“รร.ชุมชนวัดหาดถั่ว” ชวนเด็กนักเรียน “กินผัก-ผลไม้”
“รร.ชุมชนวัดหาดถั่ว” ชวนเด็กนักเรียน “กินผัก-ผลไม้”
สร้างสรรค์เมนู “มื้อกลางวัน” ลดเสี่ยงภาวะทุพโภชนาการ
มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มาโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือโดยไม่ได้รับประทานอาหารเช้า สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากความขาดแคลน แต่เป็นเพราะความเร่งรีบของผู้ปกครองที่ต้องดิ้นรนทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานและส่งภาระเรื่องการรับประทานอาหารเช้าให้เด็กๆ มาหาซื้อรับประทานกันเองจากร้านค้าทั้งในและนอกพื้นที่ของโรงเรียน
ข้อมูลจาก ครูนันท์นภัส หนูแก้ว เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนชุมชนวัดหาดถั่ว ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 261 คน ส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของแรงงานจากภาคอีสานที่มาทำงานในโรงงานปาล์มน้ำมัน ในสวนปาล์ม และสวนยางพารา
โดยเด็กกว่าร้อยละ 80 มีรูปร่างผอม จัดว่าอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้า เนื่องจากผู้ปกครองต้องไปทำงานตั้งแต่เช้ามืดไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหารให้ มีบางส่วนที่พ่อแม่ให้เงินมาซื้ออาหารที่จำหน่ายอยู่หน้าหรือในโรงเรียน แต่ก็เป็นอาหารที่มุ่งเน้นแค่เพียงอิ่มท้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักโภชนาการ ทางโรงเรียนเองก็ตระหนักและมองเห็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงพยายามหาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้ให้ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในมื้อเช้า
“เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลา ตื่นเช้าก็เข้าสวน เข้าโรงงาน ส่วนใหญ่เด็กไม่ได้กินอาหารมื้อเช้า มีบางส่วนที่พ่อแม่มีเงินให้มาซื้อกินที่โรงเรียน เด็กๆ ที่มาเรียนที่นี่มักจะเปลี่ยนสถานที่เรียนบ่อยๆ เพราะต้องย้ายตามพ่อแม่ที่ย้ายที่ทำงาน เด็กกว่าร้อยละ 80 พ่อแม่แยกทางกัน ถูกทิ้งให้อยู่กับญาติบ้างและบางส่วนเป็นเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไม่พร้อม” ครูนันท์นภัส เปิดเผยถึงปัญหาที่เด็กๆ ต้องเผชิญ
แม้ว่ามื้อเช้าอาจจะเป็นปัญหาสำหรับเด็กๆ หลายคน แต่สำหรับอาหารมือกลางวันแล้วนั้น เรียกได้ว่าเป็นมื้อที่สำคัญของเด็กๆ เลยทีเดียวที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ตามนโยบายของรัฐบาล “อาหารกลางวันในโรงเรียน” และได้มีการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้บริโภคผักและผลไม้ ในเมนูอาหารกลางวันเพิ่มขึ้น ตาม โครงการ“เด็กหาดถั่วสุขภาพดีและน่ารักเพราะกินผักผลไม้” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ทางโรงเรียนได้จัดตั้งคณะทำงาน แกนนำครู แกนนำนักเรียน แม่ครัว ร่วมประชุมกับผู้ปกครอง ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ให้รับรู้และช่วยกันเพื่อให้ เด็กได้กินผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น ให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ เชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลปลายพระยามาให้ความรู้ ส่วนแกนนำนักเรียนก็จะคอยดูว่าเด็กคนไหนมีเศษผักเหลือในจานหรือไม่ ทุกวันจะต้องจดและชั่งเศษอาหารที่เหลือไว้ดูด้วย ครูเองก็ลงไปรับประทานอาหารพร้อมๆกับนักเรียน” ครูนันท์นภัส กล่าว
ทางด้าน ครูอลิสรา ตั้นหุ้ย หัวหน้างานประถมวัย กล่าวว่า หากพบว่าเด็กคนไหนมีปัญหาเรื่องการกินผัก ก็จะช่วยกันเปลี่ยนเมนูให้รับประทานได้ง่ายขึ้น เช่น นำเห็ด แครอท ใส่ลงไปในไข่เจียว หรือผสมกับถั่วฝักยาวบ้าง และในแต่ละสัปดาห์จะเปิดให้เด็กๆ คิดเมนูที่มีผักที่อยากรับประทาน และทางโรงเรียนยังจัดให้มีเมนูขนมจีนที่จะต้องกินกับผักสัปดาห์ละหนึ่งครั้งด้วย
การดำเนินงานตามโครงการนี้โรงเรียนชุมชนวัดหาดถั่ว ได้ดำเนินงานผ่านกิจกรรมที่หลากหลายในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการกินผักและผลไม้ของเด็กนักเรียน เช่น กิจกรรมเสียงตามสายที่ดำเนินรายการโดยนักเรียน กิจกรรมผักแปลงร่าง การจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้และประโยชน์ของผัก กิจกรรมการกินผักต้านโรค การจัดถาดผลไม้ในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ และบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
ขณะที่ กุหลาบ สมประสงค์ แม่ครัวประจำโรงเรียน กล่าวว่า อาหารในแต่ละวันตามเมนูจะมีทั้งรสจืดและเผ็ด อย่างละชนิด โดยจะต้องคอยดูว่าเด็กกินผักหรือไม่ ถ้ามีเศษผักเหลือมากก็ต้องปรับเมนู และโรงเรียนยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร โดยทางเทศบาลจะมาตรวจสอบเมนูตลอดว่ามีผักในมื้อกลางวันหรือไม่ และต้องมีปริมาณตามข้อกำหนดในแต่ละวัน
“ต้องลุ้นทุกวันว่าเด็กจะกินผักในอาหารที่เราปรุงหรือไม่ ถ้าเหลือเยอะต้องปรับเมนู เพราะเทศบาลเขาจะมาตรวจ ทุกมื้อต้องมีผัก จะต้องให้กินได้เท่าไรต่อวัน แม่ครัวก็ต้องคุยกับเด็กด้วยว่าอยากกินอะไร บางคนต้องตักอาหารให้นำกลับไปรับประทานมื้อเย็นที่บ้านด้วยเพราะครอบครัวมีฐานะยากจน”
หนึ่งในแกนนำนักเรียน ด.ญ.วรรณพร อินทนนท์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สมาชิกสภานักเรียน กล่าวว่าได้รับมอบหมายหน้าที่จัดรายการเสียงตามสายทุกเช้า นำเนื้อหาเรื่องสุขภาพฟัน ประโยชน์ของการกินผักและผลไม้มาเล่าให้เพื่อนๆ และน้องๆฟัง
“ในระหว่างมื้อกลางวันก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบเศษอาหารที่ทานเหลืออีกด้วย หนูชอบรับประทานผักผลไม้จึงไม่มีปัญหาเมื่อทางโรงเรียนไดทำโครงการขึ้นมา และตั้งใจว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องในการรับประทานผักผลไม้เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายอย่างครบถ้วน” น้องวรรณพร เล่าถึงการทำงาน
แม้จะเริ่มดำเนินงานรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนได้เพียงไม่กี่เดือน แต่จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของทุกฝ่าย ในการแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทำให้ผลสำรวจการกินผักและผลไม้ของนักเรียนล่าสุดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรงสมวัยแล้ว ยังช่วยทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการหายไปในท้ายที่สุด.