รวมโครงการจัดการขยะเพื่อสภาวะที่ดีของชุมชน

อย่าปล่อยให้ปัญหาขยะสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน เพียงร่วมด้วยช่วยกันแก้ทิ้งขยะให้ถูกที่และจัดการขยะให้ถูกทาง เราก็จะสามารถทำให้ชุมชนของเราน่าอยู่ขึ้นได้ เพราะถ้าเราปล่อยปละละเลยปัญหาความสกปรก อาจส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชนได้ วันนี้ลองไปดูแนวคิดพลิกชุมชนดีๆ ในการจัดการขยะจากชุมชนบ้านปากแพรกและชุมชนทุ่งวัวแดงกันค่ะ

ชุมชนบ้านปากแพรก หมู่ 2 ต.ปากแพรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงแม้จะเป็นชุมชนขนาดเล็กประมาณ 150 ครัวเรือน แต่มีปัญหาขยะตกค้างจากครัวเรือนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลกัน รถเก็บขยะเข้าออกลำบาก ซึ่งนายจะเรวัต หอมหวน ผู้ใหญ่บ้านบ้านปากแพรก ได้เล่าถึงแนวคิดดีๆ จากการทำโครงการว่า  ‘ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสวน บ้านเแต่ละหลังอยู่ห่างกันมาก รถขยะเข้ามาเก็บลำบาก ซึ่งจะเข้ามาเก็บสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น ขยะจึงตกค้างเยอะมากทั้งขยะแห้ง ขยะเปียก  จึงได้จัดทำโครงการจัดการขยะในชุมชน เพื่อชักชวนคนในชุมชนหันมาคัดแยกขยะ และจัดการขยะอย่างเหมาะสม’

เท่านั้นยังไม่พอ นายจะเรวัต ยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า  ‘นอกจากเรื่องการคัดแยกขยะแล้ว ได้มีการจัดตั้งธนาคารขยะ ดำเนินงานเหมือนธนาคารการเงิน มีสมุดบัญชี ฝาก ถอน ได้ โดยแต่ละครัวเรือนสามารถนำขยะไปขายแล้วค่อยนำเงินมาฝากกับธนาคารขยะทุกวันที่ 8 ของเดือน เก็บเล็กผสมน้อยฝากทีละ 50 บาท 100 บาท ปัจจุบันมียอดเงินรวมแล้วจำนวน 29,800 บาท คนทั่วไปอาจจะมองว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่พอสะสมเอามาขายแล้ว ถือเป็นแรงจูงใจที่ดี กระตุ้นให้ชาวบ้านรู้สึกอยากคัดแยกขยะมากยิ่งขึ้น

ชุมชนทุ่งวัวแดง หมู่ 3 ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา  ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีปัญหาขยะ ซึ่งเกิดขึ้นจากไม่มีพื้นที่เก็บขยะและรถเก็บขยะ ทำให้เกิดขยะสะสมในครัวเรือน และที่สำคัญชุมชนทุ่งวัวแดงเป็นชุมชนที่ติดลำน้ำ ที่เป็นสาขาของกว๊านพะเยา การจัดการต่างๆ จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกว๊านพะเยา คือแหล่งน้ำดิบที่ป้อนเข้าระบบประปาของจังหวัดนั่นเอง นางนงคราญ นักหล่อ ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านทุ่งวัวแดง ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า ’เมื่อก่อนชาวบ้านไม่รู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร จึงเผาขยะ ทิ้งขยะเรี่ยราดไปทั่ว แต่พอเริ่มต้นทำโครงการจึงมีการแนะนำ ปรับความเข้าใจกับชาวบ้านให้ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ

นางนงคราญ นักหล่อ ยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ’มีการใช้วิธีการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน ซึ่งจะอาศัยกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กับกลุ่มแกนนำ และแม่บ้าน นำร่องอบรม ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างพฤติกรรมการลดขยะให้เคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาด ปฏิเสธถุงพลาสติก ไปไร่ไปสวนใช้ปิ่นโตใส่กับข้าว เป็นต้น’

สุดท้ายแล้วปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน ถ้าหากเรามองขยะเป็นแค่ขยะ ไม่เห็นคุณค่าและไม่คิดแก้ปัญหา ขยะก็จะกลายเป็นขยะสมชื่อ ซึ่งดูแล้วไม่ใช่กับ 2 ชุมชนนี้ที่เลือกจะแก้ไข มีการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นเงิน แปลงเป็นประโยชน์  และเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ทุกคนหันมาแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจัง ดังนั้นขยะจะมีค่าหรือไร้ค่า จึงอยู่ที่ว่าใครเป็นคนมอง รวมไปถึงการสร้างพฤติกรรมเพื่อลดการเกิดขยะก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อชุมชนน่าอยู่ของเรา มาช่วยกันคนละไม้คนละมือไปด้วยกันนะคะ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ