พัฒนาทักษะอาชีพต้นทุนชีวิตของเด็กชายขอบ
พัฒนาทักษะอาชีพต้นทุนชีวิตของเด็กชายขอบ
พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม หนีความลำบากยากจน และมีเด็กที่เกิดในไทยกลายเป็นคนไร้สัญชาติเป็นจำนวนไม่น้อย ถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาลและการศึกษา ซึ่งทั้งสองสิ่งคือพื้นฐานของมนุษย์พึงจะได้รับ หากมองไปที่เรื่องการศึกษานับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะข้อนี้จะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขาเหล่านี้ได้
แต่ฐานะที่ยากจน และการไร้สัญชาติ และไม่มีหลักฐานทางกฎหมาย ทำให้การเรียนต่อในระดับสูงเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนยาก หรือจบไปแล้วการจะเข้าทำงานดีๆ ก็ไม่ง่ายเช่นกัน ดังนั้นเด็กชายขอบส่วนใหญ่จึงขาดโอกาสชีวิตในหลายๆ อย่าง
“บางคนเรียนจบ ป.6 หรือ ม.3 ก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านยากจน ไม่มีสัญชาติจึงเรียนต่อไม่ได้ หรือต่อให้จบมาแล้วก็ไปทำอาชีพในระบบได้ยาก เราเลยมองว่า อาชีพเป็นสิ่งสำคัญซึ่งเขาจะต้องมีความรู้ มีทักษะอาชีพเพิ่มเติมไม่ใช่แค่ความรู้ในห้องเรียน ดังนั้นเราจึงต้องสอนอาชีพควบคู่กับการเรียนให้กับเด็กตั้งแต่ ป.4 ” น.ส.ขนิษฐา แป้นรอด หรือ “ครูนิ่ม” ครูโรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เล่าถึงความจำเป็นที่ต้องสอนอาชีพให้กับเด็กๆ
ร.ร.วัดวังก์วิเวการาม เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมด เป็นชาวมอญซึ่งมีทั้งที่ได้สัญชาติไทย และไร้สัญชาติ และบางส่วนเป็นกะเหรี่ยง ด้วยข้อจำกัดโอกาสทางการศึกษา ทางโรงเรียนจึงได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมอาชีพให้กับเด็กทุกคน โดยบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรวิชาทางเลือกของโรงเรียน และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่ออาชีพ ไม่ว่าเป็น เกษตรกรรม หัตถกรรมงานฝีมือ ค้าขาย งานบริการ งานช่าง และทุกคนต้องผ่านการเรียน “นักธุรกิจน้อย” 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งปลูกฝังให้เด็กทำมาค้าขายเป็น และทุกคนต้องมีอาชีพที่อยากทำคนละ 1 อาชีพเป็นอย่างน้อย สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพได้เมื่อจบออกไป
การทำเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และการนวดเท้าเพื่อสุขภาพ ภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ (มอญ) ส่งเสริมการดำรงชีพอย่างยั่งยืน” เป็นกิจกรรมส่งเสริมอาชีพใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ครูนิ่ม กล่าวอีกว่า เบเกอรี่ กาแฟ และการนวด เป็นอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมและทำได้ไม่ยาก อย่างเช่นร้านกาแฟ เรามีร้านกาแฟอยู่ในโรงเรียนเพื่อให้เด็กที่สนใจเข้ามาทำร้านกับเรา ซึ่งคนมาอยู่ร้านจะต้องฝึกทำกาแฟและเครื่องดื่มให้เป็น ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารจัดการด้วยตัวเองทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย ของร้านและค่าจ้างของตัวเอง แบ่งกันมาดูร้านช่วงเช้าและกลางวัน ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักท่องเที่ยว หรือคณะศึกษาดูงานที่โรงเรียน
ส่วนการนวดเราพาเด็กในโครงการไปเรียนการนวดอย่างจริงจัง เด็กที่นวดเก่งแล้วก็จะไปตั้งโต๊ะเก้าอี้ ให้บริการนวดกับนักท่องเที่ยวที่ถนนคนเดิน ซึ่งหากเป็นช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลก็จะมีรายได้เยอะพอสมควร
“เราไม่คาดหวังว่าเด็กต้องมีรายได้มากมาย สิ่งสำคัญคือ เขาได้อาชีพ ได้รู้จักใช้ความคิดในการจะทำอะไรเพื่อเป็นอาชีพ เลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะเป็นต้นทุนของชีวิตให้เขาต่อไป ไม่จำเป็นต้องไปเปิดร้านใหญ่โต อาจจะทำร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง หรือเพียงมีทักษะไปเป็นลูกจ้างก็ได้” ครูนิ่ม ในฐานะครูที่ปรึกษาโครงการ ย้ำถึงจุดประสงค์ของโครงการ
ขณที่ น.ส.นาราภัทร รัตนหงษ์ษา “ครูน้องเล็ก” ครูผู้รับผิดชอบสอนการทำเบเกอรี่ กล่าวถึงการสอนทำเบเกอรี่ให้กับเด็กๆ ว่า แบ่งกิจกรรมเป็น 2 เทอม โดยเทอมแรกจะเป็นการสอนทำขนมไทย เช่น ขนมต้ม ขนมชั้น ดอกจอก วุ้น และเทอมต่อมาจะเป็นเบอเกอรี่ซึ่งเน้นเป็นพวกเค้กและคุกกี้ เด็กจะได้ฝึกตั้งแต่การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เมื่อทำจนเก่ง รสชาติอร่อย ก็จะต้องส่งโครงการอาหารกลางวันเดือนละ 2 ครั้ง หรือส่งตามออเดอร์ที่มีผู้สั่งไว้ บางส่วนก็จะเอามาขายให้กับเพื่อนนักเรียนในช่วงกลางวัน
“ที่เขาจะได้ติดตัว คือ เทคนิค กับสูตรการทำขนมขั้นพื้นฐาน เราเน้นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เอาไปทำขายเปิดร้านเล็กได้แน่นอน เหนืออื่นใดคือเด็กได้มีความรับผิดชอบ มีความอดทน เพราะการทำขนมจะต้องชอบและมีความอดทน แค่ชอบอย่างเดียวก็ทำไม่สำเร็จ”ครูน้อยเล็ก ยืนยันถึงสิ่งที่เด็กๆ จะได้รับ
ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากฝีมือและความตั้งใจของน้องๆ นักเรียนวัดวังก์วิเวการาม จะถูกตีตราภายใต้แบรนด์ “ชาววังก์” มีตลาดนัดคุณธรรม เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้คนนอกได้มาเลือกซื้อและสนับสนุนผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ
แม้ข้อจำกัดทางครอบครัวและสังคมจะเป็นอุปสรรค แต่ใช่ว่าจะหยุดความฝัน ขอเพียงมุ่งมั่นเพื่อเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ดังเช่นน้องๆ ร.ร.วัดวังก์วิเวการาม ที่พร้อมจะพัฒนาทักาะชีวิตต่าเป็นต้นทุนของชีวิตที่สามารถต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมั่นคง