บ้านทับไทรให้คนแก่เป็นวิทยากร ต้นแบบสร้างคุณค่าผู้สูงวัยจันทบุรี

บ้านทับไทรให้คนแก่เป็นวิทยากร ต้นแบบสร้างคุณค่าผู้สูงวัยจันทบุรี

ประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวอย่างเจนจัด หากผู้สูงวัยอยู่นิ่งเฉย ทำตัวเหี่ยวเฉา สิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัว ก็คงจะสูญหายไปในวันที่ล้มหายตายจาก หลายคนเลือกที่อยู่เงียบๆ อยู่บ้าน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน แต่ผู้สูงวัยบางกลุ่มเลือกที่จะไม่อยู่นิ่งเฉย เพราะเชื่อว่า ตัวเองยังมีเรี่ยวแรงทำอะไรได้เหมือนคนหนุ่มสาว และยังมีคุณค่ากับสังคม

ดังเช่น ผู้สูงอายุบ้านทับไทร ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อผู้สูงวัย 84 ราย ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองด้วยการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งด้านการดูแลตัวเอง ผู้อื่น และสังคม ขณะเดียวกันยังใช้ประสบการณ์ที่โชกโชนวางรากฐาน ตลอดจนถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลานในชุมชนได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนบ้านทับไทร

ผู้สูงอายุของ ต.ทับไทร มีอยู่ประมาณ 800 คน แต่เดิมไม่มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรรมอย่างจริงจังจะมีเพียงการรวมตัวกันเป็นครั้งคราว เช่น วันนัดหรือวันรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุของเทศบาล หรือ อบต. ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจะได้มาพร้อมหน้าพร้อมกันแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

“แล้วเวลาที่เหลือทั้งปีละ เขาจะอยู่ จะทำอย่างไรกัน พอไม่มีอะไรทำก็เหงา ว้าเหว่ ซึมเศร้า พาโรครุมเร้าอีก ทั้งๆ ที่บางคนยังแข็งแรงอยู่แล้ว แต่เพราะไม่มีอะไรให้เขาทำกันอย่างต่อเนื่อง” อารยา ศิริสวัสดิ์ หรือ ครูยา ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ให้ความเห็น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ครูยา ชักชวนผู้สูงอายุในพื้นที่มาตั้งชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทรขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน อยากทำอะไร อยากถ่ายทอดอะไรก็มาระดมสมองช่วยกัน โดยแรกเริ่มเก็บค่าสมาชิกคนละ 120 บาท เพื่อไว้ใช้เป็นสวัสดิการ ส่วนคนที่ยังไม่ถึงวัย แต่อยากทำงานด้านผู้สูงอายุก็มาช่วยกันก็ได้

กิจกรรมของชมรมในช่วงแรก คือในหนึ่งสัปดาห์จะพบกัน 3 วัน ร่วมกันออกกำลังกาย ช่วยกันดูแลเฝ้าระวังสุขภาพซึ่งกันและกัน

ครูยา บอกว่า ต่อมาทุกวัน อังคาร พุธ และพฤหัสบดี ผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่มีธุระหรือป่วยติดบ้านติดเตียงก็จะมารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมตามหลัก 3 อ ได้แก่ ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายด้วย รำไม้พลอง รำวง เต้นบาสโลป โยคะ จนชำนาญกว่า 20 คนที่สามารถไปออกงานแสดงได้ด้วย ส่วนด้านอาหาร มาพูดคุยถึงอาหารการกิน ว่าต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดัน โดยในส่วนอาหารนี้จะให้ทุกคนนำอาหารมาจากที่บ้านใครบ้านมัน แล้วมาชิมดูจะได้รู้ว่าผู้สูงอายุแต่ละบ้านทานอาหารรสชาติแบบไหน ก็จะมีคุณหมอคอยให้คำแนะนำในด้านโภชนาการ

“เมื่อทุกคนได้มาเจอกัน เหมือนเพื่อนได้มาเจอเพื่อน ได้ยิ้มแย้ม แจ่มใส่ ก็เกิดเป็นความสุข ส่งผลดีด้านอารมณ์ด้วย” ครูยา กล่าว

ภายหลังกิจกรรม ทุกคนจะระดมความคิดเห็นกันว่าอยากจะทำอะไรในวันที่ 14 และ 25 ของแต่ละเดือน ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่มีกิจกรรมตลอดทั้งวัน จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของสมาชิก

อารยา อธิบายถึงหลักสูตรที่เกิดขึ้นนี้ ว่าก่อนจะถึงวันประชุมใหญ่ในแต่ละเดือนก็จะขอแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า ใครอยากทำอะไรบ้าง อย่างเช่น บางคนอยากทำลูกปะคบสมุนไพร ลูกสะบ้า บางคนอยากทำไม้กวาด บางรายอยากทำน้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น เมื่อได้มติจากเสียงส่วนใหญ่แล้ว ก็จัดเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ เมื่อถึงวันอบรม ก็จะให้สมาชิกที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นวิทยากรสอน เพราะหลายคนเก่งในงานฝีมือ ก็นำความรู้และประสบการณ์ช่วยสอนให้เพื่อนๆ ถือเป็นองค์ความรู้ที่อยู่ชุมชนอย่างแท้จริง

ดังนั้นกิจกรรมหรือหลักสูตรของชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร จึงไม่มีแบบตายตัว ไม่ได้สร้างหลักสูตรให้ สมาชิกอยากทำอะไร อยากสอนอะไร ก็จะสอนกันเอง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง

“ขณะเดียวกันเราไม่ปล่อยให้องค์ความรู้หรือภูมิปัญญาสูญหายไป ทุกคนปรารถนาที่จะใช้สมองและสองมือคอยถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชุมชน เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย เขาจะได้รู้ว่ากว่าจะได้มาในแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ทำไปด้วยฟังเรื่องเล่าไปด้วย ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนบ้านทับไทร” ครูยา กล่าว

ขณะที่ ป้าบุญชุ่ม ทองหล่อ วัย 70 ปี หนึ่งในแกนนำผู้สูงอายุบ้านทับไทร กล่าวว่า เมื่อก่อนผู้สูงอายุไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ละคนก็อยู่บ้านใครบ้านมัน เลี้ยงลูกหลาน แต่เมื่อมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น ทำให้ได้มาเจอกันมากขึ้น และเมื่อมีโครงการของ สสส. ยิ่งทำให้มีกิจกรรมทำบ่อยขึ้นกว่าเดิม

“เรามาเจอกันได้ออกกำลังกายร่วมกัน ได้มีความรู้ใจการดูแลสุขภาพตัวเอง รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน ซึ่งตนเคยทำงานที่ รพ.มาก่อน ก็จะระมัดระวังอาหารการกินอยู่แล้ว จึงช่วยบอกเพื่อนผู้สูงวัยด้วยกันอีกทางหนึ่ง ส่วนคนที่ไม่ค่อยออกมาร่วมกิจกรรม เราก็ชักชวนกันไปเยี่ยมที่บ้าน ไม่คุย ไปให้กำลังใจเขา จะได้ไม่เหงา” ป้าบุญชุ่ม บอก

               ในปี พ.ศ.2560 ทางชมรมผู้สูงอายุบ้านทับไทร ได้เข้าร่วมโครงการ “สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็ง พร้อมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของชมรมให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และกลายเป็นชมรมผู้สูงอายุต้นแบบของ จ.จันทบุรี เฉกเช่นทุกวันนี้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ