“ผักผลไม้พื้นบ้าน” เครื่องมือสร้าง ‘สุขภาวะ’ ของชุมชนรมณีย์

“ผักผลไม้พื้นบ้าน” เครื่องมือสร้าง ‘สุขภาวะ’ ของชุมชนรมณีย์

ร่วมสืบสานพระปณิธานพ่อหลวงบนวิถีแห่งความ “พอเพียง”

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยในอดีต แต่เมื่อกระแสทุนนิยมหลั่งไหลเข้ามาไกลถึง “ตำบลรมณีย์” ชุมชนเกษตรกรรมเล็กๆ ชายป่าของอำเภอกะปง จังหวัดพังงา วิถีของผู้คนที่เคยพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติก็เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่หลงลืมและละเลยไม่เห็นคุณค่าของผักพื้นบ้าน ใช้ยาและสารเคมีจนทำให้พืชผักหลายชนิดเริ่มสูญหายไปพร้อมกับภูมิปัญญาในการประกอบอาหารพื้นถิ่น

ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ใน “ตำบลรมณีย์” จึงได้รวมตัวกันตั้งกลุ่ม “ฟาร์มตัวอย่าง” ปลูกพืชผักปลอดสารพิษอนุรักษ์ผักพื้นบ้านดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ ในชุมชนมานานกว่า 4 ปี แต่การที่จะทำให้สมาชิกในชุมชนทั้งหมดเห็นความสำคัญของ “ผักพื้นบ้าน” ได้อย่างแท้จริงว่านอกจากจาก “ประหยัด” และมี “ประโยชน์” ต่อสุขภาพของทุกคนแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังนำมาซึ่ง “รายได้” ที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยนั้นจะต้องต่อยอดไปอีกขั้น

“โครงการผักพื้นบ้านและผลไม้ตามฤดูกาล” โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นมาด้วยภาษาที่เรียบง่าย แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักในเรื่องสุขภาพที่พึ่งพิงอยู่กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดตลาดผักและผลไม้พื้นบ้านปลอดสารพิษตามฤดูกาลขึ้นในพื้นที่ของชุมชน โดยใช้ต้นทุนเดิมของพื้นที่ที่เป็น “บ่อน้ำพุร้อนรมณีย์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสมาชิกที่นอกจากจะทำให้ผักพื้นบ้านหลายสิบชนิดถูกมองเห็น “คุณค่า” เพราะว่ามี “มูลค่า” สามารถจำหน่ายได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อ “คุณภาพชีวิต” อีกด้วย

นางกระจาย สิทธิชัย หรือ “ป้าแจ๋ว” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ทำสวนยาง สวนผลไม้ และปลูกปาล์ม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนรมณีย์นั้น เมื่อก่อนมักจะใช้ยาฆ่าแมลงในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้ผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์หลายชนิดพลอยสูญหายไปด้วย เมื่อมีการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน จึงได้มีการจัดทำฟาร์มตัวอย่างขึ้นมาควบคู่กันเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้แนวทางการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลดละเลิกการใช้สารเคมี

“ตอนนี้เรามีสมาชิกกว่า 40 คน ข้อตกลงร่วมกันในการขาย หากใครไม่สะดวกมาขายก็สามารถนำมาฝากให้กับสมาชิกคนอื่นๆ โดยจะหักค่าฝากขายร้อยละ 20 ให้กับผู้ขาย บางครั้งถ้ามีผักเหลือก็เอามาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนในการปลูก วันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีคนมาขายหลายคน ส่วนวันธรรมดาก็จะมีสมาชิกสลับหมุนเวียนกันมาขายเพราะนักท่องเที่ยวไม่เยอะมาก สมาชิกทุกคนก็เห็นคุณค่าของผักว่าไม่ต้องซื้อ แถมยังมีคุณประโยชน์กับร่างกาย ปลอดภัยจากสารพิษ ที่สำคัญถ้าเราดูแลไม่ใช้ยาหรือสารเคมีก็จะมีผักพื้นบ้านไว้จำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง”

สำหรับผักพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนรมณีย์นั้นมีมากมายเกือบ 20 ชนิดอาทิ ผักหวานป่า, ผักกูด, ผักหนาม, ใบบัวบก, โหระพา, ผักชีล้อม, ใบราน้ำ, ใบพาโหม, ผักเหมียง, ยอดลำเพ็ง, ผักกระสัง, ยอดหวายน้ำ, ลูกฉิ่ง, ใบชะมวง, โผะ, บอน(บอนท่า-บอนน้ำ), มะเขือพวง และยังมี “ใบทำมัง” ซึ่งเป็นผักที่ให้กลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแมงดา นำมาทำเป็นน้ำพริกได้อย่างเอร็ดอร่อย หรือ “ผักเปราะ” ที่กินแนมกับน้ำพริกหรือนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำจิ้มไก่ได้ ส่วนผลไม้พื้นบ้านประกอบไปด้วย ละไม, ลูกปุย, ลางสาด, ลองกอง, มังคุด, เงาะ, มะละกะ(คล้ายลางสาด), มะไฟป่า รวมไปถึง “ทุเรียนสาลิกา” ซึ่งเป็นทุเรียนพื้นบ้านที่มีรสชาติอร่อย หายากและมีราคาแพงไม่แพ้ทุเรียนหลง-หลินลับแลของอุตรดิตถ์

นางประคอง ชัยสิทธิ์ หรือ “ป้าเขียว” เล่าว่าโครงการนี้ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้ว่าผักพื้นบ้านที่เรารณรงค์ให้คนในชุมชนร่วมอนุรักษ์นั้น จะทำให้ทุกคนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อผักจากตลาดที่ปนเปื้อนสารเคมี และเมื่อเหลือกินแล้วเรายังเอามาวางจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวของสมาชิกได้ เพราะรายได้จากการกรีดยางหรือสวนผลไม้จะมีรายได้เป็นช่วงๆ ตามฤดูกาล แต่ถ้าขายผักพื้นบ้านจะมีรายได้หมุนเวียนแทบทุกวัน

“ของกินในชุมชนของเรามีเหลือเฟือ ถ้าเราไม่ทำลายและบริหารจัดการให้ถูกต้อง เมื่อเราทำให้สมาชิกเห็นความสำคัญของผักพื้นบ้านก็จะทำให้เขาหันมาดูแลตัวเองในเรื่องของสุขภาพได้อีกด้วย เพราะผักพื้นบ้านหลายชนิดก็เป็นยา เพราะว่าที่เราป่วยกันหลายโรคทุกวันนี้ก็เพราะหันไปกินหมูกินผักจากตลาดที่ไม่สดสะอาดปลอดภัย แต่ผักพื้นบ้านของเราแค่เดินเข้าไปในสวนเราก็มีกินแล้วโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท ยาก็ไม่ต้องซื้อเพราะผักพาโหมก็ช่วยลดน้ำตาล ราน้ำก็แก้ท้องผูกได้”

โดย “ตลาดนัดเพื่อสุขภาพ” ที่จำหน่ายผักและผลไม้พื้นบ้านตามฤดูกาลนั้น ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณทางเข้าลานจอดรถของบ่อน้ำพุร้อนรมณีย์ ปกติจะมีสินค้าจำหน่ายทุกวันแต่อาจจะมีผู้ขายเพียง 1-2 รายและมีสินค้าไม่หลากหลายมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีจำนวนน้อย หากแต่เป็นวันเสาร์และอาทิตย์จะมีสินค้าจากสมาชิกและมีจำนวนร้านค้ามากขึ้นเป็นพิเศษ

          นางจอมขวัญ ทวยหาญ สมาชิกกลุ่มที่นำผักและผลไม้มาจำหน่ายในวันธรรมดาเล่าว่าวันนี้นำผักกูดมาขายจำนวน 20 กำ โดยเก็บเอามาจากริมคลองไม่ได้ปลูก มีผลไม้มาขาย 3 อย่างคือ ลองกอง และลางสาด อย่างละ 10 กก. และกล้วยซึ่งทั้งหมดปลูกโดยไม่ใส่ปุ๋ยและยา

“ลางสาดขาย กก.ละ 25 บาท ลองกอง กก.ละ20 บาท ส่วนผักกูดกำละ 10 บาทเป็นผักที่นักท่องเที่ยวซื้อกลับไปมากที่สุด ผักอื่นๆ ที่มักจะเอามาขายก็จะมี ผักเหมียง ผักแว่น บางครั้งก็เอาจำปาดะมาทอดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งผักและผลไม้ส่วนใหญ่ก็ขายได้เกือบหมด”

          “ตอนนี้เรากำลังขยายตลาดออกไปข้างนอกโดยส่งผักขายให้กับพ่อค้ามารับซื้อ เพราะมีผักพื้นบ้านหลายชนิดที่กำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาดมากขึ้น ทางกลุ่มยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดในการนำสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน มาผลิตเป็นลูกประคบเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการบ่อน้ำพุร้อน รวมไปถึงการนำผักพื้นบ้านมาปรุงเป็นอาหารจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของผักพื้นบ้านและสร้างอาชีพให้คนในชุมชน” ป้าแจ๋ว ระบุถึงแนวทางการต่อยอด

โครงการผักและผลไม้พื้นบ้านของตำบลรมณีย์จึงเป็นการนำทุนในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเครื่องมือให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี และยังช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชนอีกด้วย.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ