พลังเยาวชนกาบเชิงสร้างสุขภาวะ “โรงเรียนปลอดผลไม้ดอง”

พลังเยาวชนกาบเชิงสร้างสุขภาวะ “โรงเรียนปลอดผลไม้ดอง”

ขยายผลสู่ชุมชน เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ห่างไกลโรค

อาหารกับสุขภาพเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน หากร่างกายได้รับอาหารสะอาดปลอดภัย ครบถ้วน มีความสมดุล โอกาสที่ร่างกายจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ก็ย่อมน้อยลงไปด้วย

โรงเรียนกาบเชิงวิทยา อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ อยู่ในพื้นที่ชายแดนต้านตะวันออกของประเทศ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนร่มรื่นเขียวชอุ่มด้วยพืชพรรณและป่าชุมชนด้านหลังโรงเรียนมีเนื้อที่กว่า 300 ไร่ และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ

แม้จะมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ แต่ทั้งครูและเด็กนักเรียนของโรงเรียนกาบเชิงวิทยายังมีมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกลักษณะ โดยเฉพาะการที่มีนิสัยที่ชื่นชอบการบริโภค “ผลไม้ดอง” ชนิดต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

หลังจากได้รับการชักชวนจาก สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คุณครูและนักเรียนของโรงเรียนกาบเชิงวิทยา จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการชุด “พลังเด็กและเยาวชน สร้างสุขภาวะชุมชน กินเปลี่ยนโลก อร่อย อันตราย ผลไม้ดอง” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ฉัตรธิดา นาหนองบัว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในแกนนำนักเรียน เล่าให้ฟังว่าแต่เดิมรอบๆ โรงเรียนมีร้านขายผลไม้ดองอยู่หลายร้าน รวมทั้งในโรงเรียนก็ยังมีร้านขายผลไม้ดองอีกด้วย ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีทั้งเด็กนักเรียนและครู รวมทั้งตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่ซื้อผลไม้ดองเป็นประจำ หลังจากได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและอบรมกับทางศูนย์ของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ จึงได้รู้ถึงผลเสียของการบริโภคผลไม้ดอง จึงกลับมาร่วมคิดวางแผนร่วมกับเพื่อแกนนำนักเรียน โดยมีครูให้คำปรึกษา ตั้งเป้าหมายให้นักเรียนลดการซื้อผลไม้ดองหันไปกินผลไม้สดแทน

 “รอบโรงเรียนมีร้านผลไม้ดองอยู่เยอะมาก ตอนนั้นมีนักเรียนกินผลไม้ดองแล้วก็ปวดท้อง พอมีโครงการนี้เข้ามาเราก็เล็งเห็นว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก่อนพวกหนูก็กิน พอมาเข้าโครงการนี้ มีการทดสอบพบว่ามีสารต่างๆในผลไม้ดองทำให้รู้สึกกลัว และไม่คิดที่จะกินอีกต่อไป และติดว่าควรเอาเรื่องนี้มาทำเป็นโครงการดีกว่า”  ฉัตรธิดา บอกถึงที่มา

ขณะเดียวกัน อรุณรัตน์ ชมโพธิ์ เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แกนนำนักเรียนอีกคน บอกว่าแต่เดิม เธอและเพื่อนๆเป็นสมาชิกชุมนุม อย.น้อย จึงให้ความสนใจมาร่วมโครงการ เริ่มตั้งแต่การประชุมวางแผน สำรวจผู้บริโภค เขียนป้ายโปสเตอร์รณรงค์ติดตามจุดต่างๆ ของโรงเรียน มีการทำประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย บอกถึงโทษของสารที่เจือปนอยู่ในผลไม้ดองที่ส่งผลต่อร่างกาย จากนั้นก็ชักชวนนักเรียนเครือข่ายมาอบรม ตรวจสอบสารปนเปื้อนที่อยู่ในผลไม้ดอง พบว่ามีทั้งสารฟอกขาว สารกันรา และบอแร็กซ์ ทำให้นักเรียนในเครือข่ายไม่ซื้อผลไม้ดองกินอีกต่อไป ส่งผลให้ร้านค้าที่เคยขายผลไม้ดองไม่มีผู้ซื้อจึงต้องปรับเปลี่ยนหันมาขายผลไม้สดแทน

“พวกเราไม่ได้ตรวจสอบแค่ผลไม้ดองอย่างเดียว อย่างพวกหมูเด้ง หมึกสด เล็บมือนาง (ตีนไก่) เราก็นำมาตรวจสอบ ถ้าเราเจอสารอะไรก็จะบอก แต่ก่อนพวกหนูกินไม่เลือก ตอนนี้พวกเราลดการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องลง ต้องเป็นตัวอย่างสร้างความน่าเชื่อถือให้รุ่นน้องๆ ก่อน” อรุณรัตน์ กล่าว

            ฉัตรธิดา เสริมด้วยว่านอกจากการรณรงค์ในโรงเรียนจนได้ผลแล้ว ทางโรงเรียนยังจัดกิจกรรมตลาดนัดน้อย เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมทั้งจัดกิจกรรมเปิดบ้านแนะนำโรงเรียน (Open House) นำความรู้สู่ชุมชน มีครูและคณะนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมา นอกจากนี้กลุ่มนักเรียนยังได้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับการบริโภคอาหารปลอดภัย ด้วยกิจกรรม “คบเด็กปลูกผัก” ทำแปลงปลูกผักในโรงเรียน และแจกเมล็ดพันธุ์คนละ 4 ชนิดให้นักเรียนไปปลูกที่บ้าน มีการติดตามผลลัพธ์จากสมุดบันทึกและภาพถ่ายพืชผักที่ปลูกที่บ้าน

“เรายังมีนักเรียนแกนนำอีก 26 คนนำไปบอกต่อของแต่ละบ้าน จากการสอบถามเพื่อนๆ นักเรียนแกนนำด้วยกันตอนนี้พบว่าบ้านของเพื่อนที่เคยทำผลไม้ดองเลิกขายแล้วเพราะไม่มีคนซื้อ ส่วนตัวหนูเองก็ไปบอกคนในบ้าน ญาติๆ ที่อยู่ใกล้บ้านให้รับรู้ พอจบจากผลไม้ดองเราก็ทำโครงการชวนน้องปลูกผัก ทำแปลงผักในโรงเรียน ส่วนหนึ่งก็แจกเมล็ดพันธุ์ให้ไปปลูกที่บ้าน เพราะนอกจากเราจะได้กินผักปลอดภัยแล้วยังช่วยลดรายจ่ายไม่ต้องซื้อผักจากตลาดซึ่งไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือเปล่า” ฉัตรธิดา กล่าว

ทางด้าน ครูอัจฉรา คำพูล ที่ปรึกษาโครงการให้ข้อมูลว่า ในตอนแรกที่ทราบเรื่องก็ยังไม่เข้าใจมากนักแต่พอได้รู้เป้าหมายของการดำเนินงาน และประกอบกับทางผู้บริหารก็ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพของนักเรียน และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยบอกกับครูและนักเรียนทุกคนว่า ถ้าเด็กมีสุขภาพดีก็จะไม่มีการขาด การลา มาสาย สามารถมาเรียนหนังสือได้อย่างเต็มที่ทุกวัน จึงดำเนินการตามกระบวนการเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จ และไม่มีร้านค้าขายผลไม้ดองในโรงเรียนอีกต่อไป

“ทุกคนก็มีแนวคิดที่จะต่อยอดไปสู่งานด้านสุขภาวะอื่นๆ โดยเห็นตรงกันในการส่งเสริมการปลูกพืชผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง มีการแจกเมล็ดพันธุ์ให้นักเรียนนำไปปลูกที่บ้าน ขณะเดียวกันโรงเรียนยังอยู่ระหว่างดำเนินการเข้าสู่การเป็นโรงเรียนสุขภาวะทุกด้าน ทั้งการรณรงค์ลดการบริโภคอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนมีสุขภาพดี และหวังผลให้นักเรียนเป็นสื่อขยายไปยังผู้ปกครองและชุมชน ส่งเสริมการกินที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายการเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง” ครูอัจฉรากล่าวสรุป

แม้ว่าในพื้นที่ของโรงเรียนกาบเชิงวิทยาจะไม่มีร้านค้าจำหน่ายผลไม้ดองอีกต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คณะทำงานทั้งครูและเด็กนักเรียนได้รับจากโครงการนี้ก็คือ องค์ความรู้ในการรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์และการดูแลรักษาสุขภาพ ที่นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวนักเรียนและครูเองแล้ว ยังเกิดการต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เหล่านี้ลงไปสู่ชุมชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในระยะยาวได้อีกด้วย.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ