มุมเด็กสร้างสรรค์ พื้นที่สีขาวเพื่อชีวิตชาวแฟลต
มุมเด็กสร้างสรรค์ พื้นที่สีขาวเพื่อชีวิตชาวแฟลต
วิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่มุ่งแต่ทำงานหาเงินจนไม่มีเวลาดูแลคนข้างหลัง เช่นเดียวกับชาวเคหะชุมชนคลองจั่น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำไม่มีเวลาดูแลและสอนการบ้านลูก เด็กที่นี่จึงค่อนข้างขาดโอกาส ขาดปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ขณะเดียวกันการเป็นชุมชนเปิด ผู้อยู่อาศัยและผู้เวียนแวะมากหน้าหลายตา สุ่มเสี่ยงต่อเด็กจดจำและถูกชักจูงไปในสิ่งที่ไม่ดี
“เราไม่สามารถเลือกสภาพแวดล้อมได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่เราต้องการได้” นี่คือความเชื่อของกลุ่มครอบครัวจิตอาสาและคณะชาวเคหะชุมชนคลองจั่น หลังที่ 6 หรือเรียกง่ายๆ ว่า แฟลต 6 เลือกที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องมี คือ พื้นที่สร้างสรรค์
ทว่าพื้นที่ว่างเปล่าทุกตารางนิ้วถูกทุกคนจับจองเป็นเจ้าของ จนไม่เหลือพื้นที่ส่วนกลางให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่นเดียวกับเด็กๆ ไม่มีพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัย และไม่พื้นที่ให้สร้างสรรค์กิจกรรมได้เลย หากไม่มีพื้นที่ให้เล่น เด็กๆ ก็จะหันเหไปทางอื่น
ดังนั้นกลุ่มครอบครัวจิตอาสาและคณะ ชาวเคหะชุมชนคลองจั่น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันเสียสละ จัดสรรปันส่วนเพื่อให้มีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธาณะให้เด็กๆ ได้เล่นได้ทำกิจกรรม และชาวชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนได้เนื้อที่มาส่วนหนึ่ง
พื้นที่ขนาด 8×8 เมตรใต้ถุนแฟลต 6 แม้จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ก็เป็นพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ ถูกจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ ปูเสื่อ ให้เด็กได้มาทำการบ้านในตอนเย็น พี่ๆ น้องๆ ได้มารวมกลุ่ม มีของ มีเกมเล่น มีขนมให้ทาน ได้ทำกิจกรรมสันทนาการร่วมกัน ผู้ปกครองที่มีเวลาว่างก็จะมาช่วยกันดูแล
พ.ต.ท.ธรรมนิศร โภคทรัพย์ หรือที่ชาวแฟลต 6 เรียกว่า “ลุงหน่อย” แกนนำกลุ่มครอบครัวจิตอาสา และเป็นผู้ดูแลพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก บอกว่า แฟลต 6 มีเด็กอาศัยอยู่ประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นเด็กที่ต้องได้รับการดูแลให้ดี เพื่อจะได้เติบโตเป็นคนดีของชาวชุมชนและสังคม แต่ชาวชุมชนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก บ้างก็ครอบครัวมีปัญหาต้องมาอยู่กับญาติ หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กๆ ก็จะรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีที่ไป อาจจะไปมั่วสุม เข้าร้านเกมส์ หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี แต่ถ้าเขาได้มีพื้นที่เล่น ได้มีที่ยึดเหนี่ยว มีคนดูแล ก็จะไม่ไปไหน เขาก็จะดึงๆกันมา และป้องกันสิ่งที่ไม่ดีออกไป
ขณะเดียวกันได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการ “มุมเด็ก” เพื่อเป็นสวัสดิการสังคมชาวอาคารชุดเคะหะชุมชนคลองจั่น เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ และจัดทำห้องสมุดนิทานเด็กสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการอ่าน สามารถยืมหนังสือไปอ่านได้
ทุกเย็นวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น. จะมีกิจกรรมเสริมทักษะระหว่างเด็กและผู้ปกครอง เช่น การทำนิทานทำมือ หุ่นมือเรียนรู้สานสัมพันธ์ครอบครัว กิจกรรมเรียนรู้ดูแลและป้องกันตนเองจากสังคม กิจกรรมทำอาหารรับประทานร่วมกันสร้างสัมพันธ์ครอบครัวและชาวชุมชนด้วยกัน ซึ่งทุกกิจกรรมจะช่วยเสริมพัฒนาทางความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาการทางอารมณ์ให้กับเด็ก
“ความตั้งใจของเรา คือ ขอเพียงให้เขาได้มีพื้นที่เป็นของตนเอง แล้วจากนั้นเขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะเล่นกีฬาก็ได้ มุมเด็กตรงนี้เป็นสมบัติของชาวแฟลต 6 ทุกคนที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานได้มีพื้นที่สีขาวต่อไป” ลุงหน่อย บอก
น.ส.ญาณิศา กรดศรีใหม่ ชาวชุมชนแฟลต 6 ซึ่งหากมีเวลาว่างในตอนเย็นก็จะมานั่งที่มุมเด็กแห่งนี้ เพื่อช่วยดูแลและสอนเด็กๆ บอกว่า พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาดูแลลูกก็ไว้ใจปล่อยให้ลูกลงมาเล่นตรงนี้ได้ เพราะเชื่อใจ ที่ตรงนี้เปิดโอกาสให้เขาสร้างสรรค์กิจกรรมด้วยตัวเอง มาตรงนี้มีกิจกรรมให้เล่นให้ทำแน่นอน หรือจะออกกำลังกาย เล่นแบดมินตัว ยกน้ำหนัก ตะกร้อ การละเล่นพื้นบ้าน และเราพยายามหากิจกรรมมาให้ทำอยู่เสมอ เราในฐานะผู้ปกครองก็คอยช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส ซื้อของเล็กๆ น้อยมาให้มุมเด็กบ้าง ขนม หรือของกิน มาที่นี่ไม่อดแน่นอน
คนที่ได้รับประโยชน์และมีความสุขที่สุดจากมุมเด็กสร้างสรรค์ คือ เด็กๆ ทั้ง 30 คน ได้มีพื้นที่สีขาว ได้มาวิ่งเล่น ได้มาพบปะเพื่อน พี่ๆ น้องๆ ไม่ต้องว้าเหว่ หรืออยู่แต่ในห้องอีกต่อไป
ด.ช.นิธิกร ร่วมชาติ หรือน้องอิ่ม วัย 14 ปี บอกว่า ส่วนตัวชอบมุมออกกำลังกาย เพราะชอบเล่น ชอบออกกำลังกาย มาเล่นตรงนี้ตั้งแต่ 10 ขวบ มาตรงนี้ได้มีเพื่อนหลายรุ่น เราโตหน่อยก็ช่วยดูแลน้องๆ ด้วย
ในยุคที่สังคมเมืองที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งพื้นที่ นับวันพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของเด็กจะลดน้อยลง การลุกขึ้นมาจัดการสร้างพื้นที่สีขาวให้เด็กและเยาวชนของชาวเคหะชุมชนคลองจั่น แฟลต 6 ซึ่งแม้จะมีพื้นที่เพียงน้อยนิด แต่ที่สิ่งที่ได้กลับมา คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของคนหนึ่งคน มันมากมายมหาศาลอย่างที่เราคาดไม่ถึง