ำไม่ท่วมขัง และมีถนนพหลโยธิน ผ่านกลางจึงเป็นที่พักไม้ที่ขนมาจากทางภาคเหนือซึ่งเป็นปางไม้เก่าและทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินและใช้สำหรับอุปโภคต่างๆของผู้ที่มาพักพิงและตั้งบ้านเรือนในขณะนั้น หนองน้ำนั้นจึงเรียกว่าหนองกระทิง โดยการบอกเล่ากันมาว่ามีวัวกระทิงลงมาหากินและดื่มน้ำในหนองน้ำนี้เป็นประจำ  ในปี 2522 บ้านหนองกระทิงได้แยกออกมาจากหมู่ที่ 1 บ้านโค้งไผ่ โดยมีนายกึ่ง ดีสุข เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบันนางสาวสุนิษา จันทร์หา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

บ้านหนองกระทิงมีพื้นที่ทั้งหมด 3,287 ไร่ ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร 75 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอขาณุวรลักษบุรี 22 กิโลเมตร อาณาเขต ทางด้านทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านโค้งไผ่ ทิศใต้ บ้านโคกเลาะ ตำบลดอนแตง ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านหนองขาม ตำบลเกาะตาล และทิศตะวันออกติดต่อกับบ้านหลวง  มีครัวเรือนทั้งหมด 105 หลังคาเรือน ประชาชนอยู่จริง จำนวน 300 คน จำแนกเป็นชาย จำนวน 139 คนและ หญิงจำนวน 161 คน ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 52 คน อายุ 15-59 ปี จำนวน 178 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 70 คน และประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 248 คน

ปัญหาด้านอุบัติเหตุก่อนดำเนินโครงการ พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนประสบอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 16 ครั้ง และมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 1 ครั้ง ขั้นบาดเจ็บ จำนวน 25 คน ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 62.07 อยู่ในช่วงอายุ 15 – 19 ปี จำนวน  5 คน ช่วงอายุ 20 – 24 ปี จำนวน 4 คน ช่วงอายุ 25 – 29 ปี จำนวน  5 คน ช่วงอายุ 35 – 39 จำนวน 4 คน ช่วงอายุ 40 – 44 ปี จำนวน 2  คน  ช่วงอายุ 45 – 49 ปี จำนวน 2  คน และช่วงอายุ 64 – 69 ปี จำนวน 3 คน  เวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ 1 ครั้ง ช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ 3 ครั้ง ช่วงเทศกาลงานประจำปีของตำบล 2 ครั้ง ช่วงงานบุญ งานบวช 1 ครั้ง และช่วงสัญจรปกติ 9 ครั้ง  โดยมีจุดเสี่ยง จำนวน 4 จุด คือบริเวณจุดกลับรถ โค้งไผ่ – หนองกระทิง เส้นทางระหว่างปั้ม ปตท.โค้งไผ่ ถึง จุดกลับรถโค้งไผ่ หนองกระทิง สามแยกติดต่อกับทางหลวงพหลโยธิน 2 จุด  และถนนผิวทางชำรุด ระยะทางเฉลี่ย 1 กิโลเมตร  แยกเป็นจุดเสี่ยงในชุมชนที่สามารถแก้ไขได้โดยชุมชน 4 จุด และจุดเสี่ยงในชุมชนที่ชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้เองต้องทำร่วมหรือส่งต่อแขวงการทางกำแพงเพชร จำนวน 1 จุด โดยมีลักษณะถนนยุบตัว ผิวทางชำรุดและขาดไฟสัญญาณเตือนหรือป้ายเตือน และถนนสัญจรภายในชุมชน จำนวน 3 ซอย มีจุดเสี่ยง จำนวน 1 จุด แยกเป็นจุดเสี่ยงในชุมชนที่สามารถแก้ไขได้โดยชุมชน  1 จุด คือบริเวณ ซอยข้างศาลาเอกนประสงค์ จุดเสี่ยงในชุมชนที่ชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้เองต้องทำร่วมหรือส่งต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่ และสถานีตำรวจภูธรอำเภอขาณุวรลักษบุรีจำนวน  2  จุด คือบริเวณจุดกลับรถ และเส้นทางระหว่างปั้ม ปตท.โค้งไผ่ ถึง จุดกลับรถโค้งไผ่ ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยง เช่น ขับรถความเร็วเกินกำหนด เบรกกะทันหัน เมาแล้วขับ ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ขับรถย้อนศร ไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกนิรภัย พูด/เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ

ชุมชนบ้านหนองกระทิง ทุนเดิมทั้งกรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ความรู้ วัฒนธรรม ภาคีเครือข่าย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กองทุนชุมชน แกนนำ ฐานข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ทุนทางการบริหารจัดการ องค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่  มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการอย่างเป็นกระบวนการ มีเครื่องมือในการจัดเก็บบันทึกข้อมูล และสนับสนุนการบริหารจัดการด้านต่าง ๆของหมู่บ้านเป็นอย่างดี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่  ได้รับรางวัล อปท.ที่มีการบริหารจัดการที่ดี

ทุนทางสังคม ความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านอยู่กันอย่างพี่น้อง ทีถ้อยอาศัย มีความเป็นกันเอง มีการช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันซึ่งกันและกัน  มีผู้นำที่ดี มีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาที่ดี  และสืบทอดกันมายาวนาน ในชุมชนมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่หลากหลาย เช่น การทำเครื่องจักสานต่าง ๆ หมอเป่า/หมอพ่นโบราณ วัฒนธรรมไทยทรงดำ

ทุนทางความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย มีจิตอาสา  มีการพัฒนาหมู่บ้านปลอดยาเสพติด  สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด มีการจัดตั้งแกนนำชุมชนในการดูแลและป้องกันและรักษาทรัพย์สินของประชาชน การอยู่เวรยามในการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล การปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคระบาดที่สำคัญ เช่น ไข้เลือดดอก โรคไวรัสโคโรน่า โควิด-19 เป็นต้น

การขับเคลื่อนการทำงานต่าง ๆ ในชุมชนบ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้นำชุมชนในการขับเคลื่อน โดยมีผู้ใหญ่ สุนิสา จันทร์หา ในฐานะของหัวหน้าผู้นำชุมชนบ้านหมู่บ้าน  เป็นผู้นำในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานด้านต่าง ๆ โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน และแกนนำกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ช่วย การทำงานของชุมชน จะมีการประชุมประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกเดือน และมีเวทีประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชนโดยการใช้หลักการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประสาน และนำปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้านมาเป็นแผนพัฒนาหมู่บ้าน และมีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้เป็นแผนที่ใช้ได้กับสภาพที่จำเป็นเร่งด่วนของหมู่บ้าน

2. การก่อตัวของกลไกพี่เลี้ยง รพ.สต.

1) จำนวนพี่เลี้ยงใน รพ.สต. การจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง และ การบริหารจัดการภายในทีม

ชุมชนบ้านหนองกระทิง ขับเคลื่อนโครงการภายใต้ประเด็นการจัดการจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน โดยมีพี่เลี้ยง รพ.สต. จำนวน 5 คน ร่วมเป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนโครงการ ประกอบไปด้วย พี่เลี้ยงพื้นที่ คือ นางสาวศุภกาญจน์ แจ่มหม้อ ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข ชำนาญงาน  รับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมพี่เลี้ยง และมีพี่เลี้ยงเครือข่ายสาธารณสุข  และมีพี่เลี้ยงใหม่ คอยหนุนเสริมการทำงานต่อเนื่อง จำนวน 4 คน นางสาวสุมิตา ภูสูสี ตำแหน่งแพทย์แผนไทย พี่เลี้ยงต่าง รพ.สต. นางสาวนันทลียา โสภณ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงาน (รพ.สต.วังน้ำพุ ต.โค้งไผ่) นางสาววิลาวรรณ เขน่วม ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงาน (รพ.สต.วังหามแห  ต.วังหามแห ) นางสาวนุจรี เจริญผล ตำแหน่งแพทย์แผนไทย (รพ.สต.วังชะพลู  ต.วังชะพลู )  นับเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่จำนวน 2 ราย และพี่เลี้ยงต่าง รพ.สต.จำนวน 3 ราย ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยหนุนเสริมการทำงานของทีมสภาผู้นำบ้านหนองกระทิง โดยการการจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง และ การบริหารจัดการภายในทีม ให้เกิดความคล่องตัว ให้เกิดความคล่องตัว เกิดรูปธรรมในการหนุนเสริมสภาผู้นำชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง รพ.สต.ในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงหลัก ในการหนุนเสริมการทำงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งบ้านหนองกระทิง หมู่ที่ 1 มีพี่เลี้ยงโมเดล รพ.สต.หลัก คือ นางสาวศุภกาญจน์ แจ่มหม้อ เจ้าพนักงานสาธารณสุข ชำนาญงาน  รพ.สต.โค้งไผ่ และนางสาวนุจรี เจริญผล แพทย์แผนไทย (รพ.สต.วังชะพลู  ต.วังชะพลู )   รับผิดชอบดูแลเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาหลัก แต่ก็พบว่า พี่เลี้ยงที่ปรึกษาหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในพื้นที่ ทำให้การประสานงาน การลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชุมชน หนุนเสริมการทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นสภาผู้นำชุมชนจึงเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินงานต่าง ๆในชุมชนกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังต้องการพี่เลี้ยงช่วยให้ข้อเสนอแนะในบางประเด็นเท่านั้น

2) สมรรถนะพี่เลี้ยงใน รพ.สต.

พบว่า พี่เลี้ยงหลักคือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.โค้งไผ่ จำนวน 2 ท่าน อยู่ในขั้นที่ 3  สามารถขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต. ชุมชน และภาคีได้ สามารถหนุนเสริมให้ทีมสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองกระทิง สามารถหนุนเสริมชุมชนในการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และรพ.สต. ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเองของหมู่บ้านได้ ครอบคลุมทุกด้าน ทุกประเด็น (ทำเอง ทำร่วม ทำขอ)

พบว่า การสร้างทีมพี่เลี้ยงที่มีสมรรถนะได้นั้น จำเป็นต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน และมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล และที่สำคัญต้องมีใจเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และรับรู้อุปสรรค รับประโยชน์ที่ได้รับร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3. กลไกพี่เลี้ยง รพ.สต.

1) การกำหนดการกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน

โดยพี่เลี้ยง รพ.สต.และสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองกระทิง ร่วมกันกำหนดภารกิจของการดำเนินการประเด็นหลักร่วมกันคือ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจุดเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่ และขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บทางถนนระดับตำบลโค้งไผ่ D- RTI จึงมีการกำหนดภารกิจหลักแก่ทีมพี่เลี้ยงในการหนุนเสริมชุมชน และร่วมพัฒนาชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับผลลัพธ์เชิงประเด็นของชุมชนและตัวชี้วัดของหน่วยงาน คือ ความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ (บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต) ณ.จุดเสี่ยงที่ได้รับการแก้ไขลดลง โดยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 23.2 ต่อประชากรแสนคน ภายใต้การขับเคลื่อนการป้องกันการบาดเจ็บทางถนน  RTI โครงการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การกำหนดการกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน ได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจตัวชี้วัดร่วม หรือเป้าหมายร่วมที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ตอบโจทย์ในภาพรวมของตำบลโค้งไผ่

2) การสื่อสารภายในทีมและหัวหน้าหน่วยงาน

ประเด็นที่จำเป็นต้องสื่อสารต่อเนื่อง ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจการทำงานชุมชนน่าอยู่ (โมเดล รพ.สต.) อาทิเช่น เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง  การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา (ARE) และระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล และออกแบบและเก็บข้อมูลสถานะสุขภาพของ รพ.สต. และข้อมูลเชิงประเด็นของทีมสภาผู้นำชุมชน รวมถึงการประสานการทำงานระหว่าง รพ.สต. สภาผู้นำชุมชนและหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือและภาคีในพื้นที่ตำบลโค้งไผ่

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การสื่อสารต่อเนื่อง เกิดประสิทธิผล นำไปสู่ความเข้าใจและทักษะได้นั้นจำเป็นต้อง มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่น ๆ ในชุมชน และมีรายงานการประชุมทุกครั้ง และทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม มีช่องทางการสื่อสารที่พี่เลี้ยงเข้าถึงง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชนดำเนินการให้สมาชิกทีมพี่เลี้ยงรับทราบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง  เพื่อช่วยกันวิเคราะห์จุด่อน จุดแข็งของชุมชน นำไปสู่การหนุนเสริมและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ทันเวลา ไม่มีความเสี่ยงระหว่างดำเนินงาน เช่น การจัดกิจกรรมตามกำหนดการ การเบิกจ่ายเงิน เอกสารการเงิน เอกสารสรุปความก้าวหน้า และการทำงานภายในทีมของสภาผู้นำชุมชน เป็นต้น

4. สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่าง ๆ ในชุมชนได้เอง โดยพึ่งพาพี่เลี้ยงในบางครั้ง

วิธีการสื่อสารกับหัวหน้าหน่วยงานกรณีที่หัวหน้าไม่ได้เป็นพี่เลี้ยง

1) รูปแบบการเรียนรู้ภายในทีม จำเป็นต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องตลอดการทำกิจกรรมในโครงการ เนื่องจากเมื่อหัวหน้าหน่วยงานไม่ได้อยู่ในบทบาทของพี่เลี้ยง รพ.สต. อาจจะไม่เข้าใจในระบบการทำงานของทีมสภาภายใต้กลไกชุมชนน่าอยู่ การสื่อสารระหว่างพี่เลี้ยง รพ.สต. ทีมสภาผู้นำ และหัวหน้าองค์กร ควรมีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ให้ทราบความเป็นไป ผลลัพธ์ของโครงการจึงจะส่งผลต่อการเรียนรู้ภายในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) การสร้างการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหา ได้ดำเนินการโดย พี่เลี้ยง ต้องเข้าร่วมเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของกิจกรรมในชุมชน และในการประชุมหรือร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจเรื่องการดำเนินงาน และเสนอแนะ พิจารณาปัญหาใหม่ๆ รวมทั้งมีการร่วมติดตามประเมินผลได้ทุกคน โดยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้พี่เลี้ยงและสมาชิกชุมชนเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และสมาชิกชุมชนทุกคน สามารถแสดงความคิดเห็นมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมตัดสินใจ และสมาชิกชุมชนมีข้อเสนอแนะ หรือให้ทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาชุมชนมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของทีมพี่เลี้ยงและสภาผู้นำชุมชน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล หรือสามารถร่วมประเมินความสำเร็จของชุมชนได้ จึงจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของทีมงานและต่อกลไกสภาผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้านได้

5. การบริหารจัดการเป้าหมายร่วมของพื้นที่

1) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ องค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขน  ได้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน คือ ตัวชี้วัดร่วมในโครงการ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง ลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน โดยมีตัวชี้วัดร่วมกันคือ 1) จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุ ณ.จุดเสี่ยงที่ได้รับการแก้ไขลดลง 2) ความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ (บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต) ณ.จุดเสี่ยงที่ได้รับการแก้ไขลดลง โดยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 23.2 ต่อประชากรแสนคน โดยการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้เกิดการยอมรับ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้จริง จำเป็นต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน

2) การวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขนจากเป้าหมายร่วมที่กำหนดด้วยการรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชุมชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยขอข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีตำรวจในพื้นที่ มาประมวลผล จัดเวทีประชาคมทำความเข้าใจโครงการร่วมกับสมาชิกชุมชนรวมถึงการคืนข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนที่เกิดขึ้นให้แก่สมาชิกชุมชน ทั้งนี้ จะต้องร่วมกันวิเคราะห์จุดเสี่ยงค้นหาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อทำแผนการปรับปรุงจุดเสี่ยง โดยร่วมกันออกความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงลักษณะของอุบัติเหตุบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย และร่วมกันคัดเลือกและจัดลำดับจุดเสี่ยงที่ต้องการทำการปรับปรุงแก้ไขก่อน-หลัง และกำหนดข้อตกลงร่วมของชุมชนในการแก้ไขจุดเสี่ยงและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงที่ชุมชนจะแก้ไข จึงจะเกิดการยอมรับ จัดแบ่งหน้าที่และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

3) การดำเนินงานและการจัดการทรัพยากรร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขน จากแผนการดำเนินร่วมที่กำหนด โดยที่ผ่านมาได้จัดการทรัพยากร คือ การแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ด้วยการเก็บ รวบรวมข้อมูลและบันทึกผลในชุดข้อมูลแหล่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูล หรือป้องกันการคลาดเคลื่อนของข้อมูลนั้น ๆ โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้หรือต้องมีเงื่อนไข คือ การออกแบบการเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน หรือ ใช้แบบฟอร์มเดียวกัน

4) การติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดร่วมกัน ด้วยการ ร่วมประชุมประจำเดือนของสภาผู้นำชุมชน หรือของหมู่บ้านหรือของ รพ.สต. โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ 1) สรุปข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดในผลลัพธ์ประเด็นนั้น ๆ  2) สะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงตามระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ 3) เปรียบผลลัพธ์ที่ได้ว่าบรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้หรือไม่ 4) แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดี ๆที่เกิดขึ้น และร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือแนวทางปรับปรุงให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทุกครั้งจำเป็นต้องมีหรือต้องใช้ ข้อมูลจริงที่เก็บรวบรวมได้มาอ้างอิงและใช้จริงเป็น

6. ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชน

1) ผลลัพธ์สมรรถนะสำคัญและการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของพี่เลี้ยง  บันไดสมรรถนะ

โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของพี่เลี้ยง คือ พี่เลี้ยง รพ.สต. มีทักษะในการหนุนเสริมการทำงานของสภาผู้นำชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและสามารถขับเคลื่อนงานระหว่าง รพ.สต. อปท.และภาคีในชุมชนได้ ผ่านการถ่ายทอดแนวคิดชุมชนน่าอยู่และหนุนเสริมชุมชนให้เกิดกลไกสภาผู้นำชุมชน สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ร่วมออกแบบระบบการบริการด้านสุขภาพ และงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล หนุนเสริมทีมสภาผู้นำชุมชนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) มีการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และ รพ.สต. ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเอง โดยต้องมีหรือต้องใช้ แนวคิดสาธารณสุขมูลฐานกับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (นโยบาย 3 หมอ) มาประยุกต์ร่วมด้วยจึงจะเกิดสมรรถนะได้ตามที่คาดหวัง ให้สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์ของโมเดล รพ.สต.

2) ผลลัพธ์สมรรถนะของกลไกสภาผู้นำชุมชน

โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของสภาผู้นำชุมชน คือ สภาผู้นำชุมชนมีสมรรถนะในการเสริมพลังชุมชนและขับเคลื่อนงานตามแผนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ โดยต้องมีหรือต้องใช้ เป้าหมายและข้อตกลงร่วมกัน ผ่านการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่น ๆในชุมชน และมีรายงานการประชุมทุกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมได้  สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่าง ๆในชุมชนได้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาพี่เลี้ยง สภาผู้นำชุมชนสามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน และมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด  สภาผู้นำชุมชนมีการบริหารจัดการงบประมาณโครงการ สสส. และโครงการอื่นของชุมชน ด้วยความโปร่งใส จัดทำบัญชีรับจ่ายและแจ้งข้อมูลให้สมาชิกในชุมชนทราบทุกเดือน สภาผู้นำชุมชนสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชนดำเนินการให้สมาชิกชุมชนรับทราบอย่างน้อยเดือนละครั้ง จึงจะเกิดสภาที่มีสมรรถนะตามที่คาดหวัง ที่สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์และ ความเข้มแข็ง 9 มิติได้

3) ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของประเด็นสุขภาพที่ดำเนินการร่วมกัน คือ การจัดการจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน

โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลาง โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 82.85 จำนวน 87 ครัวเรือน รับรู้สถานการณ์อุบัติเหตุและมีความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงในชุมชนตนเองผ่านการประชุมประจำเดือน เอกสารความรู้ การติดตามเยี่ยมบ้านของทีมสภาผู้นำชุมชน และเกิดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขจุดเสี่ยงและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงที่ชุมชนจะแก้ไข จำนวน 5 ข้อ ได้แก่

  1. เมาไม่ขับ
  2. ขับขี่ยานพาหนะใช้ความเร็วไม่เกินกำหนด
  3. สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่
  4. ตรวจเช็คสภาพรถและอุปกรณ์ส่องสว่างของรถเป็นประจำ
  5. ร่วมกันปรับปรุงพัฒนาจุดเสี่ยงในวันสำคัญต่าง ๆ  นอกจากนี้จุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ร้อยละ 100 ของจุดเสี่ยงประเภทที่ชุมชนแก้ไขได้เอง จำนวน 4  จุด และจุดเสี่ยงในชุมชนที่ได้รับการแก้ไขโดยการทำร่วมหรือส่งต่อข้อมูล จำนวน 2 จุด  ร้อยละ 100 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่ คนในชุมชนร้อยละ 71.66  จำนวน 215 คน คนในชุมชนมีพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงลดลง  จำนวนของการเกิดอุบัติเหตุ ณ.จุดเสี่ยงที่ได้รับการแก้ไขลดลง ซึ่งยังไม่พบการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ พบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เมาแล้วขับ 2 คน  ขับรถเร็ว จำนวน 12 คน ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร 15 คน ขับรถย้อนศร 34คน ไม่สวมหมวกนิรภัย 37 คน พูด/เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ 7 คน    เกิดการจัดการข้อมูลสุขภาพร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ  ของ รพสต กับ ทีมสภาผู้นำชุมชน  พชต. การบูรณาการแผน  ทำเอง ทำร่วม ทำขอ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน การประสานเสนอแผนพัฒนาระบบสุขภาพ  การจัดระบบบริการสุขภาพ คนในชุมชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการจัดสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ที่เอื้อต่อสุขภาพคนในชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐประกอบด้วย อบต.โค้งไผ่ รัฐวิสาหกิจ ธกส.โค้งไผ่ ร่วมรณรงค์ การใช้นโยบายสวมหมวกกันน็อค 100 % สร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย

โดยในการทำงานต้องมีหรือต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน  จึงจะเกิดผลลัพธ์ได้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของโครงการระดับชุมชน

หมายเหตุ***ภาพกิจกรรมการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองกระทิง

           

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ