รวมพลังชาว “ปลายทับใหม่” พร้อมรับมิอ “อุทกภัย-วาตภัย”
รวมพลังชาว “ปลายทับใหม่” พร้อมรับมิอ “อุทกภัย-วาตภัย”
ใช้ระบบ GPS – วิทยุสื่อสาร เฝ้าระวังป้องกันภัยพิบัติในชุมชน
แม้เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันจะก้าวไกลสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีภัยพิบัติเกิดขึ้น การเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือจึงมักเกิดความล่าช้า ผู้ประสบภัยไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือไม่ได้รับข่าวสารการเตือนภัยล่วงหน้า
ลำพังรอหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือทุกครั้งเป็นไปได้ยาก ทำให้ชาว บ้านปลายทับใหม่ ต.ดินแดง อ.ลำทับ จ.กระบี่ ลุกขึ้นมาวางแผนคิดหาวิธีเตือนภัยในชุมชนขึ้น โดยมี นายเสริม เขียวเข็ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 เป็นแกนนำคนสำคัญ คิดโครงการ “รู้เร็ว รู้ไว จัดการภัยพิบัติบ้านปลายทับใหม่” ให้ลูกบ้านได้เรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติ โดยมี สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนแนวทางในการดำเนินงาน
ผู้ใหญ่เสริมเล่าว่า ภูมิประเทศของบ้านปลายทับใหม่เป็นที่ราบสลับเนินรอบล้อมไปด้วยภูเขา ผู้คนส่วนใหญ่มาจากนครศรีธรรมราช เข้ามาบุกเบิกแบ่งปันที่ทำกินเมื่อปี พ.ศ.2515 การเข้าถึงหมู่บ้านเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีถนนลูกรังเพื่อการชักลากไม้เมื่อปี 2534 และเริ่มมีถนนลาดยางเมื่อปี 2536 แรกๆ มีอาชีพปลูกกาแฟแต่ต่อมาผลผลิตราคาตกต่ำจึงหันมาทำยางพาราและสวนปาล์ม ในฤดูฝนมักจะประสบกับภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนทุกปี เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร ถนนถูกตัดขาด การอพยพผู้ป่วย เด็กและคนชรามีความยากลำบาก และในฤดูแล้งจะมีลมพัดแรง มีต้นไม้หักโค่น หลังคาบ้านเรือนได้รับความเสียหาย และเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ จึงได้หารือกับกรรมการหมู่บ้านเริ่มวางแผนรับมือภัยพิบัติภายในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2552
“ปีหนึ่งเราจะเจอภัยพิบัติอยู่สองช่วงคือช่วงฤดูแล้ง มีพายุฤดูร้อน และช่วงหน้าฝน จึงมาวางแผนตอนแรกก็ซื้อวิทยุคลื่นสั้นสำหรับติดต่อสื่อสารกัน เพราะพื้นที่หมู่บ้านแต่เดิมไม่สามารถติดต่อด้วยโทรศัพท์เพราะไม่มีสัญญาณเลย ต้องใช้วิทยุคลื่นสั้นในการติดต่อสื่อสารกันเท่านั้น” ผู้ใหญ่เสริมเล่าถึงการแก้ปัญหา
จากเหตุการณ์ที่ลูกบ้านประสบปัญหาภัยพิบัติที่หนักที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 คณะกรรมการหมู่บ้านจึงเสนอโครงการเพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติไปยัง สสส. จากนั้นก็วางแผนการดำเนินงาน มีการอบรมร่วมกับป้องกันภัยจังหวัด ชักชวนตำรวจเข้ามา ทำให้ได้ความรู้การปฐมพยาบาล การขนย้ายผู้ประสบภัย การแก้ปัญหาเบื้องต้น ตำรวจมาดูเรื่องจราจร ดึงเครือข่ายโครงการ สสส.ที่มีอยู่ในจังหวัดมาใช้ร่วมกัน
“เรามีคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมกันทุกเดือน กรรมการก็มาจากการคัดสรร ตัวแทนจากองค์กร กลุ่ม กองทุนต่างๆ 20 กลุ่ม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ประธาน อสม.กรรมการจากกองทุนแม่ของแผ่นดิน หมอดินอาสา กระจายทั่วหมู่บ้านเพื่อให้สามารถดูแลกันได้โดยแบ่งเป็นคุ้มบ้าน มีตัวแทนจากคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประธานแต่ละคุ้มบ้าน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านทุกวันที่ 6 ของเดือน และจะนำมติจากที่ประชุมเสนอต่อชาวบ้านทุกวันที่ 10 ซึ่งเป็นวันประชุมชนหมู่บ้าน เพื่อให้สมาชิกรับรู้ทั้งกิจกรรม การพัฒนา และทุกกิจกรรมสมาชิกชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างน้อยร้อยละ 50” ผู้ใหญ่เสริมระบุ
ด้าน นายณัฐพงษ์ คงสุดรู้ เลขานุการนายก อบต.ดินแดง หนึ่งในคณะกรรมการหมู่บ้านกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เริ่มจากการจัดตั้งสภาผู้นำ จากการที่ผู้ใหญ่ได้เข้าร่วมประชุมโครงการกับ สสส. ได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิให้จัดตั้งเป็นสภาผู้นำซึ่งนำมาสู่การแก้ปัญหาหมู่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะปัญหาภัยพิบัติเท่านั้น
“หมู่บ้านเราเองมีสภากาแฟ 5 ร้าน มีกรรมการ 20 กลุ่มไปนั่งช่วงเช้าๆ ก็ได้เก็บข้อมูลทุกแห่ง ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลแต่ละคุ้มบ้าน พอถึงวัน 6 ก็เอามาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาผู้นำจะออกแบบโครงการตั้งแต่แรก มีคณะกรรมการจากองค์กรต่างๆมาช่วยในการคิดโครงการต่างๆ เสนอเข้าที่ประชุมกรรมการหมู่บ้าน” กรรมการหมู่บ้านกล่าว
ในส่วนการรับมือภัยพิบัตินั้น ได้มีการศึกษาดูงานด้านการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นำบทเรียนและองค์ความรู้มาปรับใช้กับหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลของหมู่บ้านร่วมกับเยาวชน เรียนรู้โปรแกรม ระบบป้องกันและเฝ้าระวังภัยพิบัติ โดยใช้เครื่องมือหาพิกัด (GPS) เก็บข้อมูลครัวเรือนที่ประสบภัย จุดเสี่ยงภัย จุดอพยพ เพื่อวางแผนรับมือในภายหน้า
ขณะเดียวกันสภาผู้นำจะมีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแนวทางรับมือภัยพิบัติได้ 3 ช่วง คือ 1.ช่วงก่อนเกิดเหตุ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือ GPS เชื่อมต่อกับแผนที่ Google Earth เพื่อคำนวณปริมาณน้ำฝน ทิศทางการไหลของน้ำ เพื่อในการคาดการณ์ล่วงหน้าในการรับมือ 2.ช่วงเกิดเหตุ จะมีการใช้วิทยุสื่อสารถึงกัน เพื่อเตรียมพร้อมอพยพผู้ประสบภัยได้ทันที โดยใช้ข้อมูลพิกัดจุดเกิดเหตุที่ได้จากเครื่องมือ GPS เข้าให้ความช่วยเหลือตามลำดับความเร่งด่วน และ 3.ช่วงหลังเกิดเหตุ มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการผู้ประสบภัยรองรับ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นในหมู่บ้าน
“หมู่บ้านเรามี 20 องค์กร มีกองทุนต่างๆที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในหมู่บ้าน เราคิดว่าก่อนที่คนอื่นจะช่วยเรา เราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน นี่เป็นความคิดของพวกเราที่จะต่อสู้เรื่องภัยพิบัติ” เลขานุการนายก อบต.ดินแดง กล่าวย้ำ
ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ที่บ้านปลายทับใหม่วันนี้ความเข้มแข็งของคนในชุมชนทำให้พวกเขาคิดออกแบบระบบเตือนภัย นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการรับมือภัยพิบัติด้วยตนเอง.