
บทเรียนโครงการชุมชนน่าอยู่: โมเดล อปท.ต.หัวรอ พื้นที่บ้านบางพยอม ม.1 จ.พิษณุโลก
บทเรียนการดำเนินงานของกลไกการดำเนินงานโครงการชุมชนน่าอยู่ โมเดล อปท.ตำบลหัวรอ
พื้นที่โครงการชุมชนน่าอยู่ บ้านบางพยอม หมู่ 1 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
โดย นางสาวรัตติยา โตจีน
ทีมสนับสนุนวิชาการ หน่วยจัดการชุมชนน่าอยู่ภาคเหนือ
บริบทพื้นที่
บ้านบางพยอม ความเป็นมาตามคําเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านว่า ที่มีมาของชื่อบ้านบางพยอมมาจากการที่ในสมัยโบราณ หมู่บ้านแห่งนี้มีต้นไม้ที่ชื่อ “ต้นบางพยอม” อยู่เป็นจำนวนมากหรือเรียกว่าเป็นบางของต้นพยอม สันนิฐานได้ว่ากลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยและเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านน่าจะขยับขยายถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งได้แก่ชุมชนบ้านหม้อ และชุมชนบ้านตาปะขาวหาย สาเหตุในการอพยพเข้ามาก็เพราะการแยกครัวเรือนออกมา เนื่องจากที่อาศัยในถิ่นฐานเริ่มแออัด สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านแต่เดิมจะเป็นป่าทั้งหมดจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อต้นไม้ว่า “บ้านบางพยอม”
อาณาเขต บ้านบางพยอม หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือ ประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศเหนือ ประมาณ 11 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลปากโทก
ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 ตำบลหัวรอ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลหัวรอ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ลำแม่น้ำน่าน
ลักษณะภูมิประเทศ บ้านบางพยอม หมู่ที่ 1ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก ไปทางทิศเหนือของอำเภอ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับกับการทำการเกษตรเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับลำแม่น้ำน่านตลอดแนวทั้งหมู่บ้าน โดยทั่วไปจะมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน อากาศจะร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่หมู่บ้านมีลักษณะโล่งแจ้งไม่มีต้นไม้ปกคลุม ฤดูฝนจะมีฝนตกในปริมาณไม่มากเหมือนพื้นที่อื่น ๆ และช่วงฤดูหนาวมีอากาศหนาวเพียงเล็กน้อย การดำรงชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ได้ความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันเหมือนญาติพี่น้องตามลักษณะชุมชนชนบทจำนวนครัวเรือน 139 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 535คน แยกเป็น ชาย 254 คน หญิง 281 คน มีผู้สูงอายุ 123 คน และคนพิการ 14 คน ประกอบอาชีพหลักได้แก่ รับราชการ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว และพนักงานบริษัท โดยมีอาชีพเสริม ได้แก่ ทำนา ทำสวน และค้าขาย มีกองทุนหมู่บ้าน มีสมาชิก 147 คน กองทุนแม่ของแผ่นดิน 147 คน กลุ่มออกกำลังกายด้วยไม้พลอง 20 คน มีโรงงานหล่อพระ 1 แห่ง กองทุนหมู่บ้าน งบประมาณ 2,200,000 บาท และกองทุนแม่ของแผ่นดิน มีทุน 28,000 บาทระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ 139 ครัวเรือน โทรศัพท์บ้าน 13 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 298 เครื่อง มีพื้นที่ทำการเกษตร 300 ไร่ แบ่งเป็นทำนา 2 ครัวเรือน ทำสวนผลไม้ 7 ครัวเรือน พื้นที่อยู่อาศัย 300 ไร่ มีถนนลาดยาง 1 สาย ระยะทาง 2,800 เมตร มีถนน คสล. จำนวน 3 สาย ระยะทาง ๑,๔๐๐ เมตร มีแม่น้ำน่าน และแหล่งน้ำ 2 แหล่ง
จากการวิเคราะห์ปัญหาด้านเศรษฐกิจ พบว่า รายได้ในครัวเรือนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ไม่มีกลุ่มอาชีพเสริม การดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ทั่วถึง
ด้านสังคม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา ยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติดในหมู่บ้าน บางครอบครัวยังสูบบุหรี่
ด้านสวัสดิการ ผู้สูงอายุและด้อยโอกาสยังได้รับการดูแลทางสวัสดิการยังไม่ทั่วถึง
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรดินในพื้นที่เขตหมู่บ้านส่วนมากเป็นดินเหนียวและดินร่วนปนทราย ส่วนมากจะใช้ ประโยชน์ในการทำการเกษตรและนาข้าว มีปัญหาขยะในเขตชุมชนบางส่วน
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง การคมนาคมในหมู่บ้านยังเป็นหลุมเป็นบ่อ หน้าฝนน้ำขัง
ด้านสาธารณสุข พบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนและปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
จากการสำรวจข้อมูล เกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 3 ด้าน คือ ด้านพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ และด้านระบบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงของชุมชน มีดังนี้ ชาวบ้านนิยมซื้อผักจากตลาด จำนวน 102 ครัวเรือน ปลูกผักกินเอง 37 ครัวเรือน ครัวเรือน จำนวน102 ครัวเรือน ไม่มีการปลูกผัก ผลไม้ ไว้กินเองในครัวเรือน และผู้ที่รับประทานผักและผลไม้น้อยกว่า 400 กรัม ต่อ 1 วัน จำนวน 85 คน แบ่งออกเป็น วัยเด็ก จำนวน 22 คน วัยทำงาน จำนวน 38 คน และวัยผู้สูงอายุ จำนวน 25 คน โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้คนในครัวเรือนมีพฤติกรรมบริโภคที่เปลี่ยนไป ดังนี้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็ง จากสารพิษตกค้าง จากการซื้อผัก-ผลไม้จากตลาดมาบริโภค เป็นประจำ เป็นสาเหตุให้เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไขมัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน 19 ราย เกิดกลุ่มเสี่ยงสูง 25 ราย
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้มีค่าใช้จ่ายจากอาหารเสริมเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 300 – 500 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการซื้อผัก และอาหารปรุงสำเร็จที่สามารถปลูกเองและปรุงกินเองได้ ประมาณ 70 – 80 บาทต่อมื้อต่อครัวเรือน
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของครอบครัวและชุมชน ทำให้มีปริมาณขยะจากอาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ หรือภาชนะบรรจุภัณฑ์ของอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบต่อสังคม ทำให้เกิดค่านิยมซื้อผักจากตลาดมากกว่าปลูกเอง เกิดค่านิยมพึ่งพาอาหารเสริมหรือสารสกัดมากกว่าพืชผักผลไม้จากธรรมชาติ คนในชุมชนขาดการพึ่งตนเองสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านจากการขอ ชุมชนขาดการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ
ด้านพฤติกรรม พบว่าประชาชนขาดความรู้ในการบริโภคผักปลอดภัย (ปลอดสารพิษ การจัดการผักที่ซื้อมาจากตลาด) จำนวน 95 ครัวเรือน กลุ่มแม่บ้าน จำนวน 82 ครัวเรือน ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการบริโภคผัก ผลไม้ตามวัย ทั้งในด้านโภชนาการ ชาวบ้านชอบความสะดวกสบาย ซื้อผักจากร้านค้า/รถหาบเร่ ขาดความตระหนักเอาใจใส่ต่อการบริโภคที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดสารเคมีนักเรียน จำนวน 55 ครัวเรือน ที่ไม่ชอบกินผักเลย และมักจะซื้ออาหารจำพวกข้าวกล่อง ข้าวเหนียว หมูปิ้งไก่ย่าง ไส้กรอก พ่อแม่ผู้ปกครองตามใจ ไม่บังคับเด็กในการกินผัก ผลไม้ เมนูอาหารผัก ผลไม้ไม่หลากหลาย จำเจ ชาวบ้านไม่ตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมี เชื่อว่าซื้อผักจากตลาดหาง่ายและสะดวกกว่าการปลูกผักกินเอง
ส่วนด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ พบว่าชุมชนมีตลาดนัด 2 วันต่อสัปดาห์ ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ไม่เพียงพอต่อการปลูกผัก ขาดความต่อเนื่องในการปลูกผักกินเอง ผักไม่หลากหลาย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน จากชุมชนอยู่ใกล้ตลาดสด และมีรถเร่
ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม พบว่า เด็กเยาวชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักผักพื้นเมืองเท่าที่ควร นิยมกินหมูกระทะมากขึ้น ชุมชนไม่เคยมีกิจกรรมส่งเสริมให้ครัวเรือนบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน ขาดความต่อเนื่องในการปลูกผัก, ขาดการรวมกลุ่มที่ร่วมช่วยกันในการปลูกผักสวนครัวและอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน
ด้านระบบที่เกี่ยวข้อง พบว่า รพ.สต.สระโคล่และเทศบาลตำบลหัวรอ ขาดงบประมาณในการดำเนินงานนโยบายส่งเสริมบริโภคผัก ผลไม้วันละ 400 กรัมอย่างจริงจัง หน่วยงาน กลุ่ม องค์กรการทำงานในพื้นที่ไม่มีการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนการดำเนินงานการส่งเสริมการบริโภคผักปลอดภัยที่ชัดเจน
กลไกสภาผู้นำ
การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชนเริ่มต้นจากการพี่เลี้ยงชุมชนน่าอยู่โดยนางสาวรัตติยา โตจีน ได้ประสานไปยัง นายสวง พันเรือง สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหัวรอ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เคยทำโครงการชุมชนน่าอยู่ปี 2663 เพื่อสอบถามความเป็นไปได้และความพร้อมในการขับเคลื่อนงานชุมชนน่าอยู่ในพื้นที่ตำบลหัวรอและองค์การบริหารส่วนตำบลหัวรอ ซึ่งพบว่าผู้ใหญ่บ้าน มีความสนใจเข้าร่วมโครงการและได้ก่อตั้งโครงสร้างสภาผู้นำชุมชน แรกเริ่มจำนวน 15 คน ปัจจุบันมีสภาผู้นำ 19 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ตัวแทนผู้สูงอายุ และตัวแทนกลุ่มต่างๆในชุมชน
หลังจากการดำเนินงานพบว่า สภาผู้นำบ้านบางพยอม หมู่ 1 มีความเข้าใจเรื่องกลไกสภาผู้นำเพิ่มขึ้น
มีโครงสร้างในการดำเนินงานชัดเจน มีการประชุมประจำเดือน ตั้งกฎกติกา มีการหารือประเด็นการปลูกและบริโภคผักในครัวเรือน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ในชุมชนนอกเหนือ จากโครงการ สสส. มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนขึ้น โดยประธานเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมหลัก และรายงานผลการดำเนินต่อที่ประชุมทุกครั้ง มีการใช้ข้อมูลในการทำงานเพิ่มมากขึ้นและนำไปปรับใช้ในการทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง นอกจากนี้สภาผู้นำยังมีการวิเคราะห์สถานการณ์การดำเนินกิจกรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีการปรับแผนการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด 19 ปัจจุบันสภาผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่ในบันไดผลลัพธ์สภาผู้นำขั้นที่ 3
ในการดำเนินงานของสภาผู้นำมีการดำเนินร่วมกันกับสภาผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมโครงการอีก 4 บ้านและร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหัวรอ ในเรื่องการปลูกและบริโภคผัก โดยมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยปลูกผักและบริโภคผักที่ปลูก สร้างสภาผู้นำชุมชนให้มีความเข้มแข็งขึ้น และ เกิดสภาผู้นำตำบล ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะระดับตำบล เชื่อมต่อกับ อปท. และกลไกระดับตำบลที่มีอยู่
ความสำเร็จเชิงประเด็น
ผลการดำเนินงานเชิงประเด็นด้านการปลูกและบริโภคผัก400 กรัมต่อคนต่อวัน พบว่าเกิดกลไกสนับสนุนการปลูกและบริโภคผัก ผลไม้ อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการต้องปลูกผักต่อเนื่องทั้งปีไว้กินเอง อย่างน้อย 5 ชนิด ไม่ใช้สารเคมีในผักที่ปลูก ให้ใช้สารธรรมชาติทดแทน บริโภคผักอย่างน้อย 1 มื้อ ไม่ต่ำกว่า 400 กรัม/คน/วัน หากเกิดโรคระบาด แมลง เพลี้ย ในผักที่ปลูกต้องห้ามใช้สารเคมี ให้แจ้งทีมสภาผู้นำชุมชน สภาผู้นำชุมชนทุกคนต้องเป็นแบบอย่างในการปลูกผักและบริโภคผักปลอดสารเคมี ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารเคมีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ชนิด ได้แก่ ผักกาดขาว,ผักบุ้ง,คะน้า,บวบ,แตงกวา,ถั่วพู,ถั่วฝักยาว,ฟักเขียว,พริก,มะเขือยาว,มะเขือพวง,กระเจี๊ยบเขียว หมุนเวียนตามฤดูกาลเหมาะสม ร้อยละ 50 จำนวน 69 ครอบครัว จำนวน 69 ครัวเรือนจาก 139 ครัวเรือน มีการบริโภคผักที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เฉลี่ย 400 กรัมต่อวัน ร้อยละ 49.64 เกิดเมนูสุขภาพจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพิ่มการบริโภคผัก 8 เมนู ได้แก่ แกงส้มผักรวม,แกงเลียงปลาย่าง,ต้มจืดผักกาดขาว,ผัดผักบุ้ง,คะน้าน้ำมันหอย,ผักบวบใส่ไข่,น้ำพริก ผักต้ม และปลาร้าทรงเครื่อง ผักสด ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีค่าใช้จ่ายจากการซื้อผัก 540 บาท/เดือน จากเดิมค่าใช้จ่าย 1,200 บาท/ครัวเรือน/เดือน คิดเป็นร้อยละ 45 ของค่าใช้จ่ายก่อนเข้าร่วมโครงการ
ความยั่งยืน
ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานลดปัญหาของชุมชนทางสภาผู้นำได้มีแนวทางการดำเนินงานต่อไปคือ เกิดข้อตกลงร่วมในการปลูกและบริโภคผักปลอดสารระดับตำบล สู่การปฏิบัติและมีการเชื่อมโยงโครงการ”บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ของอำเภอเมืองพิษณุโลก เกิดสภาผู้นำตำบล จากตัวแทนสภาผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ 2 คน รวม 12 หมู่บ้าน ในการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัยระดับตำบล เชื่อมต่อกับ อปท. โดยเทศบาลตำบลหัวรอ บรรจุแผนงานโครงการปลูกและบริโภคผัก เชื่อมต่อกับแผนงาน อปท.ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 12 หมู่บ้าน งบประมาณ 66,000 บาท
ภาพกิจกรรมการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชนบ้านบางพะยอม