บ้านสหกรณ์เรียนรู้วิธีลดหนี้ด้วยวิถีพอเพียง
สรุปสาระสำคัญ
โครงการศึกษาปัญหาการเป็นหนี้ของครัวเรือน และนำมาประมวลรูปแบบของเส้นทางการเกิดหนี้ การวิเคราะห์หนี้ฟุ่มเฟือย และให้ความรู้ด้านการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้สมาชิกเห็นตัวเลขรายรับ รายจ่ายและหนี้ฟุ่มเฟือยแล้วกำหนดรายจ่ายเพื่อลดหนี้ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องเกษตรผสมผสานที่หลากหลายนำไปออกแบบผังฟาร์มหรือการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่บ้านของแต่ละคนอย่างเหมาะสมกับสภาพฐานะ และสภาพพื้นที่เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากที่สุดในการทำเกษตรผสมผสาน และนำรายได้เสริมจากการขายผลผลิตมาลดหนี้ รวมทั้งลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล
1. การออกแบบโครงการ ที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของความสำเร็จ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักคิดและแนวทางการพัฒนาชุมชนน่าอยู่
2. มีวิธีการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ที่เพิ่มศักยภาพทั้งผู้รู้และผู้เรียนรู้
3. มีกิจกรรม และวิธีการผลักดันการปฏิบัติ สนับสนุนกันเป็นกระบวนการ
4. เกิดการสร้างรายได้จากการทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม โดยในปีแรก ชาวบ้านเน้นการปลูกผักเพื่อกินมากกว่า มีการขายให้กับเพื่อนบ้านบ้างอย่างไม่เป็นทางการ
5. แกนนำโครงการมีศักยภาพ วิเคราะห์ปัญหาได้ เข้าใจบริบทและวิธีการทำงานกับคนชุมชน รวมถึงทุนชุมชนที่มีและน่าจะใช้แก้ไขปัญหาได้ จนสามารถพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม
6. แนวทางการแก้ไขปัญหาระดับครัวเรือนที่สำคัญคือ การทำให้เห็นว่าปัญหาเกิดจาก “พฤติกรรม” ใดของตนหรือคนในครัวเรือนที่เป็นสาเหตุ จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง เช่นที่โครงการทำให้เห็นประเภทของของหนี้ 3 ประเภท คือ หนี้ภาครัฐ หนี้จากอาชีพ และหนี้จากความฟุ่มเฟือย ที่นำไปสู่การปรับพฤติกรรม และการทำเกษตรผสมผสานด้วยการวางแผนผังฟาร์มและเรียนรู้การปฏิบัติจากปราชญ์ชาวบ้านที่มี เพื่อลดหนี้ ลดรายจ่าย จนค่อย ๆ ลดหนี้ลงมาได้กันทุกคน
7. กระบวนการส่งเสริมการมีพฤติกรรมที่โครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหา (ข้อมูลหนี้-ประเภทหนี้และเส้นทางการเป็นหนี้) มีข้อมูล-ความรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาพร้อมรูปธรรมความสำเร็จจากวิธีการนั้น (ประสบการณ์-ความรู้จากปราชญ์ชุมชน) มีเครื่องมือและแผนเฉพาะตนที่จะดำเนินการ (ผังฟาร์มและบัญชีครัวเรือน ติดตามสถานการณ์รายได้รายจ่ายตนเอง) มีที่ปรึกษา (ปราชญ์ชุมชน) และเพื่อนร่วมกันแก้ไขปัญหา (คือ Buddy และกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด)
จึงจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมาย มีความมั่นใจในการลงมือดำเนินการว่าทำอย่างเหมาะสม ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งใจ เห็นผลได้การเปลี่ยนแปลงได้เป็นระยะด้วยตนเอง และสามารถรักษาพฤติกรรมดีๆ ที่ทำอยู่ไว้ได้ต่อเนื่อง