ฟื้นคืน “ป่าชายเลน” รากชีวิตของชุมชน “บ้านยามู”

ฟื้นคืน “ป่าชายเลน” รากชีวิตของชุมชน “บ้านยามู

สานพลังสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง”

ภาพของ “ภูเก็ต : ไข่มุกแห่งอันดามัน” ในมุมหนึ่งอาจจะสื่อไปถึงภาพของชายหาดขาวสะอาด ทะเลเขียวใส เรือยอร์ชลำขาวสวย นักท่องเที่ยวนานาชาติเดินขวักไขว่ หรืออาจมองเห็นภาพการเป็น Hub หรือจุดเชื่อมต่อของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและเมืองธุรกิจการค้า แต่ภาพในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งคือ ภูเก็ตเป็นชุมชนวิถีเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านที่มีชีวิตเรียบง่าย ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมมานาน

อ่าวยามู อยู่ทางตะวันออกของเกาะภูเก็ต เป็นอ่าวน้ำตื้น คลื่นลมสงบ ทรัพยากรสมบูรณ์มีเกาะขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ เป็นส่วนหนึ่งของทะเลอ่าวพังงา เป็นแหล่งที่ป่าชายเลนหลงเหลือมากที่สุดของภูเก็ตคือมีพื้นที่รวมกว่าพันไร่ ด้วยภูมิศาสตร์ทำให้อ่าวยามูเป็นที่ตั้งของชุมชนมาตั้งแต่เดิมโดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และเป็นท่าเรือที่จะเดินทางไปยังเกาะยาว ที่มีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงาด้วย

นอกจากภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว ยังมีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการเป็นท่าจอดเรือหรือ Marina ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นในสายตานักลงทุน สภาพภูมิศาสตร์ของอ่าวยามูจึงเหมาะมากที่สุดในการทำท่าจอดเรือยอร์ช เพราะสวยงามและไม่ต้องลงทุนมาก อีกทั้งอ่าวยามูเป็นท่าเรือที่จะไปยังเกาะพีพี แหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกด้วยระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงด้วยสปีดโบ้ท ดังนั้นความพยายามที่จะเข้ามาใช้พื้นที่จากนักลงทุนจึงมีมาโดยตลอด และเป็นกลายเป็นปัญหาขัดแย้งกับชุมชนเรื่อยมา

แต่อย่างไรก็ดีพื้นที่ในอ่าวยามูก็ถูกพัฒนาจากนักลงทุนไปเรื่อยๆ ขณะที่ชาวบ้านก็ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป จากอดีตที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกี่ยวกับประมงเป็นหลักประมาณร้อยละ 90 แต่ปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 หันมาประกอบอาชีพรับจ้าง ขับรถแท็กซี่ ขับเรือ และอาชีพอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้การทำอาชีพประมงกลายเป็นเพียงอาชีพเสริม โดยมีสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง รายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันแม้คนส่วนใหญ่ของชุมชนที่หันไปประกอบอาชีพรับจ้างซึ่งรายได้ดีกว่า ปัญหาทางด้านครอบครัวและสังคมจึงเกิดขึ้นก็ตามมา เช่นเดียวกับหลายชุมชนในภูเก็ต แรงงานในวัยทำงานออกไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เวลาที่เหลือให้กับครอบครัวจึงไม่มี เด็กๆ ต้องอยู่กับคนแก่

“ประมาณ 5-6 ปีที่แล้วคนในชุมชนจะทำงานเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นประมงพื้นบ้าน หาปู หาปลา แล้วก็กรีดยาง แต่หลังจากพื้นที่ในหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นโรงแรม มีทัวร์ มีท่าเรือเข้ามา คนก็เลยเปลี่ยนอาชีพ ไปทำงานในโรงแรมบ้าง วิลล่าบ้าง เป็นอาชีพรับจ้างเสียส่วนมาก หลังๆ การที่จะรวมคนค่อนข้างจะยาก กิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากขึ้นไม่เหมือนสมัยก่อนที่ชุมชนมีการรวมตัวเข้มแข็ง” ศุภชัย เพิ่มพูน ผู้ใหญ่บ้านท้าวความ

ปัญหาของชุมชนที่เห็นได้เกิดเป็นโครงการ “ชุมชนชายฝั่ง สร้างพลังเศรษฐกิจพอเพียง บ้านยามู” เพื่อหาหนทางแก้ไข โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตาม “โครงการสร้างชุมชนให้น่าอยู่” ที่ได้นำองค์ความรู้ดังเดิมที่มีอยู่มาใช้ในการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้ให้กับคืนมาอีกครั้ง

“เราใช้งบของ สสส. ไปดูงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไปดูว่าชาวบ้านทำอะไรในแต่ละหมู่บ้าน ทำอะไรบ้าง เพราะว่าแต่ละหมู่จัดทำบ้านโครงการไม่เหมือนกัน บางคนมีอวนก็ลงอวนปู เย็บปักถักร้อย ที่ไหนน่าสนใจก็จะพากันไปดู ไปเรียนรู้หลายๆ อย่าง หลังจากกลับมาเราก็มาประชุมว่าบ้านเราทำอะไรได้บ้าง ก็มีทำโฮมสเตย์และทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงหลายอย่าง” กันยา คุ้มบ้าน กรรมการหมู่บ้าน เล่าถึงการทำงาน

จากการไปดูงาน คนในชุมชนบ้านยามูหันมาสนใจดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาขึ้น หารายได้ด้วยอาชีพเสริมเลี้ยงปลาในกระชัง ลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวในกระถาง ทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสำรวจรายได้กับค่าใช้จ่าย พร้อมกันกับการตั้งกลุ่มอาชีพ สร้างศูนย์เรียนรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง สร้างกลุ่มออมทรัพย์ฯลฯ  ผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือคนในชุมชนรู้รายรับรายจ่ายในครัวเรือนที่ชัดเจน และมีความตระหนักในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มากขึ้น เกิดการประหยัดและการออม และรายได้ต่อครอบครัวเพิ่มขึ้น

ด้วยทุนทางสังคมเดิมทางด้านเด็กและเยาวชนที่มี วินัย ดำริอนุสรณ์ ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น ให้ความรู้แก่เด็กในการเล่น ฟุตบอล และ ลิเกฮูลู อยู่แล้ว ชุมชนจึงสามารถดึงเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อเกิดความใส่ใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปในตัวได้ด้วยการสอดแทรกความรู้เหล่านี้ไประหว่างกิจกรรม

“สอนกีฬาเสร็จ เด็กมีเวลาว่างก็คิดขึ้นมาว่า เมื่อก่อนเราเคยแสดงบนเวที ก็เอาแรงบันดาลใจตรงนั้นให้กับเด็กๆ ที่กล้าแสดงออก โดยจับนักฟุตบอลที่เขาต้องการที่จะมาเล่นลิเกฮูลูโดยสมัครใจ  ฝึกกันไปประมาณ 1 อาทิตย์ก็ไปขึ้นงานมัสยิด เป็นงานใหญ่ เด็กก็ได้แสดงก็ชอบ ในกลุ่มก็มีความรักกลมเกลียวกัน ทีนี้เวลาจะทำอะไรก็ทำง่ายจะสอนสอดแทรกอะไรก็ง่ายขึ้น เด็กบางคนก็มีปัญหาอยู่บ้าง บางครอบครัวไม่ได้ใส่ใจลูกหลาน ก็ยิ่งต้องดึงเข้ามา ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แล้วก็ให้เขาผ่านพ้นจากเรื่องยาเสพติดด้วย” วินัยเล่า

นอกจากการทำสื่อสร้างสรรค์ บทเพลงลิเกฮูลูรู้เท่าทันสังคมและสร้างความตระหนักต่อปัญหาสังคมแล้ว ทางชุมชนยังได้นำเยาวชนไปร่วมกิจกรรมปลูกผักในกระถางและกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนเช่นการปลูกป่าชายเลนร่วมกันในชุมชน ระดมความคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในชุมชน การมีส่วนร่วมในการโดยหวังจะให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีต้นกำเนิดจากป่าชายเลนกลับคืนมา

แม้โครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลที่เป็นรูปธรรมของการดำเนินงานยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การกำหนดกฎระเบียบกติกาชุมชน และการใช้ทรัพยากรชุมชน เช่น กติกาการใช้ทรัพยากรป่าชายเลน ต้องไม่ตัดในเชิงธุรกิจ ตัด 1 ต้น ปลูกทดแทน 5 ต้น เกิดการการจัดระเบียบชายฝั่ง แบ่งโซนผู้ประกอบการภายนอกกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างชัดเจน จัดระเบียบการจอดเรือสปีดโบ๊ท จัดระเบียบความสะอาดบริเวณชายฝั่ง ช่วยกันทำความสะอาดชายหาดเดือนละครั้ง และจัดทำตู้บริจาค เพื่อใช้ในการดูแลรักษาชายฝั่งที่ร่วมกันสร้างขึ้นมาก็ยังใช้กันอยู่ตลอดมา ทำให้ชายหาดเกิดความสะอาดเรียบร้อย มีพื้นที่อนุรักษ์มากขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น

ด้านวิถีชุมชนชาวบ้านหลายคนก็ยังขยายผลการลดรายจ่ายสร้างรายได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง เช่น โต๊ะอิหม่ามของชุมชนเชี่ยวชาญการปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ขยายผลความรู้สู่ชุมชน แปลงผักหลังบ้านพี่กันยา ยังได้เก็บกิน และเป็นแหล่งขยายพันธุ์แจกจ่ายในชุมชน หรือ เห็ดนางฟ้าไม่กี่ก้อนของครูวินัยเก็บผลผลิตได้วันละเป็นถุงใหญ่ก็ช่วยลดรายจ่ายของกิจการครอบครัวที่เป็นร้านอาหารตามสั่ง และนิสัยการออมเงินที่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ครัวเรือน

ผลของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้เกิดการสานพลังสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้กลับคืนมา พร้อมๆ กับการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพื่อให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านยามูและการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถดำเนินควบคู่กันไปอย่างสมดุล.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ