“ผู้ผลิต” พบ “ผู้บริโภค” สร้างตลาดอาหารปลอดภัยเมืองกระบี่
“ผู้ผลิต” พบ “ผู้บริโภค” สร้างตลาดอาหารปลอดภัยเมืองกระบี่
ขยายเครือข่ายเกษตรกร ป้อนผลผลิต “สด-สะอาด-ปราศจากสารเคมี”
ในสังคมเมืองที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เร่งรีบ บางครอบครัวมีข้อจำกัดไม่สามารถผลิตและปรุงอาหารเพื่อรับประทานเองได้ หรือในบางครอบครัวแม้มีเวลาประกอบอาหารได้ แต่ก็ไม่อาจรับรู้ว่าแหล่งผลิตอาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิต มีความสดสะอาดปลอดภัยเหมาะแก่การบริโภคเพียงใด
ส่วนผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายทางจึงไม่อาจเลือกหรือรู้ได้ว่าสินค้าแต่ละอย่างนั้นปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน สภาวการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป เช่นเดียวกันกับผู้อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ ซึ่งนับว่าเป็นสังคมเมืองที่มีความเร่งรีบ ไม่แตกต่างไปจากชุมชนเมืองของจังหวัดอื่นทั่วประเทศ
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารปลอดภัย เกิดการรวมตัวกันของ 14 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองกระบี่ สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงและให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตอาหารปลอดภัยที่ส่งวัตถุดิบป้อนสู่ชุมชน ร่วมกันจัดทำ “โครงการสายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต-ผู้บริโภค” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อให้ได้รู้แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ขณะเดียวกันก็สนับสนุนผู้ผลิตให้สามารถอยู่ได้ เกิดความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
จากคำบอกเล่าของ ศรัณรัตน์ ศรีโรจน์สุธา คณะทำงานโครงการ บอกที่มาของโครงการว่า ปกติในชุมชนเมืองเองครอบครัวที่ทำอาหารกินเองในครัวเรือนมีน้อย ส่วนใหญ่มักเลือกซื้อหาหารตามตลาดทั้งที่ปรุงสำเร็จรูปแล้ว และที่เป็นวัตถุดิบยังไม่ได้มีการปรุง โดยไม่ทราบแหล่งที่มาหรือแหล่งผลิต อาจได้รับสารตกค้าง เมื่อบริโภคเข้าไปก็ทำให้มีพิษสะสมในร่างกายนำไปสู่การเจ็บป่วย เป็นโรคต่างๆที่ไม่ได้เป็นโรคติดต่อเนื่องจากร่างกายขาดสมดุล และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ จึงได้ร่วมกันคิดหาทางที่จะไปสู่แหล่งผลิตอาหารโดยตรง เพราะในเขตชุมชนเมืองเองซึ่งยากแก่การที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหาร จึงต้องนำผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ จากภายนอกเข้ามา
“อย่างกะปิที่เราบริโภคกันอยู่ ผู้ผลิตที่เห็นแก่ได้บางรายต้องการกำไรมากขึ้น บางทีใส่สีสันให้ดูเหมือนธรรมชาติ เติมสีย้อมผ้าเข้าไป เติมมันสำปะหลัง เติมแป้งให้มันได้ปริมาณ เติมผงผงชูรส น้ำตาลทราย เราไม่มีทางรู้เลย เครื่องแกงก็เช่นกัน ส่วนผสมสำคัญมีพริกกับกะปิ แต่ในท้องตลาดเท่าที่ฟังจากแม่ค้าบางรายใส่ใบกระท้อนลงไปเพื่อให้น้ำแกงจะได้สีสดๆ น้ำแกงจะเมือกๆ เรื่องพวกนี้คนกินไม่ได้เห็นตอนทำไม่มีทางรู้ได้เลย” ศรัณรัตน์ ให้ข้อมูลอย่างน่าวิตก
ศรัณรัตน์ ขยายความว่าความจริงชุมชนเมืองมีผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย รู้แหล่งที่มา แต่ไม่มีข้อมูลหรือรับรู้แหล่งที่จะซื้อหาหาปลอดภัย ทางโครงการฯ จึงเป็นผู้เชื่อมทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในชุมชน สรรหาและตรวจสอบแหล่งผลิตที่ปลอดภัย เช่น กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มทำประมงพื้นบ้าน กลุ่มทำกะปิ กลุ่มทำเครื่องแกง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่กลุ่มสมาชิก และค่อยๆ ขยายกลุ่มออกไป
ขณะเดียวกัน สถิต โกยกิจเจริญ เจ้าของแพปลา หมู่ 3 ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ หนึ่งในเครือข่ายแหล่งผลิตที่ส่งปลาไปยังกลุ่มผู้บริโภคกล่าวว่า แหลมสักจะเป็นแหล่งทำประมงของกระบี่ ชาวประมงเมื่อออกเรือก็จะนำปลามาส่งที่นี่ ปลาบางชนิดก็นำไปทำเป็นปลาแดดเดียวไร้ก้าง มีแม่บ้านซึ่งเป็นคนในชุมชนมาเป็นแรงงงานในการทำปลา กระบวนการตั้งการจับปลาลำเลียงเข้าสู่แพปลาจะไม่เจือสารพิษใดๆ หากเป็นปลาที่ไม่รู้แหล่งที่มาก็จะไม่รับซื้อ
“ถ้าปลาไม่รู้แหล่งผลิต ไม่รู้ที่มาอาจจะไม่ปลอดภัย บางทีเขาใส่สารที่ทำให้ปลาดูสดอยู่ได้นาน แต่เป็นพิษต่อคนกิน ที่นี่เราไม่มีอย่างนั้นเด็ดขาด” สถิต ให้ความมั่นใจผู้บริโภคอย่างหนักแน่น
ทางด้าน กอหราด อีดเกิด แกนนำชาวประมง กลุ่มอนุรักษ์แหลมฟ้าผ่า ชุมชนทรายทอง ตำบลแหลมสัก หนึ่งในแหล่งผลิตที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานอาหารอินทรีย์ระดับชาติ และยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหภาพยุโรปกล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้ทำประมงพื้นบ้านอย่างมีความรับผิดชอบ มีเป้าหมายคือสัตว์น้ำที่จับได้จะต้องไม่มีสารพิษ เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปบริโภคได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ได้บริโภคปลาในราคาที่ยุติธรรม ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เลี้ยงครอบครัว การมีกลุ่มผู้บริโภคที่ชัดเจนก็จะทำให้ช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
“พวกเรารวมกลุ่มกันมี 20 กว่าครัวเรือน เราได้รับการรับรองมาตรฐานจากสหภาพยุโรปว่าเป็นแหล่งประมงอินทรีย์ เขาส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูสภาพแวดล้อม ตรวจสอบหลายอย่าง พวกเราต้องรักษามาตรฐานให้ได้ปีต่อปี เขารับรองเราทั้งภาพรวมและชนิดของปลาที่จับได้อีก 12 ชนิด ปลาที่เราจับได้จะถูกส่งขายตรงให้กลับเครือข่ายของเรา แล้วจะนำไปกระจายส่งต่อไปทั้งในพังงา กระบี่ สตูล ปัตตานี และในกรุงเทพฯ เองก็ได้กินปลาปลอดสารพิษของเรา ส่วนเงินก็กลับคืนกลับมาถึงคนเรือโดยตรง ได้เอามาจุนเจือครอบครัว เพราะคนทะเลพวกนี้ไม่มีที่ดินทำกิน เพราะที่ทำกินและที่อยู่คือทะเล”
แกนนำชาวประมงพื้นบ้าน ยังบอกด้วยว่าเมื่อกลุ่มประมงอินทรีย์ดำเนินงานได้เข้าที่แล้ว เขายังผลักดันให้ชุมชนบ้านอ่าวน้ำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก ได้รวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนผลิตกะปิจากเคยแท้ที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ส่งจำหน่ายไปยังกลุ่มผู้บริโภค ทั้งในจังหวัดกระบี่และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีมากเช่นเดียวกัน
จากการดำเนินโครงการสายใยสัมพันธ์ ผู้ผลิต-ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยเป็นทางเลือกของผู้ห่วงใยสุขภาพ ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่ดีมีคุณภาพในราคายุติธรรม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตและช่องทางการจัดจำหน่ายที่เป็นตลาดสีเขียวเพื่อสร้างสุขภาวะของทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน.