ผลิต “สื่อสร้างสรรค์” สร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
ผลิต “สื่อสร้างสรรค์” สร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
เปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างสนุกสนาน-ปูพื้นฐานสร้างสุขภาวะ
การให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของชีวิต เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้จะต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่อย่างยิ่ง เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางกาย จิตใน สังคมและปัญญา จำเป็นต้องมีสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัย
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาการของเด็กปฐมวัยซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต จึงได้ให้การสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลต่างๆ เพื่อผลิตสื่อและเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างสุขภาวะของเด็กๆ ทุกมิติ สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชน ให้มีความความฉลาดรอบรู้ทั้งด้านสุขภาพ และความตื่นรู้ทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้านและเป็นพลเมืองดีของสังคม
หนึ่งในสถานศึกษาปฐมวัยซึ่งดำเนินจัดทำสื่อสร้างสรรค์ได้อย่างเห็นผลชัดเจนก็คือ โรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่คณะครูและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันเปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนาน และช่วยกันคิดผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กน้อยในความดูแลได้ใช้ประโยชน์ ตาม “โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กๆ ให้เกิดความเข้มแข็งสามารถเผชิญกับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับเด็ก คุณครูเซาดะห์ บินยีหมัด แห่งโรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ มองเห็นว่าความสุขของเด็กๆเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผู้ใหญ่กลับมองไม่เห็นและไม่ได้ให้ความสำคัญนัก แต่เมื่อได้รับการชักชวนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้กลับมาคุยกับผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครูด้วยกัน วางแผนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กขึ้นมาภายในโรงเรียน แบ่งหน้าที่กันดำเนินงานจนมีพื้นที่ช่วยให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างพัฒนาการอย่างสมวัย
“เด็กของเรามีตั้งแต่อายุ 2-5 ขวบ ตอนนี้มี 157 คน แต่ก่อนโรงเรียนของเราไม่มีเครื่องเล่นอะไรให้เด็กได้เล่นได้ออกกำลังกายเลย พอเราได้รับการสนับสนุนก็เลยมาคิดกัน ช่วยกันทำสื่อ เอายางรถยนต์มาตั้งวางเรียงๆ ให้เด็กฝึกการทรงตัว พื้นสนามเราก็ทำพยัญชนะให้เด็กเรียนรู้ระหว่างเล่นไปด้วย แล้วก็เปิดให้เด็กจากภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ได้ถึงเวลา 18.30 นาฬิกาของทุกวันด้วย”
คุณครูเซาดะห์ ขยายความอีกว่าการผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่ครูเป็นผู้ผลิตเพื่อเด็กๆเท่านั้น แต่ยังเชิญสื่อบุคคลภายนอกมาสอนวิชาชีพเพื่อสร้างประสบการณ์เพื่อสุขภาวะให้กับเด็กๆ ด้วย เช่น การเชิญวิทยากรมาปรุงอาหารพื้นบ้านที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ พร้อมๆ กับการให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เด็กๆ รู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และจะมีกิจกรรมที่นำวิทยากรจากภายนอกมาร่วมกิจกรรมกับเด็กทุกเดือน ขณะเดียวกันคณะครูทั้งโรงเรียนยังช่วยกันผลิตสื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ของเด็กระดับอนุบาลที่มีอยู่มากกว่า 40 หน่วยการเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการผลิตสื่อการเรียนรู้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด
“จากการได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลับมาก็เห็นว่าบางอย่างที่อยู่ใกล้ตัวสามารถใช้เป็นสื่อได้ ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับโครงงานที่เกี่ยวกับผัก เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร แต่ก่อนเด็กชอบนำขนมขบเคี้ยวมาโรงเรียน พอเรามีการอบรมทำกิจกรรม พฤติกรรมเด็กก็เปลี่ยนไป และเราก็ขอร้องผู้ปกครองอย่าสนับสนุนให้เด็กนำขนมขบเคี้ยวมาโรงเรียน ครูเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วยว่าจะเดินคู่ไปกับเด็กได้อย่างไร” คุณครูเซาดะห์ระบุ
ทางด้าน ครูมารีย๊ะ บูเก็ม เห็นว่าการผลิตสื่อที่คณะครูช่วยกันทำต้องสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างทั้งจากสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศ และการสร้างสื่อบางประเภทเครื่องเล่นสนามต้องใช้แรงงานติดตั้งเนื่องจากไม่มีครูผู้ชายในโรงเรียนแต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ เท่าที่สังเกตพบว่าสื่อเครื่องเล่นในสนามนั้นสามารถพัฒนาการการเรียนรู้ให้แก่เด็กได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ภายในโรงเรียนยังมีโครงการจัดทำมุมหนังสือให้มากขึ้น มีหนังสือนิทานต่างๆ เพื่อสร้างสมาธิให้กับเด็ก
“เรามีโครงการทำหนังสือนิทาน มีเนื้อหาสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น สอดแทรกข้อคิดไปด้วย เด็กๆจะชอบให้คุณครูอ่านนิทานให้ฟัง คุณครูแต่ละคนก็จะแบ่งหน้าที่กันไปทำตามความถนัด สร้างเครื่องมือให้เด็กเรียนรู้โดยตรง ทั้งการมองเห็น การสัมผัส การมีส่วนร่วม ช่วยกันพัฒนาเพื่อเด็กๆของเรา”
ขณะที่ วิชาญ บินอาสัน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นเตรียมอนุบาล ยอมรับว่าตั้งแต่โรงเรียนมีสื่อเครื่องเล่นสนาม ลูกให้ความสนใจในการเล่นเครื่องเล่น และมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะมีปัญหาเรื่องติดโทรทัศน์และเล่นโทรศัพท์มือถือ เห็นพัฒนาการของลูกดีขึ้นและผลการเรียนก็ดีขึ้น รู้สึกพึงพอใจมาก
“กลับบ้านไปสลาม(สวัสดี)พ่อแม่ได้แล้ว ตอนนี้ไม่ติดทีวีเหมือนแต่ก่อน พอเลิกเรียน โรงเรียนยังไม่ปิดก็ขอกลับมาเล่นเครื่องเล่นที่โรงเรียนอีก ครูบอกสอนอะไรกลับไปก็จะไปบอกพ่อแม่ด้วย เห็นได้ชัดว่าลูกผมมีระเบียบวินัยมากขึ้น” ผู้ปกครองกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
การผลิตสื่อและการเปิดพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ในโรงเรียนแห่งนี้ เกิดจากการมองเห็นคุณค่าของความสุขที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆควบคู่ไปกับการสร้างพัฒนาการ ปูพื้นฐานทักษะชีวิตให้เกิดกับเด็กๆ ที่อยู่วัยแห่งการเรียนรู้และจดจำ เพื่อนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป.