ปลูก(ผัก)ด้วยรัก สานพลังสามัคคี “ชุมชนบ้านแขนท้าว”
ปลูก(ผัก)ด้วยรัก สานพลังสามัคคี “ชุมชนบ้านแขนท้าว”
ผักปลอดสารพิษ ชีวิตปลอดภัย ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน
เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยึดติดกับเข็มของนาฬิกาของระบบทุนนิยม ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของคนส่วนใหญ่ในสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและสามารถพึ่งพาตนเองได้แบบดั้งเดิมเริ่มเลือนหาย ข้าวของเครื่องใช้ของกินทุกอย่างอย่างต้องจ่ายหรือซื้อมาด้วยเงิน แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างการปลูกพืชผักสวนครัวในรั้วบ้าน
เมื่อความสะดวกสบายต่างๆ วิ่งเข้าหาถึงหน้าประตูบ้าน ความคิดแบบ “อยากได้อะไรก็ซื้อเอา” ขยายผลเข้าครอบงำวิถีชีวิต จนลืมคิดไปว่าสิ่งที่ต้องซื้อหามาบริโภคแต่ละวันนั้นล้วนแลกมาได้ด้วย “เงิน” บางวันจ่ายหลักสิบบางวันก็หลักร้อย รวมกันเดือนๆ หนึ่งก็เกือบหนึ่งหมื่นบาท ทั้งๆ ที่พืชผักสวนใหญ่แล้วสามารถปลูกได้เองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พริก กระเพรา โหระพา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกผักเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนั้น ต่างก็ใช้ทั้งสารเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อแข่งขันกันในตลาด ทำให้มีสารพิษตกค้างจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค “นางฟารีดา ดาโอะ” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลมายอ จังหวัดปัตตานี จึงเกิดแนวคิดว่า เมื่อเราต้องบริโภคผักเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องมาเสี่ยงกับการกินผักที่มีสารพิษตกค้าง แถมยังต้องเสียเงินจำนวนมากในแต่ละเดือน ทั้งๆ ที่พืชผักต่างๆ นั้นสามารถปลูกไว้รับประทานได้เองภายในแต่ละครัวเรือน
จึงเป็นที่มาของการชักชวนกลุ่มแม่บ้านของ ชุมชนบ้านแขนท้าว อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ให้หันมาปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้รับประทานกันเองในครัวเรือน จนเกิดเป็น “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่นอกจากจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของสมาชิกทุกคนในชุมชนอีกด้วย
นางกรรฐิมาณี มะเดง เกษตรกรต้นแบบวิถีพอเพียง และที่ปรึกษาด้านการปลูกผักปลอดสารพิษของโครงการฯ เล่าให้ฟังว่าหลังบ้านมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ทำสวนผสมผสานแบบเกษตรพอเพียงมานานหลายปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่ค่อยรู้ เพราะมองจากถนนเข้ามาไม่เห็น โดยปลูกทุกอย่างที่กินและขายได้ทั้ง กล้วย, มะนาว, มะขาม, สะตอ, มะม่วง, ตาล, หมาก, ชะอมฯลฯ มีบ่อเลี้ยงปลาดุก และแปลงปลูกพืชผักสวนครัวอีกนับสิบชนิด และก็เพิ่งเก็บมะนาวส่งขายที่ตลาดไป 25 กิโลกรัม ได้เงินมาถึง 700 บาท
“แต่ละวันจะมีรายได้จากการเก็บผลผลิตในสวน 400-800 บาท โดยจะนำผลผลิตที่ไปส่งให้กับแม่ค้าขายที่ตลาดนัด ทุกวันนี้ที่บ้านแทบไม่ได้ซื้อผักเลย ซื้ออย่างเดียวก็คือข้าวสาร ตอนนี้ก็เป็นวิทยากรให้กับเพื่อนๆ ในชุมชน สอนเรื่องวิธีการปลูกพืชชนิดต่างๆ สอนวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมี คนในชุมชนของเรานั้นแต่เดิมไม่คิดว่าจะปลูกเองได้เพราะซื้อกินมานานจนเคยชิน แต่พอมีตัวอย่างและเอากลับไปลองปลูกที่บ้านแล้วพบว่าเขาเองก็ทำได้ ทุกคนก็มีความสนุกในการปลูกผักและภูมิใจกับผลงานของตัวเอง”
เพราะที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมักจะมองว่าผักนั้นหาซื้อง่าย เดี๋ยวก็มี “รถโชเล่” หรือมอเตอร์ไซค์พวงข้างขับเข้ามาขายถึงในชุมชน โดยที่มักจะลืมคิดไปว่าการซื้อผักครั้งหนึ่งใช้เงินอย่างน้อยที่สุดราว 30 บาท ถึง 150 บาท โดยเฉพาะในช่วงที่ผักมีราคาแพง เมื่อรวมเงินที่ใช้ซื้อผักในแต่ละเดือนเข้าด้วยกันก็จะเห็นว่าเป็นเงินหลายพันบาท หรือบางครอบครัวอาจถึงเกือบหนึ่งหมื่นบาท ที่สำคัญผักเหล่านี้มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งแรงจูงใจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กลุ่มแม่บ้านในชุมชนบ้านแขนท้าวเกิดความตระหนักและหันมาปลูกผักในครัวเรือนนั้น เกิดขึ้นจากการที่ทาง โรงพยาบาลมายอ ได้เข้ามาร่วมให้ความรู้ในเรื่องของพิษภัยจากการบริโภคผักที่ปนเปื้อนสารเคมี ชนิดที่เรียกว่าจัดเต็มทั้งจอโปรเจคเตอร์ เครื่องเสียง และวิทยากร เพื่อให้เห็นภาพและขั้นตอนการเพาะปลูกผักในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพ และผลร้ายจากการบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะผักคะน้า ต้นหอม และผักชี ที่ชาวบ้านแทบไม่เชื่อว่าจะใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเยอะมากจนแทบไม่กล้ารับประทานผักชนิดนี้จากตลาดอีกต่อไป
นางยาวาเฮ อุมา หนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเล่าให้ฟังว่า เมื่อเห็นภาพและข้อมูลต่างๆ แล้วก็เริ่มตกใจ อย่างถั่วงอกนี่ก็ใช้สารเคมีเยอะมาก พอเห็นภาพคนเป็นมะเร็วแล้วก็ยิ่งกลัว ก็เลยเปลี่ยนความคิดหันมาปลูกผักกินเอง โดยพื้นที่เล็กๆ เพียงไม่กี่ตารางวาตรงพื้นที่ว่างเปล่าข้างตัวบ้านนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวได้หลายชนิดทั้ง มะระ, ถั่วฝักยาว, แตงกวา, ผักบุ้ง, พริกขี้หนู ฯลฯ
“พอไปฟังและเห็นภาพแล้วยิ่งน่ากลัว เลยเริ่มตัดสินใจปลูก เมื่อก่อนต้องซื้อผักต่างๆ ไม่น้อยกว่า 30-40 บาททุกวัน แต่ตอนนี้ไม่ได้ซื้อผักแล้ว เพราะกินผักที่ปลูกเอง อย่างพวกแตงกว่าปลูกแค่ 40 กว่าวันก็สามารถให้เก็บผลผลิตไปทานกับน้ำพริกได้แล้ว ที่สำคัญรสชาติของผักที่ปลูกเองนั้นก็มีรสชาติที่อร่อยกว่าและยังสดกว่าที่ซื้อจากตลาด และตอนนี้เริ่มมีความคิดว่าอยากจะทดลองปลูกพวกผักสลัดต่างๆ ดูบ้าง”
ด้าน “นางนูรียะห์ บือราเฮง” ที่ชักชวนสมาชิกในครอบครัวทุกคนมาร่วมกันปลูกและดูแลผักในที่ดินของตนเองซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ปลูกทานตะวัน, ฟักเขียว, อ้อย, แตงกวา, ถั่วฟักยาว, กระเจี๊ยบ, บวบเหลี่ยม, บวบงู และผักสวนครัวต่างๆ โดยต้นทานตะวันนั้นปลูกเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์มาเพาะเป็นต้นอ่อนทานตะวัน ส่วนอ้อยนั้นก็ปลูกเพื่อที่จะนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยขาย
“ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่อยู่กันหลายคนซื้อผักวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 80 บาท แม้กระทั่งพริกยังต้องซื้อ แต่ตอนนี้ไม่ต้องซื้อแล้วเพราะมีผักที่ปลูกเองแทบทุกอย่าง ซื้อแค่เนื้อสัตว์อย่างปลาและไก่ เวลาที่เห็นผลผลิตออกมาแล้วเราก็มีความสุข ถ้าเก็บได้เยอะก็เอาไปแบ่งหรือแลกเปลี่ยนกับผักชนิดอื่นๆ ของเพื่อนๆ การที่ครอบครัวได้กินผักที่ปลอดสารพิษครอบครัวเราก็จะได้ปลอดภัย ทุกคนในบ้านก็มาช่วยกันดูแปลงผักที่ปลูกเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งที่บ้านยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องของการทำสารอีเอ็มและปุ๋ยชีวภาพด้วย”
ซึ่งนอกจากจะมีการสร้างความตระหนักถึงผลเสียจากการบริโภคผักที่ปนเปื้อนสารพิษแล้ว ทางโครงการยังได้จัดกิจกรรม “แข่งขันการปลูกผัก” ระหว่างกลุ่มสมาชิกโดยแบ่งออกเป็นโซนต่างจำนวน 4 โซนของชุมชน โดยมีรางวัลน่ารักเก๋ไก๋เป็นผ้าถุง 1 ผืนสำหรับผู้ชนะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังเป็นการช่วยสานความสัมพันธ์ สานความสามัคคีระหว่างสมาชิกในชุมชนให้เกิดขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชผัก ผลผลิต เทคนิค และวิธีการปลูกระหว่างกันและกัน
โดย “นางซีซะห์ มะดีเยาะ” ผู้ที่ชนะการแข่งขันการปลูกผักจากโซนกัมปง เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจว่า “มีพื้นที่ปลูกผักเล็กๆ แค่ครึ่งงานแต่สามารถประหยัดรายจ่ายในแต่ละวันไปได้ 40-60 บาท โดยปลูกทั้งคะน้า ผักกาด บวบเหลี่ยม กวางตุ้ง ฯลฯ และผักสวนครัวอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการกินผักที่ปลูกเองปลอดภัยไร้สารเคมีนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดรายจ่าย ทำให้มีสุขภาพดี”
“โครงการนี้นอกจากอยากที่จะให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานกันเองในครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้จำนวนมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือเราอยากเห็นความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันขึ้นในชุมชนของเรา ซึ่งเป็นภาพในอดีตที่กลับคืนมาสู่ชุมชนแห่งนี้อีกครั้ง และเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน” นางฟารีดา ดาโอะ ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวสรุป
การปลูกผักสวนครัวของชาวชุมชนบ้านแขนท้าวนอกจากจะประหยัดและปลอดภัยต่อสุขภาพแล้ว ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มด้วยสามัคคีเข้มแข็งขึ้น และพร้อมที่จะขยายผลจากการดูแลสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครัวเรือนไปสู่การสร้างชุมชนแห่งนี้ให้มีสุขภาวะอย่างยั่งยืน.