มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านหนองหงษ์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

สรุปสาระสำคัญ

เป็นโครงการที่นำเอาแนวคิด 3D (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) มาพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ทั้งกลางแจ้ง (ด้วยการสร้างฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน) และในร่ม (ปรับการตกแต่งเพื่อสร้างมุมเรียนรู้ในอาคาร) ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ (อบต., รพสต., ห้องสมุด) ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน รวมทั้งสร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมหลากหลายชนิด เช่น สื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ และกิจกรรมการเรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชุมชน  โดยมีการบูรณาการทั้งสามส่วนเข้ากับการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการเด็กและความสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชน

ผลการทำงานพบว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น ทั้งทางกาย ใจ สังคม ปัญญา (โดยดูผลจากแบบประเมินพัฒนาการ) ครูมีทักษะการทำสื่อและการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับ ศพด. มากขึ้น และทุกฝ่ายมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ และต้องการการพัฒนา ศพด. ให้มีกระบวนการสร้างการเรียนรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

ปัจจัย เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ (1) เตรียมตัวดี ทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองต้องทำต้องทำ หน่วยงานต้นสังกัด และผู้ปกครอง ทำให้ก่อนที่จะดำเนินงานโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการมีทั้งความพร้อมที่จะลงมือ กำลังสนับสนุนจากต้นสังกัด เพื่อนร่วมงาน และผู้ปกครอง เมื่อเริ่มทำจริงจึงเดินหน้าได้เต็มที่ ทั้งการตั้งคณะทำงาน การไปเรียนรู้และกลับมาถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงาน การสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองและการสนับสนุนจากชุมชน ตลอดจนหน่วยงาน ในการพัฒนาเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมวัยกับเด็ก (2) การสนับสนุนอย่างเข้มข้นของทีมพี่เลี้ยง จนผู้รับผิดชอบโครงการเกิดความมั่นใจ กล้าทำมันออกมาอย่างที่คิดและตั้งใจ (3) ข้อมูลถูกใช้ประโยชน์ในการวางแผนและสร้างความร่วมมือ ด้วยแบบสำรวจมุ่งรู้ถึงพฤติกรรมการดูแลเด็ก วิถีชีวิตผู้ปกครอง ตลอดจนทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาศูนย์ฯ จึงถูกนำมาใช้ วางแผนพัฒนาและให้บทบาทผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์และการเรียนรู้ของเด็ก (4) สร้างความเป็นเจ้าของผลงานจากการพัฒนาศูนย์ฯร่วมกันได้จริง ทั้งกับครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน (5) มีช่องทางสื่อสารคนภายนอก ระดมการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่เกินศักยภาพชุมชนจะสนับสนุนได้ คือ home stay ซึ่งมีคนภายนอกแวะเวียนเข้ามาตลอด จึงมีการสนับสนุนทรัพยากรทั้งคน เงิน เครื่องมือ สนับสนุนการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง

 

บทเรียนที่น่าเรียนรู้จากโครงการเพื่อการนำไปขยายผล

1. ออกแบบการสนับสนุนดี สร้างครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้  ทั้งตนเองที่เปลี่ยนไปมีความรู้ มีทักษะการทำ มีความมั่นใจ สามารถถ่ายทอดความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนได้จริง สร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมพัฒนาการเด็ก สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรในชุมชน สร้างศูนย์พัฒนาเด็กที่พร้อมส่งเสริมพัฒนาการ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

2. การพัฒนาสื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องการคนช่วยเติมความรู้ สร้างความมั่นใจ ในการทำขึ้นเอง ด้วยกระบวนการพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้น ที่ทีมพี่เลี้ยงได้ออกแบบและดำเนินการดังที่เสนอไว้ข้างต้น

3. ผู้ปกครองและชุมชนมีศักยภาพพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว แค่ต้องหาช่องเข้าถึงให้เจอ ให้เค้าทำในสิ่งที่ต้องการและทำได้ ซึ่งในโครงการนี้คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนได้แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ต้องการทำ เลือกทำอย่างที่ต้องการ วางแผนและลงมือปฏิบัติการ โดยใช้ทรัพยากรของตนเองและชุมชนที่มีอยู่

4. ช่องทางสื่อสารภายนอกต้องมี เพื่อเสริมกำลังชุมชน ในสิ่งที่เกินศักยภาพสนับสนุน เพราะการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ทั้งที่ในรูปสื่อ กิจกรรม หรือพื้นที่ ต้องพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งทดแทนของเดิม เสริมของใหม่ ดูแลให้มีสภาพพร้อมใช้ ที่กำลังของผู้ปกครองและชุมชน รวมถึง ต้นสังกัด อาจสนับสนุนไม่ได้ทั้งหมด การมีช่องทางสื่อสารกับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก สามารถเข้ามาเติมในส่วนนี้ได้ แต่ต้องเน้นที่ขาดจริง ทำเองไม่ได้

Shares:
QR Code :
QR Code