
บทเรียนโครงการชุมชนน่าอยู่: โมเดล รพ.สต.โค้งไผ่ พื้นที่บ้านหนองงูเห่า ม.4 จ.กำแพงเพชร
บทเรียนการดำเนินงานของกลไกการดำเนินงานโครงการชุมชนน่าอยู่ โมเดล รพ.สต.โค้งไผ่ จ.กำแพงเพชร
พื้นที่โครงการชุมชนน่าอยู่ บ้านหนองงูเห่า ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
โดย นางสาวรัตติยา โตจีน
ทีมสนับสนุนวิชาการ หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ
1.บริบทของพื้นที่
บ้านหนองงูเห่า หมู่ 4 ตั้งอยู่ที่ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2495 มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำโดยนายเจิม บุญเพ็ชรและพรรคพวก มาจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดนครสวรรค์ อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแหล่งน้ำและดินอุดมสมบูรณ์ มีอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เดิมหมู่บ้านนี้ขึ้นกับบ้านหนองเต็ง หมู่ที่ 3 ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อมีบ้านเรือนมากขึ้น ประกอบกับเป็นหมู่บ้านห่างไกล เพื่อให้การปกครองและการพัฒนาพื้นที่เป็นไปด้วยความเหมาะสม คณะกรรมการอำเภอขาณุวรลักษบุรี และส่วนราชการในพื้นที่ จึงได้รายงานจังหวัดกำแพงเพชร ขอตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ชื่อ “บ้านหนองงูเห่า หมู่ที่ 4 ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร” ตามลักษณะภูมิประเทศเนื่องจากในบริเวณนี้มีงูเห่าอยู่ในหนองน้ำเป็นจำนวนมาก มีครัวเรือนที่ก่อตั้งหมู่บ้านจำนวน 45 หลังคาเรือน ปัจจุบันนี้มีประชากรอาศัยอยู่ รวม 182 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งสิ้น 487 คน แยกเป็นชาย 243 คน หญิง 244 คน ภาษาท้องถิ่นได้แก่ ภาษากลาง วัฒนธรรมประเพณีประจำหมู่บ้านได้แก่ ประเพณีทำบุญกลางบ้าน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีทำบุญเนื่องในวันสำคัญต่างๆ มีวัดหนองงุเห่าเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้าน จังหวัดกำแพงเพชรได้ประกาศจัดตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยมี นายเล็ก ด้วงอ่อน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และนายสาโรจน์ เรืองคุ้ม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลาดเอียงไปทางทิศเหนือ มี 3 ฤดู คือ ร้อน ฝน และหนาว ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอขาณุวรลักษบุรีไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร ประมาณ 75 กิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอคลองขลุง ทิศใต้ติดต่อกับหมู่ที่ 3 ตำบลโค้งไผ่ ทิศตะวันตก ติดต่อกับหมู่ที่ 6 ตำบลโค้งไผ่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่ที่ 5 ตำบลโค้งไผ่ มีพื้นที่ทั้งหมด 4,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 3,500 ไร่ ที่อยู่อาศัย 545 ไร่ พื้นที่สาธารณะและอื่นๆ 330 ไร่ด้านการประกอบอาชีพ ทำนา 137 ครัวเรือน ประมง 15 ครัวเรือน ปศุสัตว์ 25 ครัวเรือนและประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร ได้แก่รับจ้างทั่วไป 16 ครัวเรือน ประกอบอาชีพอื่นๆ 6 ครัวเรือนและไม่มีอาชีพ 13 คน บ้านหนองงูเห่า มีถนนลาดยาง 1 เส้น ระยะทาง 2 กิโลเมตร ถนนลูกรัง 6 เส้น ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถนนคอนกรีต 3 เส้น ระยะทาง 1 กิโลเมตร ถนนดิน 5 เส้น ระยะทาง 13 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอ 35กิโลเมตร ห่างจาก อบต. 8 กิโลเมตร มีไฟฟ้าใช้ 89 ครัวเรือน มีประปาหมู่บ้าน89 ครัวเรือน มีโทรศัพท์สาธารณะ 1 แห่ง มีแหล่งน้ำ มีบ่อน้ำตื้น 8 แห่ง บ่อน้ำสาธารณะ 3 แห่ง คลอง 1 แห่ง มีวัด 1 แห่ง ลานกีฬา 1 แห่ง ร้านค้า 3 ร้าน อาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง มีหอกระจายข่าว 1 แห่ง คนในชุมชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในหมู่บ้าน เพราะห่วงเรื่อง
ปัญหาปากท้องของตนเอง คณะกรรมการหมู่บ้านขาดทักษะ ขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงาน มีปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังแพร่ระบาด ไม่มีสถานีอนามัยในหมู่บ้านเพราะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ถนนบริเวณหมู่บ้านเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนคมนาคมสายหลักในหมู่บ้านไม่สะดวก ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองของรถที่สัญจรไปมา ไฟฟ้าส่องสว่างในบริเวณหมู่บ้านไม่เพียงพอ ทำให้ทางเดินมืดอาจก่อให้เกิดอันตราย มีรถสัญจรไปมา ผ่านหมู่บ้านมากจึงทำให้มีคนแปลกหน้า ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีป้อมเวรยามของหมู่บ้าน จึงต้องคอยระวังภัย ในฤดูฝน น้ำขังในบริเวณหมู่บ้านมียุงวางไข่ ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก แหล่งน้ำทำการเกษตรไม่เพียงพอ น้ำอุปโภค บริโภคไม่เพียงพอ น้ำดื่มไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัย ส่งผลถึงสุขภาพของประชาชน งบประมาณกองกลางในการบริหารกิจกรรมต่างๆมีน้อย ขาดแคลนพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ขาดอุปกรณ์ ปัจจัยในการประกอบอาชีพ ขาดการส่งเสริมจากส่วนราชการ ค่าครองชีพสูง สินค้าอุปโภค บริโภคมีราคาแพง ไม่มีกลุ่มอาชีพที่เป็นอาชีพเสริมในชุมชน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรทำนาโดยพึ่งสารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง เยาวชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน เยาวชนว่างงาน ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อแม่ต้องทำงานไม่ค่อยมีเวลาสนใจบุตรของตนเองเพราะต้องหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ จึงต้องอพยพไปทำงานต่างจังหวัดทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่น นอกจากนั้นขาดการจัดการขยะในชุมชน ไม่มีที่เก็บขยะ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ปัจจุบันเป็นปัญหาสำคัญโดยมีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่เป็นขยะติดเชื้อ โดยไม่มีการจัดการและขาดการส่งต่อหน่วยงานอย่างถูกวิธี คนในชุมชนขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มักง่าย ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ขาดวินัย ขาดจิตสำนึกในการทิ้งขยะ ครัวเรือนทิ้งขยะไม่ถูกวิธี ร้อยละ 70 และมีการเผาขยะร้อยละ 30 และจำนวน 100 ครัวเรือน คิดว่าเป็นหน้าที่ของ อบต. ไม่มีถังขยะในชุมชน ไม่มีจุดทิ้งขยะ มีขยะติดเชื้อ ขยะอันตราย ไม่มีป้ายเตือน คนในชุมชนไม่มีการรวมกลุ่มจัดการขยะในชุมชน ขาดการตั้งกฎกติกาในการจัดการ คนสัญจรไปมาทิ้งขยะข้างทาง
ในชุมชนขาดการตั้งกฎกติกา ไม่มีการระดมทรัพยากรมาช่วยในการจัดการขยะ และขาดระบบส่งต่อขยะอันตราย
2.การก่อตัวของกลไกพี่เลี้ยง รพ.สต.
1) จำนวนพี่เลี้ยงใน รพ.สต. การจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง และ การบริหารจัดการภายในทีม ชุมชนบ้านหนองงูเห่า ขับเคลื่อนโครงการภายใต้ประเด็นการจัดการจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน โดยมีพี่เลี้ยง รพ.สต. จำนวน 5 คน ร่วมเป็นที่ปรึกษาขับเคลื่อนโครงการ ประกอบไปด้วย พี่เลี้ยงพื้นที่ คือ นางสาวศุภกาญจน์ แจ่มหม้อ ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข ชำนาญงาน รับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมพี่เลี้ยง และมีพี่เลี้ยงเครือข่ายสาธารณสุข และมีพี่เลี้ยงใหม่ คอยหนุนเสริมการทำงานต่อเนื่อง จำนวน 4 คน นางสาวสุมิตา ภูสูสี ตำแหน่งแพทย์แผนไทย พี่เลี้ยงต่าง รพ.สต. นางสาวนันทลียา โสภณ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงาน (รพ.สต.วังน้ำพุ ต.โค้งไผ่) นางสาววิลาวรรณ เขน่วม ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ปฏิบัติงาน (รพ.สต.วังหามแห ต.วังหามแห ) นางสาวนุจรี เจริญผล ตำแหน่งแพทย์แผนไทย (รพ.สต.วังชะพลู ต.วังชะพลู ) นับเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่จำนวน 2 ราย และพี่เลี้ยงต่าง รพ.สต.จำนวน 3 ราย ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยหนุนเสริมการทำงานของทีมสภาผู้นำบ้านหนองงูเห่า โดยการการจัดโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง และ การบริหารจัดการภายในทีม ให้เกิดความคล่องตัว ให้เกิดความคล่องตัว เกิดรูปธรรมในการหนุนเสริมสภาผู้นำชุมชนได้นั้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง รพ.สต.ในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงหลัก ในการหนุนเสริมการทำงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งบ้านหนองงูเห่า หมู่ที่ 2 มีพี่เลี้ยงวิชาการ คือ นางสาวรัตติยา โตจีน พี่เลี้ยงโมเดล รพ.สต.หลัก คือ นางสาวศุภกาญจน์ แจ่มหม้อ เจ้าพนักงานสาธารณสุข ชำนาญงาน รพ.สต.โค้งไผ่ และมีนางสาวนางสาวสุมิตา ภูสูสี ตำแหน่งแพทย์แผนไทย (รพ.สต.โค้งไผ่ ) รับผิดชอบดูแลเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาหลักในพื้นที่ ทำให้การประสานงาน การลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมชุมชน หนุนเสริมการทำงาน โดยสภาผู้นำชุมชนจึงเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินงานต่าง ๆในชุมชนกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังต้องการพี่เลี้ยงช่วยให้ข้อเสนอแนะในบางประเด็นเท่านั้น
2) สมรรถนะพี่เลี้ยงใน รพ.สต. พบว่าพี่เลี้ยงหลักคือ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.โค้งไผ่ จำนวน 2 ท่าน อยู่ในขั้นที่ 3 สามารถขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต. ชุมชน และภาคีได้ สามารถหนุนเสริมให้ทีมสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองงูเห่า สามารถหนุนเสริมชุมชนในการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และรพ.สต. ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเองของหมู่บ้านได้ ครอบคลุมทุกด้าน ทุกประเด็น (ทำเอง ทำร่วม ทำขอ)
พบว่า การสร้างทีมพี่เลี้ยงที่มีสมรรถนะได้นั้น จำเป็นต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน และมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล และที่สำคัญต้องมีใจเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง และรับรู้อุปสรรค รับประโยชน์ที่ได้รับร่วมกันทั้งสองฝ่าย
3.กลไกพี่เลี้ยง รพ.สต.
1) การกำหนดการกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน โดยพี่เลี้ยง รพ.สต.และสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองงูเห่า ร่วมกันกำหนดภารกิจของการดำเนินการประเด็นหลักร่วมกันคือ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในการลดปริมาณขยะในชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ประชาชนในหมู่บ้านเห็นชอบร่วมกันผ่านเวทีประชาคมหรือเวทีอื่นๆ ของหมู่บ้าน ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชุมชนในการจัดการขยะในชุมชนและเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะในระดับตำบลตามแผนสุขภาพตำบล โครงการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การกำหนดการกิจของทีมพี่เลี้ยง ทั้งในการเป็นผู้พัฒนาชุมชน และภารกิจของหน่วยงาน ได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย จำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจตัวชี้วัดร่วม หรือเป้าหมายร่วมที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งภารกิจในครั้งนี้ตอบโจทย์ในภาพรวมของตำบลโค้งไผ่
2) การสื่อสารภายในทีมและหัวหน้าหน่วยงาน ประเด็นที่จำเป็นต้องสื่อสารต่อเนื่อง ประกอบด้วย ความรู้ความเข้าใจการทำงานชุมชนน่าอยู่ (โมเดล รพ.สต.) อาทิเช่น เรื่องแนวคิดชุมชนน่าอยู่และกลไกสภาผู้นำชุมชน การจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา (ARE) และระบบการบริการด้านสุขภาพและงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล และออกแบบและเก็บข้อมูลสถานะสุขภาพของ รพ.สต. และข้อมูลเชิงประเด็นของทีมสภาผู้นำชุมชน รวมถึงการประสานการทำงานระหว่าง รพ.สต. สภาผู้นำชุมชนและหน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือและภาคีในพื้นที่ตำบลโค้งไผ่
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การสื่อสารต่อเนื่อง เกิดประสิทธิผล นำไปสู่ความเข้าใจและทักษะได้นั้นจำเป็นต้อง มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่น ๆ ในชุมชน และมีรายงานการประชุมทุกครั้ง และทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม มีช่องทางการสื่อสารที่พี่เลี้ยงเข้าถึงง่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชนดำเนินการให้สมาชิกทีมพี่เลี้ยงรับทราบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยกันวิเคราะห์จุด่อน จุดแข็งของชุมชน นำไปสู่การหนุนเสริมและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ทันเวลา ไม่มีความเสี่ยงระหว่างดำเนินงาน เช่น การจัดกิจกรรมตามกำหนดการ การเบิกจ่ายเงิน เอกสารการเงิน เอกสารสรุปความก้าวหน้า และการทำงานภายในทีมของสภาผู้นำชุมชน เป็นต้น
3) สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่าง ๆ ในชุมชนได้เอง โดยพึ่งพาพี่เลี้ยงในบางครั้ง
วิธีการสื่อสารกับหัวหน้าหน่วยงานกรณีที่หัวหน้าไม่ได้เป็นพี่เลี้ยง
3.1) รูปแบบการเรียนรู้ภายในทีม จำเป็นต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องตลอดการทำกิจกรรมในโครงการ เนื่องจากเมื่อหัวหน้าหน่วยงานไม่ได้อยู่ในบทบาทของพี่เลี้ยง รพ.สต. อาจจะไม่เข้าใจในระบบการทำงานของทีมสภาผู้นำภายใต้กลไกชุมชนน่าอยู่ การสื่อสารระหว่างพี่เลี้ยง รพ.สต. ทีมสภาผู้นำ และหัวหน้าองค์กร ควรมีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ให้ทราบความเป็นไป ผลลัพธ์ของโครงการจึงจะส่งผลต่อการเรียนรู้ภายในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2) การสร้างการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหา ได้ดำเนินการโดย พี่เลี้ยง ต้องเข้าร่วมเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของกิจกรรมในชุมชน และในการประชุมหรือร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจเรื่องการดำเนินงาน และเสนอแนะ พิจารณาปัญหาใหม่ๆ รวมทั้งมีการร่วมติดตามประเมินผลได้ทุกคน โดยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้พี่เลี้ยงและสมาชิกชุมชนเข้าประชุมและร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และสมาชิกชุมชนทุกคน สามารถแสดงความคิดเห็นมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็นมากขึ้น สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น หรือมีสมาชิกหน้าใหม่ร่วมตัดสินใจ และสมาชิกชุมชนมีข้อเสนอแนะ หรือให้ทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาชุมชนมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของทีมพี่เลี้ยงและสภาผู้นำชุมชน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล หรือสามารถร่วมประเมินความสำเร็จของชุมชนได้ จึงจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของทีมและการร่วมแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของทีมงานและต่อกลไกสภาผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้านได้
4. การบริหารจัดการเป้าหมายร่วมของพื้นที่
1) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ องค์การบริหารส่วนตำบลโค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขน ได้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน คือ เป้าหมายของชุมชนน่าอยู่บ้านหนองงูเห่า ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในการลดปริมาณขยะในชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ประชาชนในหมู่บ้านเห็นชอบร่วมกันผ่านเวทีประชาคมหรือเวทีอื่นๆ ของหมู่บ้าน ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชุมชนในการจัดการขยะในชุมชนและเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะในระดับตำบลตามแผนสุขภาพตำบล โดยการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้เกิดการยอมรับ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้จริง จำเป็นต้อง ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน
2) การวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขนจากเป้าหมายร่วมที่กำหนดด้วยการรวบรวมข้อมูลการจัดการขยะในช่วงที่ผ่านมา โดยขอข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อบต. มาประมวลผล จัดเวทีประชาคมทำความเข้าใจโครงการร่วมกับสมาชิกชุมชนรวมถึงการคืนข้อมูลการปลูกและบริโภคผัก 400 กรัมต่อคนต่อวันให้แก่สมาชิกชุมชน ทั้งนี้ จะต้องร่วมกันวิเคราะห์จุดเสี่ยงค้นหาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อทำแผนการปรับปรุงจุดเสี่ยง โดยร่วมกันออกความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงลักษณะของอุบัติเหตุบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย และร่วมกันคัดเลือกและจัดลำดับจุดเสี่ยงที่ต้องการทำการปรับปรุงแก้ไขก่อน-หลัง และกำหนดข้อตกลงร่วมของชุมชนในการแก้ไขจุดเสี่ยงและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับจุดเสี่ยงที่ชุมชนจะแก้ไข จึงจะเกิดการยอมรับ จัดแบ่งหน้าที่และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
3) การดำเนินงานและการจัดการทรัพยากรร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขน จากแผนการดำเนินร่วมที่กำหนด
โดยที่ผ่านมาได้จัดการทรัพยากร คือ การแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ด้วยการเก็บ รวบรวมข้อมูลและบันทึกผลในชุดข้อมูลแหล่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของข้อมูล หรือป้องกันการคลาดเคลื่อนของข้อมูลนั้น ๆ โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้หรือต้องมีเงื่อนไข คือ การออกแบบการเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน หรือ ใช้แบบฟอร์มเดียวกัน
4) การติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่าง รพ.สต.โค้งไผ่ และสภาผู้นำชุมขนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดร่วมกัน ด้วยการ ร่วมประชุมประจำเดือนของสภาผู้นำชุมชน หรือของหมู่บ้านหรือของ รพ.สต. โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ 1) สรุปข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดในผลลัพธ์ประเด็นนั้น ๆ 2) สะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงตามระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ 3) เปรียบผลลัพธ์ที่ได้ว่าบรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้หรือไม่ 4) แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดี ๆที่เกิดขึ้น และร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือแนวทางปรับปรุงให้บรรลุเป้าหมายร่วมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทุกครั้งจำเป็นต้องมีหรือต้องใช้ ข้อมูลจริงที่เก็บรวบรวมได้มาอ้างอิงและใช้จริงเป็น
5. ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของชุมชน
1) ผลลัพธ์สมรรถนะสำคัญและการปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของพี่เลี้ยง บันไดสมรรถนะ โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของพี่เลี้ยง คือ พี่เลี้ยง รพ.สต. มีทักษะในการหนุนเสริมการทำงานของสภาผู้นำชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและสามารถขับเคลื่อนงานระหว่าง รพ.สต. อปท.และภาคีในชุมชนได้ ผ่านการถ่ายทอดแนวคิดชุมชนน่าอยู่และหนุนเสริมชุมชนให้เกิดกลไกสภาผู้นำชุมชน สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ร่วมออกแบบระบบการบริการด้านสุขภาพ และงานสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงสู่แผนสุขภาพตำบล หนุนเสริมทีมสภาผู้นำชุมชนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) มีการจัดทำแผนงานโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำแผนงานโครงการ ระหว่างทีมสภาผู้นำชุมชน และ รพ.สต. ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. บรรจุอยู่ในแผนชุมชนพึ่งตนเอง โดยต้องมีหรือต้องใช้ แนวคิดสาธารณสุขมูลฐานกับการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (นโยบาย 3 หมอ) มาประยุกต์ร่วมด้วยจึงจะเกิดสมรรถนะได้ตามที่คาดหวัง ให้สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์ของโมเดล รพ.สต.
2) ผลลัพธ์สมรรถนะของกลไกสภาผู้นำชุมชนโดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลางของวิธีทำงานของสภาผู้นำชุมชน คือ สภาผู้นำชุมชนมีสมรรถนะในการเสริมพลังชุมชนและขับเคลื่อนงานตามแผนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ โดยต้องมีหรือต้องใช้ เป้าหมายและข้อตกลงร่วมกัน ผ่านการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการหารือโครงการ สสส. และประเด็นอื่น ๆในชุมชน และมีรายงานการประชุมทุกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมได้ สภาผู้นำชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ และดำเนินงานต่าง ๆในชุมชนได้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งพาพี่เลี้ยง สภาผู้นำชุมชนสามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน และมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด สภาผู้นำชุมชนมีการบริหารจัดการงบประมาณโครงการ สสส. และโครงการอื่นของชุมชน ด้วยความโปร่งใส จัดทำบัญชีรับจ่ายและแจ้งข้อมูลให้สมาชิกในชุมชนทราบทุกเดือน สภาผู้นำชุมชนสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าในการทำงานทุกงานที่ชุมชนดำเนินการให้สมาชิกชุมชนรับทราบอย่างน้อยเดือนละครั้ง จึงจะเกิดสภาที่มีสมรรถนะได้ตามที่คาดหวัง ที่สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์และ ความเข้มแข็ง 9 มิติได้
3) ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของประเด็นสุขภาพที่ดำเนินการร่วมกัน คือ การจัดการจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในชุมชน โดยเกิดผลลัพธ์ในระยะกลาง ดังนี้ จำนวน 182 ครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจในการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ และจำนวน 136 ครัวเรือน มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งอย่างเป็นระบบ มีมาตรการ ข้อตกลงในการจัดการขยะและสภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของในชุมชน จำนวน 5 ข้อ มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน ouse ndex น้อยกว่า 10 และค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะ = 0 อัตราการเจ็บป่วยด้วย โรคไข้เลือดออก โรคซิก้า โรคอุจจาระ ลดลง ร้อยละ 20 จากค่ามัธยฐาน 5 ปี ตัวชี้วัดร่วม รพ.สต. เกิดครัวเรือนตัวอย่างหรือต้นแบบการจัดการขยะ บ้านสะอาด 10 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 10 ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ปริมาณขยะในครัวเรือนที่ต้องกำจัดหลังจากการคัดแยกและใช้ประโยชน์ลดลงจาก 60 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อเดือนเหลือ 30 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณขยะเดิม และรพ.สต.โค้งไผ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแผนงาน/โครงการ และสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาในการจัดการขยะของชุมชนระดับตำบลในรอบปีต่อไป
ภาพกิจกรรมการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชนบ้านหนองงูเห่า